แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ช. ฟ้อง ค. ขอแบ่งที่ดินพิพาทคนละครึ่ง ศาลพิพากษาให้แบ่งที่ดินแก่ ช. และ ค. เท่าที่ครอบครองอยู่เป็นส่วนสัด คดีถึงที่สุดแล้ว ช. และ ค. ถึงแก่กรรม โจทก์ซึ่งเป็นทายาทและผู้จัดการมรดกของ ช. มาฟ้องจำเลยซึ่งเป็นทายาทผู้รับมรดกของ ค. ให้แบ่งที่ดินพาทคนละครึ่งอีก โดยอ้างว่า ช. มีกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทร่วมกับ ค. มิได้กล่าวอ้างสิทธิของตนเองต่างหากจาก ข. ดังนี้ ทั้งโจทก์และจำเลยจึงเป็นผู้สืบสิทธิในที่พิพาทมาจาก ช. และ ค. ฟ้องของโจทก์จึงเป็นการรื้อฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุเดียวกันกับคดีก่อนซึ่งถึงที่สุดแล้ว เป็นฟ้องซ้ำ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148
ในคดีก่อน เหตุที่ยังมิได้มีการแบ่งแยกที่พิพาทตามคำพิพากษาก็เนื่องจาก ช. มิได้นำโฉนดที่ดินไปมอบต่อเจ้าพนักงานที่ดิน จึงทำให้การรังวัดที่ดินขัดข้อง ไม่ใช่กรณีที่ ค. มิได้บังคับให้ ช. ปฏิบัติตามคำพิพากษาภายใน 10 ปี ดังนั้น แม้จะล่วงพ้นเวลา 10 ปีแล้ว แต่การแบ่งแยกที่พิพาทยังไม่เสร็จ ก็หาทำให้คำพิพากษาในคดีเดิมสิ้นผลบังคับไปไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นทายาทและผู้จัดการมรดกของนายช้อย บัวช้าง นายช้อย บัวช้าง มีกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๒๔๔ ตำบลศาลาธรรมสพน์ ร่วมกับนางคล้อย หนูรัตน์ คนละครึ่ง บัดนี้ที่ดินดังกล่าวส่วนของนางคล้อยได้ลงชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์โจทก์มีความประสงค์จะแบ่งที่ดินดังกล่าวออกครึ่งหนึ่งเพื่อแบ่งปันแก่ทายาท แต่จำเลยไม่ยินยอม จึงขอให้บังคับจำเลยให้ยินยอมรังวัดแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ครึ่งหนึ่ง
จำเลยให้การว่า นายช้อยและนางคล้อยเคยพิพาทกันเรื่องที่ดินตามฟ้อง และศาลมีคำพิพากษาให้นายช้อยและนางคล้อยมีกรรมสิทธิ์ที่ดินเท่าที่ครอบครองอยู่ คดีถึงที่สุดแล้ว และที่ดินส่วนของนางคล้อยตกมาเป็นของจำเลย โจทก์ไม่มีสิทธิได้ครึ่งหนึ่งของเนื้อที่ทั้งหมด
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าเป็นฟ้องซ้ำ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า โจทก์จำเลยในคดีก่อนกับโจทก์จำเลยในคดีนี้ไม่ใช่คู่ความเดียวกัน ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ เมื่อโจทก์จำเลยคดีก่อนถึงแก่กรรมแล้ว โจทก์จำเลยคดีนี้ได้ครอบครองต่อมาเป็นปกติโดยอาศัยสิทธิตามคำพิพากษาคดีก่อน คำพิพากษาดังกล่าวย่อมผูกพันโจทก์จำเลยคดีนี้ด้วย พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นให้จำเลยแบ่งแยกที่ดินให้โจทก์ตามที่ครอบครองกันมา
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในคดีก่อนนายช้อยเป็นโจทก์ฟ้องนางคล้อยขอแบ่งที่ดินกึ่งหนึ่ง นางคล้อยสู้คดีและฟ้องแย้งว่าแบ่งกันครอบครองเป็นส่วนสัดแล้ว ศาลพิพากษาว่าที่ดินดังกล่าว โจทก์จำเลยได้ครอบครองกันมาเป็นส่วนสัดกว่า ๑๐ ปีแล้ว และให้แบ่งที่ดินดังกล่าวตามที่ครอบครองมา คดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์คดีนี้เป็นทายาทและผู้จัดการมรดกของนายช้อย ส่วนจำเลยก็เป็นทายาทผู้รับมรดกที่พิพาทจากนางคล้อย ทั้งโจทก์และจำเลยจึงเป็นผู้สืบสิทธิในที่พิพาทมาจากนายช้อยและนางคล้อย ดังนั้น การที่โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายช้อยมาฟ้องจำเลยให้แบ่งที่พิพาทเป็นคดีนี้โดยอ้างว่านายช้อยมีกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทร่วมกับนางคล้อยคนละครึ่ง มิได้กล่าวอ้างสิทธิของตนเองต่างหากจากนายช้อย จึงเป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุเดียวกันกับคดีก่อนซึ่งถึงที่สุดแล้ว ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๘ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ไม่เป็นฟ้องซ้ำนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
ที่โจกท์ฎีกาว่าคำพิพากษาให้แบ่งที่ดินพิพาทในคดีก่อนไม่มีผลผูกพันและสิ้นสภาพบังคับเพราะนางคล้อยเจตนาสละประโยชน์ มิได้บังคับให้นายช้อยปฏิบัติตามเกินกว่า ๑๐ ปี นับแต่ศาลพิพากษานั้น ในคดีก่อนเหตุที่ยังมิได้มีการแบ่งแยกที่พิพาทตามคำพิพากษาก็เนื่องจากนายช้อยมิได้นำโฉนดที่ดินไปมอบต่อเจ้าพนักงานที่ดิน จึงทำให้การรังวัดที่ดินขัดข้อง มิใช่กรณีที่นางคล้อยไม่ได้บังคับให้นายช้อยปฏิบัติตามคำพิพากษาภายใน ๑๐ ปี และแม้จะล่วงพ้นเวลา ๑๐ ปีแล้ว แต่การแบ่งแยกที่พิพาทยังไม่เสร็จ ก็หาทำให้คำพิพากษาในคดีเดิมสิ้นผลบังคับไปไม่
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์