คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2252/2527

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตวัดจำเลยมาแต่เดิม โดยตอนออกโฉนดได้นำรังวัดเข้าไปในที่ดินของวัด แต่ไม่ว่าจะได้ออกโฉนดแสดงว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ในโฉนดมาเป็นเวลานานเท่าใดก็ตาม ก็ไม่ทำให้ผู้มีชื่อในโฉนดได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ออกโฉนดทับที่วัด ที่พิพาทยังคงเป็นของวัด การออกโฉนดทับที่ดินพิพาทมิใช่การกระทำของโจทก์ และมีการโอนกันมาแล้วหลายคน โจทก์ไม่มีโอกาสทราบเรื่องนี้ ทั้งโจทก์ครอบครองที่พิพาทต่อเนื่องมาจากเจ้าของคนก่อนเป็นการครอบครองที่พิพาทโดยสุจริต ทั้งจำเลยไม่ฟ้องทันทีที่โจทก์คัดค้านการรังวัดที่ดินของจำเลย ดังนี้โจทก์ไม่ควรต้องใช้ค่าเสียหายให้จำเลย เว้นแต่โจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ ที่พิพาทตามฟ้องแย้งเป็นของจำเลยที่ 1 ห้ามโจทก์ทั้งสามเข้าเกี่ยวข้อง ให้โจทก์ทั้งสามจัดการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างจากที่พิพาทพร้อมบริวารของโจทก์ทั้งสาม ให้โจทก์ทั้งสามชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 1 เดือนละ 42.50 บาท เป็นเวลา 10 ปี รวมถึงวันฟ้องแย้งเป็นเงิน5,400 บาท และนับแต่วันฟ้องแย้งไปจนกว่าโจทก์ทั้งสามและบริวารจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไป ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า ที่ดินพิพาทตามแผนที่พิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสามห้ามจำเลยทั้งสองคัดค้านการรังวัดแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมของโจทก์ทั้งสามเข้าเกี่ยวข้องในที่พิพาทต่อไป ยกฟ้องแย้ง จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ฟังได้ว่า ที่ดินของโจทก์มีโฉนดแล้วคือโฉนดเลขที่ 2984 เนื้อที่ดิน 3 งาน 60 ตารางวา ตามเอกสารหมาย จ.3 โฉนดดังกล่าวออกเมื่อ พ.ศ. 2459 เป็นโฉนดแบบเก่าแผนที่หลังโฉนดไม่มีระยะแสดงไว้และไม่มีการปักหลักเขต การรังวัดที่ดินตามโฉนดดังกล่าวเพื่อแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมเจ้าพนักงานทำการรังวัดตามที่โจทก์นำชี้และปักหลักเขตไว้ตามแผนที่เอกสารหมาย จ.7 การรังวัดทำแผนที่พิพาทตามเอกสารหมาย จ.8 เจ้าพนักงานรังวัดใช้แผนที่เอกสารหมาย จ.7 ประกอบด้วย ได้รูปแผนที่ตรงกับแผนที่เอกสารหมาย จ.7 คือที่ดินของโจทก์มีอาณาเขตภายในเส้นสีเขียว ที่ดินของจำเลยที่ 1 มีอาณาเขตภายในเส้นสีแดง มีส่วนเส้นสีแดงกับเส้นสีเขียวทับกันอยู่ ส่วนที่ทับกันเป็นที่พิพาทในคดีนี้ เจ้าพนักงานได้ขีดเป็นเส้นสีม่วงแสดงอาณาเขตที่ดินพิพาทให้ชัดเจนขึ้นดังปรากฏตามเอกสารหมาย จ.8 วัดจำเลยทนี่ 1 ตั้งมาประมาณ 170 ปีแล้ว คดีมีปัญหาประการแรกว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์หรือของจำเลยที่ 1 ในปัญหาดังกล่าวโจทก์มีนายแสวงสามีโจทก์ที่ 1 นายคง นายเฉลิมซึ่งต่างก็เป็นบุตรนางแป๊ะมารดาโจทก์ที่ 1 ผู้เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 2984 ตามเอกสารหมาย จ.3 มาก่อนต่างเบิกความว่า ที่ดินตามโฉนดเอกสารหมาย จ.3 ด้านที่ติดกับที่ดินของจำเลยที่ 1 แนวเขตจดถนนอิฐของจำเลยที่ 1 คือที่พิพาทอยู่ในเขตโฉนดของโจทก์และโจทก์ครอบครองตลอดมาโดยให้นายจีนกับนางไล้ใช้ที่ดินพิพาทปลูกบ้านอยู่อาศัย นายจีนกับนางไล้ก็เบิกความสนับสนุนข้ออ้างของโจทก์ดังกล่าว นอกจากนี้โจทก์ยังมีนายทวีศักดิ์เจ้าพนักงานตำแหน่งหัวหน้าสายงานรังวัดผู้มีหน้าที่พิจารณารูปแผนที่กรณีที่มีการคัดค้านเนวเขตที่ดินระหว่างโจทก์จำเลยเบิกความว่า ได้พิจารณารูปแผนที่ที่ช่างรังวัดได้รังวัดมาตามแผนที่เอกสารหมาย จ.7 ดูระวางแผนที่ที่ดินที่ออกโฉนด และตรวจสอบที่ดินแปลงพิพาทแล้ว มีความเห็นว่าโจทก์มีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.10 ซึ่งรูปแผนที่เอกสารหมาย จ.7 นี้ตรงกับรูปแผนที่พิพาทเอกสารหมาย จ.8 ส่วนพยานหลักฐานฝ่ายจำเลยในเรื่องการครอบครองที่พิพาทนั้น นางบุญมีเบิกความว่า ขณะที่ดินตามโฉนดเอกสารหมาย จ.3 เป็นของนางเจือ นางบุญมีเช่าที่ดินแปลงนี้ทั้งแปลงอยู่ 8 ปีจึงเลิกเช่าเพราะนางเจือขายที่ดินให้นางนวม ต่อมานางนวมขายให้นางแป๊ะมารดาโจทก์ที่ 1 ขณะที่นางบุญมีเช่าที่ดินของนางเจือนั้นที่ดินนี้ติดกับที่ดินของจำเลยที่ 1 มีลำรางคั่น ตรงมุมที่ดินที่เช่ามีกอไผ่นางเจือห้ามนางบุญมีไม่ให้ไปตัดโค่น บอกว่าอยู่ในที่ดินของจำเลยที่ 1 และว่าตรงที่ดินที่ติดกันนั้นมีกอไผ่ ต้นลำไย และหญ้าขึ้นอยู่ริมร่องน้ำฝั่งทางวัดที่ดินบริเวณนี้นางบุญมีมิได้ชวนนางพีมาเช่าอยู่ ซึ่งเป็นที่พิพาทในคดีนี้ นางพีเบิกความว่า ได้เช่าที่พิพาทนี้จากพระภิกษุทองสมภารวัดจำเลยที่ 1 ในขณะนั้นเนื้อที่ประมาณ 80 ตารางวา ได้ปลูกร้านขายของชำหันหน้าไปทางถนนอิฐห่างจากถนนอิฐประมาณ 1 ศอก หลังร้านค้ามีร่องน้ำ เช่าอยู่ประมาณ 4 ปี แล้วที่พิพาททิ้งว่างอยู่ ในเรื่องเขตที่ดินของโจทก์กับจำเลยที่ 1 ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่ามีร่องน้ำเป็นแนวเขตนี้ นอกจากคำเบิกความของนางบุญมี และนางพีดังที่ยกขึ้นกล่าวแล้ว นายสม นายสุด นายศิริ ก็เบิกความสนับสนุนข้ออ้างของจำเลยที่ 1 พยานหลักฐานของจำเลยที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือแผนที่ระวางเอกสารหมาย ล.4 ซึ่งกรมที่ดินทำขึ้นเมื่อ ร.ศ. 126 (ตรงกับ พ.ศ. 2451) หลังจากตั้งวัดจำเลยที่ 1 และก่อนออกโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.3 แผนที่ระวางเอกสารหมาย ล.4 นี้ เมื่อพิจารณาแล้วปรากฏว่าที่ดินแปลงหมายเลข 378 ซึ่งเขียนไว้ว่า “วัดยี่ส่าย” หมายถึงที่ดินของจำเลยที่ 1 เส้นอาณาเขตของที่ดินทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือจดที่ดินแปลงหมายเลข 379 มีเส้นประเป็นแนวเขตซึ่งเป็นเส้นตรงไม่มีคดหักมุมเลย จากเส้นประเข้ามาในที่ของจำเลยที่ 1 มีเส้นคู่เมื่อพิจารณาคำเบิกความของพยานโจทก์จำเลยที่ว่าที่ดินของจำเลยที่ 1 ในส่วนนี้มีถนนอิฐ น่าเชื่อว่าเส้นคู่นี้เป็นถนนอิฐที่พยานทั้งสองฝ่ายเบิกความถึง แสดงว่าเขตที่ดินของจำเลยที่ 1 ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนืออยู่ถนนออกไปจนถึงเส้นประจริงอยู่ถึงแม้แผนที่ระวางเป็นเพียงแผนที่กำหนดแนวเขตที่ดินและที่ลงเส้นประไว้แสดงว่ายังไม่ได้ออกโฉนดและแนวเขตยังไม่แน่นอนก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาประกอบกับคำเบิกความของนางบุญมี นางพี นายสม นายสุด นายศิริดังยกขึ้นกล่าวแล้ว เชื่อได้ว่า ที่ดินของจำเลยที่ 1 ที่ติดกับที่ดินของโจทก์ซึ่งมีมาตั้งแต่ดังเดิมนั้นเลยถนนอิฐออกไปจนถึงเส้นประตามแผนที่ระวางเอกสารหมาย ล.4 แสดงว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตของจำเลยที่ 1 มาตั้งแต่เดิม และเมื่อได้พิจารณาคำเบิกความของนายทวีศักดิ์ประกอบความเห็นตามเอกสารหมาย จ.10 แล้ว มีเหตุผลเชื่อได้ว่า เมื่อตอนออกโฉนดเอกสารหมาย จ.3 การนำรังวัดเพื่อออกโฉนดได้นำรังวัดเข้าไปในที่ดินของจำเลยที่ 1 จนมีอาณาเขตจดถนนอิฐดังปรากฏในแผนที่พิพาทภายในเส้นสีเขียวตามเอกสารหมาย จ.8 คือที่ดินพิพาทอยู่ในเขตโฉนดเอกสารหมาย จ.3 หรืออีกนัยหนึ่งออกโฉนดทับที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นที่พิพาทในคดีนี้ แต่เมื่อที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 มาตั้งแต่เดิมก่อนออกโฉนดเอกสารหมาย จ.3 แม้จะได้ออกโฉนดแสดงว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินโฉนดมาเป็นเวลานานเท่าใดก็ตาม ไม่ทำให้ผู้มีชื่อในโฉนดได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ออกโฉนดทับที่วัด เพราะตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์รัตนโกสินทร์ศก 121 (ตรงกับ พ.ศ. 2446) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะออกโฉนดเอกสารหมาย จ.3 (ออกโฉนด พ.ศ. 2459) มาตรา 7 บัญญัติว่า “ที่วัด เป็นสมบัติพระศาสนา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผู้เป็นอรรคศาสนูปถัมภก ทรงปกครองรักษาโดยพระบรมเดชานุภาพ ผู้ใดผู้หนึ่งจะโอนกรรมสิทธิ์ที่นั้นไปไม่ได้” ทั้งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน มาตรา 34 ได้บัญญัติไว้ว่า ที่วัด จะโอนกรรมสิทธิ์ได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติและห้ามบุคคลใดยกอายุความขึ้นต่อสู้กับวัดในเรื่องทรัพย์สินอันเป็นที่วัด” ฉะนั้นโดยบทกฎหมายดังยกขึ้นว่ากล่าวที่ดินพิพาทจึงยังคงเป็นของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นวัดปัญหาต่อไปเรื่องค่าเสียหายเห็นว่าการออกโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.3 ทับที่ดินพิพาทนั้นกระทำมาตั้งแต่ พ.ศ. 2459 ซึ่งไม่ใช่การกระทำของโจทก์และก่อนที่ดินแปลงนั้นจะตกมาเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ได้มีการโอนเป็นของบุคคลอื่น ๆ มาแล้วหลายคน โจทก์ไม่มีโอกาสทราบเลยว่าที่ดินตามโฉนดของโจทก์ทับที่ดินของจำเลยที่ 1 ทั้งการครอบครองที่ดินพิพาทโจทก์ก็ครอบครองต่อเนื่อมาจากเจ้าของคนก่อน แสดงให้เห็นว่าโจทก์ครอบครองที่พิพาทโดยสุจริต ทั้งจำเลยที่ 1 ก็ไม่ดำเนินการฟ้องร้องทันทีที่โจทก์ที่ 1 คัดค้านการรังวัดที่ดินของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการไม่สมควรที่โจทก์จะต้องใช้ค่าเสียหายให้จำเลยที่ 1 เว้นแต่โจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษานี้ ซึ่งควรกำหนดค่าเสียหายให้เท่ากับที่โจทก์ที่ 1 ให้นายจีนกับนางไล้เช่าที่ดินพิพาทปีละ 500 บาท ตามเอกสารหมาย จ.2

พิพากษาเป็นว่า ที่ดินพิพาทภายในเส้นสีม่วงตามแผนที่พิพาทเอกสารหมาย จ.8 เป็นของจำเลยที่ 1 ห้ามโจทก์ทั้งสามและบริวารเข้าเกี่ยวข้องให้โจทก์ทั้งสาม และบริวารรื้อถอนสิ่งก่อสร้างออกไปจากที่พิพาทจากโจทก์ทั้งสามและบริวารไม่ปฏิบัติตามคำบังคับตามคำพิพากษานี้ให้โจทก์ทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 1 ปีละ 500 บาท นับแต่วันที่ครบกำหนดให้ปฏิบัติตามคำบังคับจนกว่าจะปฏิบัติตามคำบังคับโดยสมบูรณ์กับให้เพิกถอนโฉนดเลขที่ 2984 ตามเอกสารหมาย จ.3 เฉพาะส่วนที่ทับที่ดินพิพาทยกฟ้องของโจทก์ทั้งสาม ให้โจทก์ทั้งสามร่วมกันค่าใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนจำเลยทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 1,500 บาท”

Share