คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2724/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ถึงแม้โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 จะเป็นสามีภริยากัน และโจทก์ที่ 1 มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการยื่นรายการและเสียภาษีตามที่ ป.รัษฎากร มาตรา 57 ตรี แต่การประเมินตาม มาตรา 20 นั้นจะต้องมีการออกหมายเรียกผู้ถูกประเมินมาทำการไต่สวนก่อนตามมาตรา 19การที่เจ้าพนักงานประเมินออกหมายเรียกโจทก์ที่ 1 มาไต่สวนเพียงผู้เดียว จะถือเป็นการออกหมายเรียกโจทก์ที่ 2 ด้วยไม่ได้ดังนี้เจ้าพนักงานประเมินไม่มีอำนาจประเมินให้โจทก์ที่ 2 ชำระภาษีเพิ่ม การประเมินโดยอาศัยอำนาจตาม ป.รัษฎากร มาตรา 20 และมาตรา 49จะต้องเป็นกรณีที่ผู้ถูกประเมินมีเงินได้พึงประเมินเกินกว่าที่ได้ยื่นรายการไว้ เมื่อโจทก์ที่ 1 และภริยามิได้มีรายได้เพิ่มขึ้นตามจำนวนในแต่ละปีภาษีที่เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยอ้างจึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ที่ 1 ยื่นรายการเงินได้ต่ำกว่าจำนวนที่ควรต้องยื่น ดังนี้ เจ้าพนักงานของจำเลยจึงไม่อาจประเมินเรียกเก็บภาษีเพิ่มโดยอาศัยเหตุดังกล่าว.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยได้มีหนังสือแจ้งการประเมินให้โจกท์ไปชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับปีภาษี2516-2518 รวมเป็นเงินค่าภาษีและเงินเพิ่ม 10,963,723.99 บาทโจทก์เห็นว่าไม่มีหน้าที่ต้องเสียเงินค่าภาษีตามหนังสือแจ้งการประเมินดังกล่าว จึงได้อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ซึ่งต่อมาคณะกรรมการดังกล่าวได้วินิจฉัยยกอุทธรณ์ของโจทก์และโจทก์เห็นว่าคำวินิจฉัยดังกล่าวไม่ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานของจำเลยและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ หากศาลเห็นว่าการประเมินของเจ้าพนักงานและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ศาลพิพากษางดการเรียกเก็บเงินเพิ่มแก่โจทก์ด้วย
จำเลยให้การว่า มีเหตุให้น่าเชื่อว่าโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นสามีภริยากันมีเงินได้มากกว่าที่โจทก์ได้สำแดงไว้ในแบบแจ้งการเสียภาษีสำหรับปีภาษี 2516-2518 เจ้าพนักงานประเมินจึงได้ขออนุมัติอธิบดีกรมสรรพากร เพื่อทำการประเมินโดยอาศัยอำนาจตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา 49 และเมื่อได้รับอนุมัติแล้วเจ้าพนักงานประเมินก็ทำการตรวจสอบตามวิธีการตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ผลปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองมีเงินได้สุทธิหลังจากที่ได้หักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนตามประมวลรัษฎากรแล้วดังนี้คือ ปีภาษี 2516 เป็นเงิน 6,932,960.17 บาท ปีภาษี 2517เป็นเงิน 6,908,092.72 บาท และปีภาษี 2518 เป็นเงิน2,306,771.00 บาท เจ้าพนักงานประเมินได้คำนวณให้โจทก์ทั้งสองเสียภาษี และเงินเพิ่มตามกฎหมาย เมื่อได้ยอดภาษีที่ต้องชำระแล้วก็จะนำเงินค่าภาษีที่โจทก์ทั้งสองได้ชำระไว้แล้วหักออก เหลือยอดเงินจำนวนเท่าใดก็แจ้งไปยังโจทก์ทั้งสอง โจทก์ที่ 2 เป็นภริยาของโจทก์ที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดในหนี้ภาษีอากรที่ค้างชำระด้วยตามประมวลรัษฎากร มาตรา 57 ตรี การประเมินของเจ้าพนักงานและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้เอกสารหมาย จ. 24, 26 นั้น เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินภาษีเงินได้ทั้งโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 เห็นสมควรวินิจฉัยสำหรับกรณีของโจทก์ที่ 2 ก่อน การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินนั้นได้ประเมินตามประมวลรัษฏากรมาตรา 20 ข้อเท็จจริงตามที่จำเลยนำสืบมาฟังได้เป็นยุติว่า เจ้าพนักงานประเมินได้ออกหมายเรียกเพื่อไต่สวนเฉพาะโจทก์ที่ 1 เท่านั้น มิได้ออกหมายเรียกโจทก์ที่ 2 มาไต่สวนด้วย การประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 20นั้น จะต้องมีการออกหมายเรียกผู้ถูกประเมินมาทำการไต่สวนก่อนตามมาตรา 19 การที่เจ้าพนักงานประเมินออกหมายเรียกโจทก์ที่ 1มาไต่สวนเพียงผู้เดียว ถึงแม้โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 จะเป็นสามีภริยากันอยู่ และโจทก์ที่ 1 มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการยื่นรายการและเสียภาษีตามที่ประมวลรัษฎากร มาตรา 57 ตรี กำหนดไว้ก็ตาม แต่ก็เป็นคนละกรณีกันกับการแจ้งประเมินสำหรับโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นความรับผิดเฉพาะตัวของโจทก์ที่ 2 จึงถือเอาการออกหมายเรียกโจทก์ที่ 1 มาไต่สวนนั้นเป็นการออกหมายเรียกโจทก์ที่ 2 ด้วยไม่ได้ทั้งนี้เพราะคนที่จะชี้แจงที่มาของรายได้ว่าได้มาโดยทางใดจะเป็นเงินได้พึงประเมินหรือไม่นั้น ผู้ที่ได้รับรายได้นั้นมาเท่านั้นที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงและชี้แจงได้ถูกต้องที่สุดว่าได้มาอย่างไร บทบัญญัติในประมวลรัษฎากร มาตรา 20 จึงหมายถึงว่าการแจ้งประเมินผู้ใดได้จะต้องมีหมายเรียกตัวผู้นั้นมาไต่สวนก่อน ในเมื่อเจ้าพนักงานประเมินมิได้ดำเนินการให้ถูกต้องตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดสำหรับกรณีของโจทก์ที่ 2 เช่นนี้ อำนาจในการประเมินให้โจทก์ที่ 2 ชำระภาษีเพิ่มของเจ้าพนักงานประเมินจึงไม่มี การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์สำหรับกรณีของโจทก์ที่ 2 จึงไม่เป็นการถูกต้องตามที่ประมวลรัษฎากรมาตรา 20 กำหนดไว้ให้ปฏิบัติ ชอบที่จะต้องเพิกถอน…
สำหรับกรณีของโจทก์ที่ 1 นั้น… เมื่อเจ้าพนักงานประเมินเห็นว่าโจทก์ที่ 1 มีเงินได้เพิ่มขึ้นจึงได้ทำการประเมินโดยอาศัยอำนาจตามประมวลรัษฎากร มาตรา 20 และอาศัยอำนาจตามมาตรา 49กำหนดเงินได้สุทธิ ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จะประเมินโดยอาศัยอำนาจตามบทกฎหมายดังกล่าวนั้น ข้อเท็จจริงจะต้องเป็นที่ยุติเสียก่อนว่าผู้ถูกประเมินมีเงินได้พึงประเมินเกินกว่าที่ได้ยื่นรายการไว้ ในกรณีของโจทก์ที่ 1 นั้น ข้อเท็จจริงที่โจทก์ที่ 1 และจำเลยนำสืบโต้แย้งกันคือ โจทก์ที่ 1 มีรายได้เพิ่มขึ้นในปีที่แจ้งประเมินหรือไม่ ซึ่งศาลฎีกาจะได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงในส่วนนี้ต่อไป…ในเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเงินที่โจทก์ให้บริษัททองไทยการทอ จำกัดกู้ยืม และเงินที่ซื้อหุ้นเพิ่มเป็นเงินของโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2ซึ่งมีมาแต่เดิม และเป็นเงินที่โจทก์หยิบยืมจากบุคคลอื่นในบางส่วนเช่นนี้แล้ว จำนวนเงินที่ปรากฏในการให้กู้ยืมและที่ซื้อหุ้นเพิ่มจึงมิใช่รายได้ของโจทก์ที่ 1 ที่เพิ่มขึ้นในปีที่ให้กู้ยืมหรือปีที่ซื้อหุ้น เมื่อพิจารณาถึงฐานะของโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2ซึ่งเป็นภริยาที่มีมาแต่เดิมก่อนปีที่มีการแจ้งประเมินแล้วเห็นได้ว่า โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นภริยามีทรัพย์สินอยู่เกินกว่าที่เจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 ตรวจพบ การที่เจ้าพนักงานประเมินตรวจพบทรัพย์สินของบุคคลใดในปีใดแล้วถือเอาว่าเป็นเงินได้พึงประเมินที่จะต้องนำมาเสียภาษีนั้นไม่มีบทกฎหมายใดให้ถือเช่นนั้นได้ นอกจากจะมีข้อเท็จจริงให้เห็นได้เช่นนั้น เพราะเงินได้พึงประเมินบางอย่างก็ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ในเมื่อพยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบมาก็ไม่ปรากฏให้เห็นว่าเป็นรายได้มาจากการใดอยู่ในลักษณะที่เป็นเงินได้พึงประเมินที่จะต้องนำมาเสียภาษีตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ คงถือเอาอย่างเดียวว่าเมื่อตรวจพบทรัพย์สินปีใดเท่าใดก็ถือว่าเป็นเงินได้พึงประเมินของปีนั้นเท่านั้น ข้อเท็จจริงที่โจทก์ที่ 1 นำสืบฟังได้ตามที่วินิจฉัยข้างต้นแล้วว่าจำนวนเงินที่เจ้าพนักงานของจำเลยตรวจพบในแต่ละปีที่แจ้งประเมินนั้น เป็นเงินที่โจทก์ที่ 1 และภริยามีอยู่เดิมและเป็นเงินที่ได้จากการจำหน่ายทรัพย์สินที่มีอยู่เดิมที่มิได้จำหน่ายเพื่อการค้ากำไรเช่นนี้แล้ว จำนวนเงินที่เจ้าพนักงานของจำเลยตรวจพบจึงมิใช่รายได้ที่เพิ่มขึ้น อันจะนำมาเป็นข้อพิจารณาอีกชั้นหนึ่งว่าเป็นเงินได้พึงประเมินหรือไม่ เพราะเมื่อจำนวนเงินดังกล่าวมิใช่รายได้ที่เพิ่มขึ้นเสียแล้ว โจทก์ที่ 1ก็ไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องระบุในแบบรายการเพื่อเสียภาษีเพราะไม่มีบทกฎหมายในเรื่องนี้กำหนดว่าในการยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีนั้นผู้ยื่นแบบจะต้องระบุรายการว่าตนมีทรัพย์สินอยู่ทั้งหมดเท่าใด เพราะราษฎรธรรมดาจะมีทรัพย์สินอยู่มากน้อยเพียงใดนั้นไม่มีบทกฎหมายกำหนดให้แสดงต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ที่ 1 และภริยามิได้มีรายได้เพิ่มขึ้นตามจำนวนในแต่ละปีภาษีที่เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยอ้าง จึงยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์ที่ 1 ยื่นรายการเงินได้ต่ำกว่าจำนวนที่ควรต้องยื่นเจ้าพนักงานของจำเลยจึงไม่อาจประเมินเรียกเก็บภาษีเพิ่มโดยอาศัยเหตุดังกล่าวได้ ดังนั้นการแจ้งประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เกี่ยวกับโจทก์ที่ 1จึงเป็นการมิชอบในเมื่อการประเมินไม่ชอบเสียแล้วก็ไม่มีเหตุที่จะต้องพิจารณาอุทธรณ์ข้ออื่นอีก…”
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์.

Share