คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13391/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.พ.พ. มาตรา 326 บัญญัติเกี่ยวกับการชำระหนี้ว่า ผู้ชำระหนี้ชอบที่จะได้รับใบเสร็จเป็นสำคัญจากผู้รับชำระหนี้ และเมื่อพิเคราะห์ตามปกติประเพณีในการชำระหนี้ ลูกหนี้ย่อมยึดถือใบเสร็จรับเงินที่ได้รับจากเจ้าหนี้เป็นหลักฐานว่าหนี้นั้นระงับสิ้นไป การกำหนดข้อสัญญาให้ต้องมีใบเสร็จรับเงินเป็นหลักฐานในการชำระเงินจึงสอดคล้องกับความในมาตรา 326 ดังกล่าว และหลักปฏิบัติในการชำระหนี้โดยทั่วไป ประกอบกับมีข้อพิจารณาว่า การชำระค่าเช่าซื้อในคดีนี้คู่สัญญาตกลงให้ชำระด้วยเช็ค จึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 321 วรรคท้าย ที่กำหนดว่าถ้าชำระหนี้ด้วยออกตั๋วเงิน หนี้จะระงับสิ้นไปต่อเมื่อตั๋วเงินนั้นได้ใช้เงินแล้ว ซึ่งตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 6 มีข้อความต่อไปอีกว่า หากชำระด้วยเช็ค ใบรับเช็คไม่ถือว่าเป็นใบเสร็จรับเงิน ข้อสัญญาโดยรวมจึงมุ่งหมายให้มีการชำระเงินค่าเช่าซื้อแก่โจทก์โดยต้องมีใบเสร็จรับเงินที่โจทก์ออกให้เป็นหลักฐานในการรับชำระ ซึ่งเป็นธรรมต่อคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายและชอบด้วยบทบัญญัติว่าด้วยการชำระหนี้แล้ว จึงมิได้เป็นข้อสัญญาอันไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์ในสำนวนแรกซึ่งเป็นจำเลยในสำนวนที่สองว่าโจทก์ เรียกจำเลยที่ 1 ในสำนวนแรกซึ่งเป็นโจทก์ในสำนวนที่สองว่าจำเลยที่ 1 และเรียกจำเลยที่ 2 ในสำนวนแรกว่าจำเลยที่ 2
สำนวนแรกโจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา 278,038.32 บาท และให้ร่วมกันชำระค่าใช้รถ 300,000 บาท และค่าใช้รถอัตราเดือนละ 30,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบรถคืนหรือชำระเสร็จแก่โจทก์ กับชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม 19,462.68 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวน นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
สำนวนที่สอง เดิมจำเลยที่ 1 ฟ้องเป็นคดีผู้บริโภค ต่อมาประธานศาลอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยว่า คดีของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นคดีผู้บริโภค ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีและรับฟ้องเป็นคดีสามัญ จำเลยที่ 1 ฟ้องขอให้บังคับโจทก์จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถที่เช่าซื้อให้แก่จำเลยที่ 1 หากโจทก์ไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของโจทก์ ให้โจทก์ชำระค่าภาษี ค่าอากรแสตมป์และค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนเป็นเงิน 5,000 บาท พร้อมทั้งส่งมอบสมุดคู่มือจดทะเบียนรถให้แก่จำเลยที่ 1
โจทก์ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถขุดตีนตะขาบที่เช่าซื้อคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา 278,038.32 บาท ให้ร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์ 300,000 บาท และค่าขาดประโยชน์เดือนละ 30,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 28 กันยายน 2552) เป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนหรือใช้ราคาแทน กับให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ยกฟ้องของจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า หากจำเลยทั้งสองคืนรถขุดดินตีนตะขาบที่เช่าซื้อไม่ได้ให้ใช้ราคา 224,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยคู่ความไม่ได้โต้แย้งว่า เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2548 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถขุดตีนตะขาบ ยี่ห้อแคทเทอร์พิลลาร์ รุ่น 320 ซี หมายเลขเครื่องยนต์ 7 เจเค 74050 หมายเลขตัวรถ ซีเอที 0320 ซีซีเอเอ็มซี 03631 ไปจากโจทก์ ในราคา 3,614,498.16 บาท ซึ่งยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ตกลงชำระค่าเช่าซื้องวดละ 92,679.44 บาท พร้อมภาษีมูลค่าเพิ่มรวมเป็นเงินงวดละ 99,167 บาท รวม 39 งวด เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 9 ตุลาคม 2548 งวดถัดไปชำระภายในวันที่ 9 ของทุกเดือน โดยมีจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ในการนี้จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาถนนประดิพัทธ์ จำนวนเงินฉบับละ 99,167 บาท ลงวันที่ล่วงหน้าตามกำหนดชำระค่าเช่าซื้อแต่ละงวด รวม 39 ฉบับ มอบให้โจทก์เพื่อชำระค่าเช่าซื้อ เช็คที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายดังกล่าวถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน 6 ฉบับ เป็นเช็คชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 7 ถึงงวดที่ 10 ลงวันที่ 9 เมษายน 2549 วันที่ 9 พฤษภาคม 2549 วันที่ 9 มิถุนายน 2549 วันที่ 9 กรกฎาคม 2549 และเช็คชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 12 และงวดที่ 13 ลงวันที่ 9 กันยายน 2549 และวันที่ 9 ตุลาคม 2549 โจทก์ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 กรณีเช็คชำระค่าเช่าซื้อลงวันที่ 9 กันยายน 2549 และวันที่ 9 ตุลาคม 2549 ถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ต่อมาโจทก์ขอถอนฟ้องคดีอาญาดังกล่าว
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อแรกว่า จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้วหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า เช็ค 6 ฉบับ ที่ถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินนั้น เช็คค่าเช่าซื้องวดที่ 7 งวดที่ 8 และงวดที่ 10 จำเลยที่ 1 โอนเงินชำระค่าเช่าซื้อ ค่าปรับและภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว โจทก์ไม่ได้ดำเนินคดีอาญาสำหรับเช็คค่าเช่าซื้องวดที่ 7 ถึงงวดที่ 10 และคืนเช็คทั้งสี่ฉบับแก่จำเลยที่ 1 เพราะมีการชำระหนี้ในส่วนนี้แล้ว ซึ่งได้มีการนำเงินที่เรียกเก็บจากเช็คค่าเช่าซื้องวดที่ 11 มาชำระแทน ส่วนเช็คค่าเช่าซื้องวดที่ 12 และงวดที่ 13 ที่โจทก์ดำเนินคดีอาญา ต่อมาโจทก์ได้ขอถอนฟ้องโดยให้เหตุผลว่า โจทก์ได้รับชำระหนี้ตามเช็คทั้งสองฉบับครบถ้วนแล้ว ที่โจทก์อ้างว่า นำเงินที่เรียกเก็บจากเช็คค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระให้โจทก์ในงวดถัดไปมาชำระหนี้แทนเช็คที่ไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้ขัดต่อเหตุผล จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ค่าเช่าซื้อโดยสิ้นเชิงแล้ว จึงได้รับเช็คซึ่งเป็นเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้คืนมา การกำหนดเงื่อนไขในสัญญาเช่าซื้อข้อ 6 ว่า หลักฐานการชำระเงินต้องมีใบเสร็จรับเงินของผู้ให้เช่าซื้อเท่านั้น เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม หากมีการเวนคืนเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้ก็ถือว่ามีการชำระหนี้แล้ว มิใช่จะต้องมีใบเสร็จรับเงินเพียงอย่างเดียว นั้น เห็นว่า ในส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าเงื่อนไขในสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 6 ที่ว่า พยานหลักฐานการชำระเงินต้องมีใบเสร็จรับเงินของผู้ให้เช่าซื้อเท่านั้น จึงจะถือว่ามีการชำระเงินกันจริง เป็นสัญญาสำเร็จรูปที่กำหนดให้โจทก์ได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควร เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมนั้น แม้ปัญหาข้อนี้ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสองก็ตามแต่เมื่อเป็นปัญหาที่ต้องพิจารณาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 จึงเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงรับวินิจฉัย การที่จำเลยที่ 1 อ้างว่า สัญญาเช่าซื้อข้อ 6 ที่กำหนดให้ต้องมีใบเสร็จรับเงินของโจทก์ จึงจะถือว่ามีการชำระเงินกันจริง เป็นการให้เปรียบโจทก์เกินสมควร และขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 326 นั้น จำเลยที่ 1 หาได้มีเหตุผลสนับสนุนไม่ ตามมาตรา 326 ดังกล่าวบัญญัติเกี่ยวกับการชำระหนี้ว่า ผู้ชำระหนี้ชอบที่จะได้รับใบเสร็จเป็นสำคัญจากผู้รับชำระหนี้ และเมื่อพิเคราะห์ตามปกติประเพณีในการชำระหนี้ ลูกหนี้ย่อมยึดถือใบเสร็จรับเงินที่ได้รับจากเจ้าหนี้เป็นหลักฐานว่าหนี้นั้นระงับสิ้นไป การกำหนดข้อสัญญาให้ต้องมีใบเสร็จรับเงินเป็นหลักฐานในการชำระเงินจึงสอดคล้องกับความในมาตรา 326 ดังกล่าวและหลักปฏิบัติในการชำระหนี้โดยทั่วไปประกอบกับมีข้อพิจารณาว่า การชำระค่าเช่าซื้อในคดีนี้คู่สัญญาตกลงให้ชำระด้วยเช็คจึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 321 วรรคท้าย ที่กำหนดว่าถ้าชำระหนี้ด้วยออกตั๋วเงิน หนี้จะระงับสิ้นไปต่อเมื่อตั๋วเงินนั้นได้ใช้เงินแล้ว ซึ่งตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 6 มีข้อความต่อไปอีกว่า หากชำระด้วยเช็ค ใบรับเช็คไม่ถือว่าเป็นใบเสร็จรับเงิน ข้อสัญญาโดยรวมจึงมุ่งหมายให้มีการชำระเงินค่าเช่าซื้อแก่โจทก์โดยต้องมีใบเสร็จรับเงินที่โจทก์ออกให้เป็นหลักฐานในการรับชำระ ซึ่งเป็นธรรมต่อคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายและชอบด้วยบทบัญญัติว่าด้วยการชำระหนี้แล้ว จึงมิได้เป็นข้อสัญญาอันไม่เป็นธรรมดังที่จำเลยที่ 1 ฎีกาแต่อย่างใด
ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ค่าเช่าซื้อโดยสิ้นเชิงแล้ว โจทก์จึงคืนเช็คที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินและถอนฟ้องคดีอาญา ในข้อนี้โจทก์นำสืบถึงการชำระค่าเช่าซื้อรายงวดของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีการชำระหนี้ล่าช้า เนื่องจากเช็คค่าเช่าซื้องวดที่ 7 ถึงงวดที่ 10 งวดที่ 12 และงวดที่ 13 ไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้ โดยได้ความว่าเมื่อเช็คค่าเช่าซื้องวดที่ 7 ถึงงวดที่ 10 ถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินสดและค่าปรับสำหรับงวดที่ 7 และงวดที่ 8 ส่วนงวดที่ 9 โจทก์นำเงินที่เรียกเก็บตามเช็คค่าเช่าซื้องวดที่ 11 มาชำระแทน สำหรับงวดที่ 10 จำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินสดและค่าปรับ ส่วนเช็คค่าเช่าซื้องวดที่ 12 และงวดที่ 13 ที่ถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินและโจทก์ไปฟ้องเป็นคดีอาญา ต่อมาโจทก์นำเงินที่เรียกเก็บตามเช็คค่าเช่าซื้องวดที่ 14 และงวดที่ 15 มาชำระแทน เช็คในงวดถัดๆ ไป ก็จะถูกนำมาชำระค่าเช่าซื้องวดที่ค้างชำระก่อนเป็นลำดับไปจนถึงงวดสุดท้าย โดยโจทก์ระบุหมายเลขเช็คและงวดที่ชำระไว้ตามใบเสร็จรับเงินแต่ละฉบับ เมื่อเรียกเก็บเงินตามเช็คจนถึงงวดสุดท้ายแล้วจำเลยที่ 1 ยังค้างชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 37 ถึงงวดที่ 39 เป็นเงิน 278,038.32 บาท จำเลยที่ 1 ก็ยอมรับข้อเท็จจริงว่ามีเช็คที่ถูกปฏิเสธการจ่ายเงิน 6 ฉบับ และจำเลยที่ 1 ได้โอนเงินชำระให้แก่โจทก์ โดยสำเนาใบคำขอโอนเงินและใบเสร็จรับเงินที่จำเลยที่ 1 อ้างสอดคล้องกับใบเสร็จรับเงิน ฉบับวันที่ 19 มิถุนายน 2549 และวันที่ 12 กันยายน 2549 ซึ่งโจทก์นำเงินที่ได้รับมาชำระค่าเช่าซื้อและค่าปรับงวดที่ 8 และงวดที่ 10 แต่ในส่วนที่จำเลยที่ 1 อ้างว่ามีการชำระเงินแก่โจทก์ตามใบเสร็จรับเงินลงวันที่ 21/09/2005 พร้อมค่าใช้จ่ายทางกฎหมาย 50,000 บาท ด้วยนั้น วันที่ระบุในใบเสร็จรับเงินฉบับดังกล่าวเป็นวันเดียวกับวันทำสัญญาเช่าซื้อ จึงมิได้เกี่ยวข้องกับการชำระค่าเช่าซื้อตามเช็คที่ไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้ในช่วงปี 2549 แต่อย่างใด จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อล่าช้ากว่ากำหนดตามสัญญาในช่วงที่เช็คค่าเช่าซื้องวดที่ 7 ถึงงวดที่ 10 ไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้เป็นต้นมา เมื่อโจทก์เรียกเก็บเงินตามเช็คค่าเช่าซื้อในงวดถัดๆ ไปนำมาชำระแทนตามที่ระบุไว้ในใบเสร็จรับเงิน จำเลยที่ 1 ไม่เคยโต้แย้งใบเสร็จรับเงินที่โจทก์ระบุการชำระด้วยเช็คที่ล่าช้ากว่างวดที่ต้องชำระ นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ไม่ได้มีหลักฐานการชำระเงินมาหักล้างใบเสร็จรับเงินของโจทก์เป็นอย่างอื่นตามใบเสร็จรับเงินฉบับวันที่ 9 พฤศจิกายน 2549 ที่ระบุการชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 11 ซึ่งถึงกำหนดชำระวันที่ 9 สิงหาคม 2549 จนถึงใบเสร็จรับเงินฉบับที่ 9 ธันวาคม 2551 ที่ระบุการชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 36 ซึ่งถึงกำหนดชำระวันที่ 9 กันยายน 2551 แสดงว่า จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อล่าช้ากว่ากำหนด 3 งวด ตลอดมา ส่วนที่โจทก์ถอนฟ้องคดีอาญานั้น น่าเชื่อว่าเป็นไปตามที่นางสาวมาศสุวัณณ์ พยานโจทก์ตอบคำถามค้านทนายจำเลยที่ 1 ว่า นายคณิต กรรมการโจทก์เป็นผู้สั่งให้ถอนฟ้อง โดยแจ้งว่า อยู่ระหว่างเจรจากับจำเลยที่ 1 และสามารถนำเช็คฉบับหลังไปตัดยอดหนี้ได้อยู่แล้ว หนี้ตามเช็คที่โจทก์นำไปดำเนินคดีอาญาจึงมีการชำระด้วยเงินที่เรียกเก็บตามเช็คฉบับถัดไปแล้ว มิใช่จำเลยที่ 1 ชำระเงินต่างหากให้แก่โจทก์ การที่จำเลยที่ 1 ได้รับเช็คทั้งสี่ฉบับคืนมา หรือการที่โจทก์ถอนฟ้องคดีอาญา แสดงได้แต่เพียงว่า มีการชำระหนี้ในส่วนของเช็คฉบับนั้นๆ แล้ว ส่วนหนี้ค่าเช่าซื้องวดที่ 37 ถึงงวดที่ 39 เป็นเงิน 278,038.32 บาท ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ชำระให้แก่โจทก์ เช่นนี้ จำเลยที่ 1 จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อและจำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจฟ้องให้โจทก์จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถที่เช่าซื้อให้แก่จำเลยที่ 1 ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมา จึงชอบด้วยเหตุผลแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยในข้อต่อไปว่า ค่าเสียหายที่ศาลอุทธรณ์กำหนดเป็นจำนวนที่เหมาะสมแล้วหรือไม่ ในส่วนของราคารถใช้แทน จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า รถขุดตีนตะขาบมีราคาที่แท้จริงประมาณ 2,906,100 บาท จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อไปแล้ว 3,355,867 บาท ซึ่งเกินกว่าราคาที่แท้จริงรวมทั้งดอกเบี้ยและภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว โจทก์จึงไม่ได้รับความเสียหาย เห็นว่า ค่าเช่าซื้อเป็นราคารถที่โจทก์ลงทุนไปรวมกับผลประโยชน์หรือดอกเบี้ยที่โจทก์คำนวณไว้ล่วงหน้าตามระยะเวลาการผ่อนชำระ 39 งวด แต่จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อมา 36 งวด ยังขาดอีก 3 งวด แม้โจทก์จะได้รับเงินลงทุนคืนเป็นส่วนใหญ่แล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่ครบจำนวน เมื่อคิดสัดส่วนค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ผ่อนชำระแล้ว 36 งวด กับค่าเช่าซื้อที่ต้องชำระทั้งหมด 39 งวด เท่ากับมีการผ่อนชำระแล้ว ร้อยละ 92.31 ยังเหลืออีกร้อยละ 7.69 จำเลยที่ 1 ยอมรับว่ารถขุดตีนตะขาบมีราคาที่แท้จริงประมาณ 2,906,100 บาท ตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดราคารถใช้แทน 224,000 บาท จึงเหมาะสมแล้ว สำหรับค่าขาดประโยชน์ จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าค่าเช่าซื้อส่วนที่เหลือมีเพียง 278,038.32 บาท ค่าเสียหายเดือนละ 30,000 บาท เป็นจำนวนเงินที่สูงมาก และศาลไม่ได้กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดในการคิดค่าเสียหายทำให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดสูงกว่ายอดเงินที่จะต้องชำระค่าเช่าซื้อเป็นจำนวนมาก เห็นว่าที่ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระค่าขาดประโยชน์เดือนละ 30,000 บาท นั้น หากจำเลยทั้งสองต้องรับผิดในค่าขาดประโยชน์ก่อนวันฟ้อง เป็นเวลา 10 เดือน เป็นเงิน 300,000 บาท และค่าขาดประโยชน์นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนโดยไม่จำกัดระยะเวลา นับว่าเป็นค่าเสียหายที่สูงเกินไป โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาว่า โจทก์ได้รับค่าเช่าซื้อแล้วเป็นส่วนใหญ่ คงเหลือค่าเช่าซื้อที่ค้างเพียง 3 งวด และโจทก์ยังมีสิทธิได้รับราคารถใช้แทนอีกส่วนหนึ่งด้วย การกำหนดค่าขาดประโยชน์ของโจทก์ในกรณีเช่นนี้ควรคำนึงถึงความเสียหายที่โจทก์ไม่ได้รับค่าเช่าซื้อส่วนที่เหลือ อันเป็นทางได้เสียโดยชอบของโจทก์ จึงเห็นควรกำหนดค่าขาดประโยชน์เพียงเดือนละ 10,000 บาท คิดเป็นค่าขาดประโยชน์ก่อนวันฟ้อง 100,000 บาท และกำหนดค่าขาดประโยชน์นับถัดจากวันฟ้องโดยจำกัดเพียง 5 เดือน ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน และกรณีเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วม จึงให้คำพิพากษามีผลถึงจำเลยที่ 2 ซึ่งมิได้ฎีกาด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 247
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าขาดประโยชน์ 100,000 บาท และค่าขาดประโยชน์อัตราเดือนละ 10,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ แต่ให้ไม่เกิน 5 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share