แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าใดในขณะที่จดทะเบียนคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าสำหรับสินค้าจำพวกเดียวกันที่มีลักษณะอย่างเดียวกันหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาภาพรวมของเครื่องหมายการค้านั้นเปรียบเทียบกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วว่ามีความเหมือนหรือคล้ายกันในสาระสำคัญหรือในลักษณะเด่นของเครื่องหมายการค้านั้นหรือไม่ หากเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีภาคส่วนถ้อยคำประกอบรูป นอกจากจะพิจารณาลักษณะเด่น หรือสาระสำคัญ ของเครื่องหมายการค้าแล้วยังต้องพิจารณาถึงสำเนียงเรียกขานเครื่องหมายการค้านั้น และต้องพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้านั้นใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกกัน
แม้สาระสำคัญหรือลักษณะเด่นในเครื่องหมายการค้าจะเป็นภาพปลาโลมาซึ่งเป็นสัตว์ตามธรรมชาติเช่นเดียวกัน แต่เมื่อภาพประดิษฐ์ปลาโลมาในเครื่องหมายการค้าทั้งสองดังกล่าวมีความแตกต่างกันในภาพรวม เช่น จำนวนของปลาโลมา หรือการจัดองค์ประกอบของภาพที่แสดงให้เห็นว่าปลาโลมาได้หันไปคนละทิศทางกันและมีคลื่นทะเลประกอบอยู่ด้วย เครื่องหมายการค้าของโจทก์และบริษัท ช. จึงต่างก็มีลักษณะบ่งเฉพาะในตัวเองตามมาตรา 7 (6) แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ทั้งภาพปลาโลมาก็มิใช่สิ่งที่ใช้กันสามัญในการค้าขายสำหรับสินค้าข้าวที่โจทก์จะต้องแสดงปฏิเสธไม่ขอถือเป็นสิทธิของตนแต่เพียงผู้เดียวตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2537 มาตรา 17 แต่อย่างใด
เมื่อเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีภาคส่วนถ้อยคำเป็นอักษรจีนและภาคส่วนของอักษรโรมัน คำว่า “TWIN DOLPHINS” ส่วนเครื่องหมายการค้าของบริษัท ช. มีภาคส่วนถ้อยคำเป็นอักษรโรมันคำว่า “BLUE DOLPHIN” จึงมีเพียงอักษรโรมันคำว่า “DOLPHIN” ที่เหมือนกันเท่านั้น ทั้งเครื่องหมายการค้าของโจทก์ในส่วนของอักษรจีนอ่านออกเสียงได้ว่า “ซวงห่ายถุน” และอักษรโรมันคำว่า “TWIN DOLPHINS” มีความหมายว่า ปลาโลมาคู่ จึงอาจออกเสียงเรียกขานได้ว่า ซวงห่ายถุน หรือ ทวินดอลฟิน หรือปลาโลมาคู่ ส่วนเครื่องหมายการค้าของบริษัท ช. มีอักษรโรมันคำว่า “BLUE DOLPHIN” มีความหมายว่า ปลาโลมาสีน้ำเงิน จึงอาจออกเสียงเรียกขานได้ว่า บลูดอลฟิน หรือปลาโลมาสีน้ำเงิน สำเนียงเรียกขานเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับบริษัท ช. จึงแตกต่างกัน แม้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกันเป็นรายการสินค้าข้าว ก็ไม่ทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้
ย่อยาว
บรรดาคำฟ้อง คำให้การ รวมทั้งรายการต่างๆ ที่ปรากฏในคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษานี้
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยทั้งสามไม่โต้แย้งกันในชั้นอุทธรณ์รับฟังว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ตามหนังสือรับรองโจทก์มอบอำนาจให้นางณิชกุล เป็นผู้ดำเนินคดีแทน จำเลยที่ 1 มีฐานะเป็นกรมสังกัดกระทรวงพาณิชย์ จำเลยที่ 2 มีฐานะเป็นผู้อำนวยการสำนักเครื่องหมายการค้าและนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า จำเลยที่ 3 มีฐานะเป็นประธานคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า ในสินค้าจำพวกที่ 30 รายการสินค้า ข้าว ตามคำขอเลขที่ 454012 ทะเบียนเลขที่ ค. 161762 บริษัทชัยประสิทธิ์พืชผล จำกัด ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ตามคำขอเลขที่ 668236 ในสินค้าจำพวกที่ 30 รายการสินค้า ข้าว จำเลยที่ 1 ได้ประกาศโฆษณาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอดังกล่าวเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2550 ต่อมาโจทก์ยื่นคำคัดค้านการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว บริษัทชัยประสิทธิ์พืชผล จำกัด ยื่นคำโต้แย้งจำเลยที่ 2 ในฐานะนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้พิจารณาแล้วมีคำสั่งยกคำคัดค้านของโจทก์ ตามคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ 174/2551 โจทก์ยื่นอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าพิจารณาแล้วเห็นว่า เครื่องหมายการค้าของบริษัทชัยประสิทธิ์พืชผล จำกัด แม้จะเป็นภาพปลาโลมาเช่นเดียวกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่จดทะเบียนไว้ แต่ลักษณะการประดิษฐ์ภาพปลาโลมาและองค์ประกอบการจัดวางรูปแบบเครื่องหมายการค้าแตกต่างกันชัดเจนโดยเครื่องหมายการค้าของบริษัทชัยประสิทธิ์พืชผล จำกัด เป็นภาพปลาโลมาในลักษณะกระโจนลอยตัวเหนือผิวน้ำลำตัวโค้งไปในทิศทางด้านซ้ายมือ ทั้งหมดอยู่ภายในรูปกรอบสี่เหลี่ยมพื้นผ้าและมีคำว่า “BLUE DOLPHIN” ประกอบอยู่ด้วย ส่วนเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นภาพปลาโลมาคู่ในลักษณะกระโจนลอยตัวอยู่เหนือคลื่นทะเลไปในทิศทางด้านขวามือ และมีอักษรจีนอ่านว่า “ซวงห่ายถุน” และคำว่า “TWIN DOLPHINS” ประกอบอยู่ด้วย รูปลักษณะเครื่องหมายการค้าของทั้งสองจึงแตกต่างกัน การเรียกขานเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนภายหลังเรียกขานได้ว่า บลู ดอลฟิน ส่วนเครื่องหมายการค้าของโจทก์เรียกว่า ทวิน ดอลฟิน นับว่ามีเสียงเรียกขานแตกต่างกัน ประกอบกับภาพปลาโลมาเป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติอันเป็นที่รู้จักกันทั่วไป ไม่สมควรที่โจทก์จะหวงกันการใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติแต่เพียงผู้เดียว บุคคลทั่วไปย่อมสามารถนำไปใช้ได้ เพียงแต่ผู้ที่จะนำภาพปลาโลมาไปใช้เป็นเครื่องหมายการค้าของตนนั้น จะต้องไม่ทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า การที่เครื่องหมายทั้งสองต่างมีภาพปลาโลมาปรากฏอยู่ในเครื่องหมายการค้ายังไม่ถึงขนาดทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ เมื่อเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนภายหลังไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ จึงชอบที่จะรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนโดยไม่ต้องห้ามมาตรา 8 (9) (10) และมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจึงมีคำวินิจฉัยยืนตามคำสั่งของนายทะเบียน โดยให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์และให้นายทะเบียนดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป ตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 491/2556
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า คำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า บริษัทชัยประสิทธิ์พืชผล จำกัด เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้า ของโจทก์ที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่ ในปัญหานี้โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์มีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์แต่เพียงผู้เดียวตามกฎหมาย สิ่งที่โจทก์ได้รับความคุ้มครองมิใช่ปลาโลมาโดยเฉพาะ แต่เป็นการได้รับความคุ้มครองทุกภาคส่วนของเครื่องหมายการค้า หากพิจารณาว่าปลาโลมาเป็นสัตว์ธรรมชาติ ประชาชนล้วนต่างมีสิทธินำรูปธรรมชาติมาใช้ ย่อมมีความหมายจำกัดเพียงว่าสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติไม่ได้รับความคุ้มครองที่จะได้รับสิทธิแต่เพียงผู้เดียว การพิจารณาความเหมือนหรือคล้ายของเครื่องหมายการค้า จึงต้องพิจารณาภาคส่วนถ้อยคำหรืออักษรโดยดูองค์ประกอบโดยรวม และต้องพิจารณาแนวโน้มที่อาจก่อให้เกิดความสับสนหลงผิดร่วมด้วย เมื่อเครื่องหมายการค้า ของโจทก์เป็นภาพปลาโลมาประดิษฐ์มิใช่ภาพถ่ายจากธรรมชาติ การที่เจ้าของเครื่องหมายการค้า ใช้ภาพปลาโลมาและจดทะเบียนในสินค้ารายการ ข้าว เช่นเดียวกัน ย่อมเป็นการลอกเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์และทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ เห็นว่า การพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าใดในขณะที่จดทะเบียนคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว จนอาจทำให้สาธารณชนหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าสำหรับสินค้าจำพวกเดียวกันที่มีลักษณะอย่างเดียวกันหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาภาพรวมของเครื่องหมายการค้านั้นเปรียบเทียบกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว ว่ามีความเหมือนหรือคล้ายกันในสาระสำคัญหรือในลักษณะเด่นเครื่องหมายการค้านั้นหรือไม่ หากเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีภาคส่วนถ้อยคำประกอบกับรูปดังเครื่องหมายการค้า ของโจทก์กับเครื่องหมายการค้า ที่เป็นเครื่องหมายการค้ารูปและคำของบริษัทชัยประสิทธิ์พืชผล จำกัด นอกจากจะต้องพิจารณาลักษณะเด่นหรือสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าแล้ว ยังต้องพิจารณาถึงสำเนียงเรียกขานเครื่องหมายการค้านั้นและต้องพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้านั้นใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกกัน เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบเครื่องหมายการค้าแล้ว เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นภาพคลื่นม้วนตัวขึ้นจากทางด้านล่างไปทางด้านขวามาบริเวณกลางภาพ โดยมีภาพปลาโลมาประดิษฐ์ลำตัวโค้งขนานอยู่บนคลื่นหันหัวไปทางด้านขวา 1 ตัว และภาพปลาโลมาประดิษฐ์อยู่กลางเกลียวคลื่นลำตัวตรงหันหัวไปทางด้านขวาอีก 1 ตัว รวมเป็นปลาโลมาประดิษฐ์จำนวน 2 ตัว ส่วนเครื่องหมายการค้าของบริษัทชัยประสิทธิ์พืชผล จำกัด เป็นภาพปลาโลมาประดิษฐ์ 1 ตัว ในลักษณะกระโจนขึ้นโค้งตัวหันหัวไปทางด้านซ้ายจากผิวน้ำที่กระเด็นพุ่งขึ้นตามหางปลาโลมา แม้สาระสำคัญหรือลักษณะเด่นในเครื่องหมายการค้าจะเป็นภาพปลาโลมาซึ่งเป็นสัตว์ตามธรรมชาติเช่นเดียวกัน แต่เมื่อภาพประดิษฐ์ปลาโลมาในเครื่องหมายการค้าทั้งสองมีความแตกต่างกันในภาพรวม เช่น จำนวนของปลาโลมา หรือการจัดองค์ประกอบของภาพที่แสดงให้เห็นว่า ปลาโลมาได้หันไปคนละทิศทางกันและมีคลื่นทะเลประกอบอยู่ด้วย เครื่องหมายการค้าของโจทก์และของบริษัทชัยประสิทธิ์พืชผล จำกัด จึงต่างก็มีลักษณะบ่งเฉพาะในตัวเองตามมาตรา 7 (6) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ทั้งภาพปลาโลมาก็มิใช่สิ่งที่ใช้กันสามัญในการค้าขายสำหรับสินค้าข้าวที่โจทก์จะต้องแสดงปฏิเสธไม่ขอถือเป็นสิทธิของตนแต่ผู้เดียวตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2537 มาตรา 17 แต่อย่างใด เมื่อเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีภาคส่วนถ้อยคำเป็นอักษรจีนและภาคส่วนของอักษรโรมัน คำว่า “TWIN DOLPHINS” ส่วนเครื่องหมายการค้าของบริษัทชัยประสิทธิ์พืชผล จำกัด มีภาคส่วนถ้อยคำเป็นอักษรโรมัน คำว่า “BLUE DOLPHIN” จึงมีเพียงอักษรโรมันคำว่า “DOLPHIN” ที่เหมือนกันเท่านั้น ทั้งเครื่องหมายการค้าของโจทก์ในส่วนของอักษรจีนอ่านออกเสียงได้ว่า “ซวงห่ายถุน” และอักษรโรมันคำว่า “TWIN DOLPHINS” มีความหมายว่า ปลาโลมาคู่ จึงอาจออกเสียงเรียกขานได้ว่า ซวงห่ายถุน หรือ ทวิน ดอลฟิน หรือปลาโลมาคู่ ส่วนเครื่องหมายการค้าของบริษัทชัยประสิทธิ์พืชผล จำกัด มีอักษรโรมันคำว่า “BLUE DOLPHIN” มีความหมายว่าปลาโลมาสีน้ำเงิน จึงอาจออกเสียงเรียกขานได้ว่า บลู ดอลฟิน หรือปลาโลมาสีน้ำเงิน สำเนียงเรียกขานเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับของบริษัทชัยประสิทธิ์พืชผล จำกัด จึงแตกต่างกัน แม้เครื่องหมายการค้าใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกันเป็นรายการสินค้าข้าว ก็ไม่ทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ คำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ 174/2551 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 491/2556 จึงชอบแล้ว ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ