คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6965/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 บัญญัติว่า “ผู้ใดนำหรือพาของที่ยังมิได้เสียค่าภาษี… หรือที่ยังมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้อง เข้ามาในพระราชอาณาจักรไทย… หรือช่วยเหลือด้วยประการใด ๆ ในการนำของเช่นว่านี้เข้ามา… โดยเจตนาจะฉ้อค่าภาษีของรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่จะต้องเสียสำหรับของนั้น ๆ … ให้ปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือจำคุกไม่เกินสิบปี หรือทั้งปรับทั้งจำ” เห็นได้ว่า กฎหมายมีวัตถุประสงค์จะลงโทษผู้ที่นำของที่ยังมิได้เสียภาษี เข้ามาในราชอาณาจักร หรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรโดยมีเจตนาที่จะฉ้อค่าภาษีรัฐบาล และกฎหมายกำหนดให้ผู้ที่ช่วยเหลือผู้กระทำผิดดังกล่าวไม่ว่าด้วยประการใด ๆ ต้องร่วมรับผิดด้วยเพราะเป็นการกระทำความผิดร้ายแรง
ส่วนมาตรา 27 ทวิ บัญญัติว่า “ผู้ใดช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใด ซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร ข้อห้ามหรือข้อจำกัดมีความผิดต้องระวางโทษปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือจำคุกไม่เกินห้าปี หรือทั้งปรับทั้งจำ ” การกระทำความผิดตามมาตรานี้ จึงเกิดขึ้นหลังจากมีการนำของเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร ข้อห้ามหรือข้อจำกัดตามมาตรา 27 แล้ว โดยกฎหมายมีวัตถุประสงค์ที่จะลงโทษผู้ที่ช่วยเหลือผู้กระทำความผิดตามมาตรา 27 ดังกล่าวโดยการซ่อนเร้น จำหน่าย พาเอาไป ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใด จึงกำหนดโทษจำคุกน้อยกว่า
โจทก์บรรยายฟ้องในคดีนี้ว่า จำเลยทั้งสามร่วมกัน ซื้อ หรือรับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใด ๆ ซึ่งน้ำมันเตาที่มีแหล่งกำเนิดอยู่นอกราชอาณาจักรไทย โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นของที่ลักลอบมิได้ผ่านศุลกากร และยังมิได้เสียภาษี โดยมิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสามช่วยเหลือในการนำของดังกล่าวเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 27 และโจทก์มีคำขอให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 27 ทวิ ซึ่งตรงกับคำบรรยายฟ้องแล้ว การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 จึงเป็นการพิพากษาจำเลยทั้งสามในความผิดที่โจทก์มิได้ฟ้องและมีคำขอให้ลงโทษ จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ, 32 พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 มาตรา 191, 196 พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 มาตรา 4, 6, 162, 168 พระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91 พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2498 (ที่ถูก พ.ศ.2489) มาตรา 4, 5, 6, 7, 8, 9 ริบเรือและน้ำมันเตาของกลาง จ่ายเงินสินบนแก่ผู้นำจับและจ่ายเงินรางวัลแก่พนักงานเจ้าหน้าที่
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 มาตรา 161 (1) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ให้ปรับจำเลยทั้งสามรวม 1,640,600 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยให้กักขังแทนค่าปรับรวมกันเกิน 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี และแบ่งการกักขังจำเลยทั้งสามแทนค่าปรับคนละไม่เกิน 8 เดือน ริบเรือและน้ำมันเตาของกลาง ข้อหาและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 อีกฐานหนึ่ง การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปรับจำเลยทั้งสามรวมเป็นเงิน 13,984,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ในกรณีกักขังแทนค่าปรับให้กักขังเป็นระยะเวลาเกินกว่า 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี จ่ายเงินสินบนร้อยละสามสิบ และจ่าย เงินรางวัลร้อยละยี่สิบห้าของราคาน้ำมันเตาของกลาง ตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 7 และ 8 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาว่าจำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 อีกฐานหนึ่ง การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 นั้นถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำเลยทั้งสามฎีกาว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องว่า ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ และมาตรา 32 พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 มาตรา 191, 196, พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 มาตรา 4, 6, 162, 168 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 ริบเรือและน้ำมันเตาของกลาง ให้จำเลยทั้งสามจ่ายเงินสินบนแก่ผู้นำจับและจ่ายเงินรางวัลแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 4, 5, 6, 7, 8 และ 9 โจทก์มิได้ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ดังกล่าว จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอของโจทก์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสี่ พิเคราะห์แล้ว พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 บัญญัติว่า ” ผู้ใดนำหรือพาของที่ยังมิได้เสียค่าภาษี หรือของต้องจำกัด หรือของต้องห้าม หรือที่ยังมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้อง เข้ามาในพระราชอาณาจักรไทยก็ดี หรือส่งหรือพาของเช่นว่านี้ออกไปนอกพระราชอาณาจักรก็ดี หรือช่วยเหลือด้วยประการใด ๆ ในการนำของเช่นว่านี้เข้ามาหรือส่งออกไปก็ดี หรือย้ายถอนไป หรือช่วยเหลือให้ย้ายถอนไปซึ่งของดังกล่าวนั้น จากเรือกำปัน ท่าเทียบเรือ โรงเก็บสินค้า คลังสินค้า ที่มั่นคง หรือโรงเก็บของ โดยไม่ได้รับอนุญาตก็ดี หรือให้ที่อาศัยเก็บ หรือเก็บ หรือซ่อนของเช่นว่านี้ หรือยอม หรือจัดให้ผู้อื่นทำการเช่นว่านั้นก็ดี หรือเกี่ยวข้องด้วยประการใด ๆ ในการขนหรือย้ายถอนหรือกระทำอย่างใดแก่ของเช่นว่านั้นก็ดี หรือเกี่ยวข้องด้วยประการใด ๆ ในการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียค่าภาษีศุลกากร หรือในการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงบทกฎหมายและข้อจำกัดใด ๆ อันเกี่ยวแก่การนำของเข้า ส่งของออก ขนของขึ้น เก็บของในคลังสินค้า และการส่งมอบของโดยเจตนาจะฉ้อค่าภาษีของรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่จะต้องเสียสำหรับของนั้น ๆ ก็ดี หรือหลีกเลี่ยงข้อห้ามหรือข้อจำกัดอันเกี่ยวแก่ของนั้นก็ดี สำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ ให้ปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือจำคุกไม่เกินสิบปี หรือทั้งปรับทั้งจำ” จึงเห็นได้ว่า กฎหมายมีวัตถุประสงค์จะลงโทษผู้ที่นำของที่ยังมิได้เสียภาษี ของต้องห้ามหรือของที่ต้องจำกัด เข้ามาในราชอาณาจักร หรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรโดยมีเจตนาที่จะฉ้อค่าภาษีรัฐบาล โดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายศุลกากร และกฎหมายกำหนดให้ผู้ที่ช่วยเหลือผู้กระทำผิดดังกล่าวไม่ว่าด้วยประการใด ๆ ในการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรต้องร่วมรับผิดด้วยเพราะเป็นการกระทำความผิดร้ายแรง ส่วนพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ บัญญัติว่า ” ผู้ใดช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใด ซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร ข้อห้ามหรือข้อจำกัดมีความผิดต้องระวางโทษปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือจำคุกไม่เกินห้าปี หรือทั้งปรับทั้งจำ ” การกระทำความผิดตามมาตรานี้ จึงเกิดขึ้นหลังจากมีการนำของเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร ข้อห้ามหรือข้อจำกัดตามมาตรา 27 แล้ว โดยกฎหมายมีวัตถุประสงค์ที่จะลงโทษผู้ที่ช่วยเหลือผู้กระทำความผิดตามมาตรา 27 ดังกล่าวโดยการซ่อนเร้น จำหน่าย พาเอาไป ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใด จึงกำหนดโทษจำคุกน้อยกว่า โจทก์บรรยายฟ้องในคดีนี้ว่า จำเลยทั้งสามร่วมกัน ซื้อ หรือรับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใด ๆ ซึ่งน้ำมันเตาตามฟ้อง ซึ่งมีแหล่งกำเนิดอยู่นอกราชอาณาจักรไทย ด้วยการบรรทุกน้ำมันเตาในระวางของเรือ เค.ซี. 1 โดยจำเลยทั้งสามรู้อยู่แล้วว่าน้ำมันเตาดังกล่าวเป็นของที่ลักลอบมิได้ผ่านศุลกากร และยังมิได้เสียภาษี หรือหลีกเลี่ยงอากร ข้อห้าม หรือจำกัดเกี่ยวกับของนั้น โดยมิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยช่วยเหลือในการนำของดังกล่าวเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 27 และโจทก์มีคำขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ ซึ่งตรงกับคำบรรยายฟ้องแล้ว การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 จึงเป็นการพิพากษาจำเลยทั้งสามในความผิดที่โจทก์มิได้ฟ้องและมีคำขอให้ลงโทษ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น เมื่อการกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 เพียงบทเดียว โดยไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 ด้วย ผู้นำจับและพนักงานเจ้าหน้าที่จึงไม่มีสิทธิที่จะได้รับสิบบนและรางวัล ตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำผิด พุทธศักราช 2489 มาตรา 5 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จ่ายเงินสินบนและจ่ายเงินรางวัลให้แก่ผู้นำจับและพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 มาตรา 161 (1) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share