คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1335/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์และจำเลยมีเจตนาทำสัญญากู้ยืมเงินกันมาตั้งแต่ต้น มิได้มีเจตนาที่จะทำสัญญาขายที่ดินกันจริง สัญญาขายที่ดินตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง และเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงินที่จำเลยกู้ยืมไปจากโจทก์ โดยให้ที่ดินแก่โจทก์ยึดถือไว้เป็นหลักประกัน และย่อมถือได้ว่าสัญญาขายที่ดินเป็นนิติกรรมสัญญากู้ยืมเงินที่ทำเป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างโจทก์กับจำเลยและถูกอำพรางไว้ ต้องบังคับตามสัญญากู้ยืมเงินซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพราง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสอง เมื่อสัญญาขายที่ดินพิพาทตกเป็นโมฆะจึงต้องเพิกถอนสัญญาดังกล่าว เป็นผลให้ที่ดินยังเป็นของจำเลย โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะฟ้องขับไล่จำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยออกจากบ้านเลขที่ 45/3 หมู่ที่ 4 และที่ดินโฉนดเลขที่ 66155 และ 97610 ตำบลบ้านกลาง อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน และชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 20,000 บาท นับแต่วันที่ 27 กันยายน 2556 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะออกจากบ้านและที่ดินพิพาท คำนวณถึงวันฟ้องคิดเป็นค่าเสียหาย 50,000 บาท
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากบ้านเลขที่ 45/3 หมู่ที่ 4 ตำบลบ้านกลาง อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน และที่ดินโฉนดเลขที่ 66155 และ 97610 ตำบลบ้านกลาง อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน และให้จำเลยชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 18,500 บาท แก่โจทก์พร้อมค่าเสียหายอีกเดือนละ 7,500 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 13 ธันวาคม 2556) เป็นต้นไปจนกว่าจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไป กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 10,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีอีก 8,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแปลงแรกโฉนดเลขที่ 66155 ตำบลบ้านกลาง อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน พร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 45/3 หมู่ที่ 4 ตำบลบ้านกลาง อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน โดยซื้อจากนางสาวสิริทัศน์ ผู้จัดการมรดกของนางสาวอรพันธ์ เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2552 และแปลงที่ 2 โฉนดเลขที่ 97610 ตำบลบ้านกลาง อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน โดยซื้อจากจำเลย เดิมที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมีชื่อจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า สัญญาขายที่ดินพิพาทเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงินหรือไม่ และโจทก์มีสิทธิฟ้องขับจำเลยออกจากบ้านและที่ดินพิพาทหรือไม่ เห็นว่า การพิจารณาว่าคู่สัญญาได้แสดงเจตนาลวงทำนิติกรรมขึ้นเพื่อเป็นการอำพรางนิติกรรมอื่นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคสองหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาจากพฤติการณ์แห่งคดีและนิติกรรมที่คู่สัญญาทำขึ้นโดยเปิดเผยเพื่อแสดงต่อบุคคลทั่วไปเป็นสำคัญ โดยหาจำต้องพิจารณาว่าคู่สัญญามีการทำนิติกรรมที่แสดงเจตนาที่แท้จริงไว้ต่อกันอีกฉบับหนึ่งไม่ เพราะหากมีการทำนิติกรรมที่แสดงเจตนาที่แท้จริงไว้แล้ว ก็จะไม่มีปัญหาให้พิจารณาเรื่องนิติกรรมอำพราง เพราะคู่สัญญาสามารถนำนิติกรรมที่ทำไว้ต่างหากและเป็นการแสดงเจตนาที่แท้จริงมาฟ้องร้องบังคับคดีกันได้โดยตรง ดังนั้น คดีจึงต้องพิจารณาว่า สัญญาขายที่ดินที่โจทก์จำเลยทำกันนั้นแท้จริงแล้วมีเจตนาจะทำนิติกรรมใดไว้ต่อกัน โจทก์เบิกความว่า วันที่ 13 สิงหาคม 2552 จำเลยขายที่ดินพิพาทแปลงแรกโฉนดเลขที่ 66155 ราคา 1,000,000 บาท และโจทก์ให้จำเลยซื้อคืนราคา 1,270,000 บาท ภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2553 แต่สัญญาจะซื้อขายฉบับดังกล่าวสูญหาย ต่อมาเดือนกันยายน 2552 จำเลยต้องการใช้เงิน 100,000 บาท และบอกว่าโจทก์ซื้อบ้านและที่ดินพิพาทแปลงแรกในราคาถูกมากและจำเลยจะซื้อคืนในราคาที่สูงขึ้น โจทก์ให้เงินจำเลย 100,000 บาท และวันที่ 1 ตุลาคม 2552 โจทก์ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาท โดยให้จำเลยซื้อคืนจากเดิมราคา 1,270,000 บาท เป็นราคา 1,400,000 บาท ภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2553 ต่อมาวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2553 จำเลยขายที่ดินพิพาทแปลงที่ 2 โฉนดเลขที่ 97610 ราคา 900,000 บาท และทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทรวม 2 แปลง ราคา 2,420,000 บาท จำเลยมีสิทธิซื้อคืนภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2553 และยกเลิกสัญญาจะซื้อขายวันที่ 1 ตุลาคม 2552 ส่วนจำเลยนำสืบได้ความว่า เมื่อปี 2550 จำเลยไม่มีเงินชำระหนี้ให้นางสาวอรพันธ์ นางสาวอรพันธ์จึงให้จำเลยทำนิติกรรมอำพรางขายที่ดินพิพาทแปลงแรกให้นางสาวอรพันธ์ จากนั้นนางสาวอรพันธ์นำที่ดินพิพาทเป็นประกันการกู้ยืมเงินธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) โดยจำเลยเป็นผู้ชำระ จำเลยผ่อนชำระได้ 19 งวด นางสาวอรพันธ์ถึงแก่ความตายวันที่ 15 กรกฎาคม 2551 ต่อมาจำเลยฟ้องนางสาวสิริทัศน์ผู้จัดการมรดกนางสาวอรพันธ์เพื่อเอาที่ดินพิพาทคืนต่อศาลชั้นต้น คดีแพ่งหมายเลขดำที่ 2493/2551 นางสาวสิริทัศน์โอนที่ดินพิพาทคืนแต่จำเลยต้องจ่ายเงิน 600,000 บาท เป็นค่าตอบแทน จำเลยจึงกู้ยืมเงินโจทก์ 1,000,000 บาท จากการแนะนำของนางสาวแอนซึ่งเป็นนายหน้า โจทก์บอกจำเลยว่า การกู้ยืมเงินจะไม่มีการทำสัญญากู้ยืมเงิน แต่จะทำสัญญาจะซื้อขายคืนให้จำเลยและคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2.5 ต่อเดือน ต่อมาวันที่ 13 สิงหาคม 2552 โจทก์จ่ายเงิน 600,000 บาท เป็นแคชเชียร์เช็คให้นางสาวสิริทัศน์ และจ่ายเงินสด 400,000 บาท ให้นางสาวแอน และค่าใช้จ่ายการโอนชื่อจากนางสาวนฤมลหรือนางสาวสิริทัศน์ ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของนางสาวอรพันธ์เป็นชื่อโจทก์โดยตรง โดยไม่ต้องโอนกลับมาเป็นชื่อจำเลยซึ่งจะทำให้เสียค่าธรรมเนียม จากนั้นโจทก์ทำสัญญาจะซื้อขายให้จำเลยซื้อที่ดินพิพาทคืนราคา 1,270,000 บาท ภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2553 คำนวณจากต้นเงิน 1,000,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2.5 ต่อเดือน เป็นเวลา 11 เดือน นับแต่วันที่ 13 สิงหาคม 2552 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2553 เป็นดอกเบี้ยประมาณ 272,000 บาท สัญญาจะซื้อขายดังกล่าวโจทก์และจำเลยทำหาย ต่อมาวันที่ 1 ตุลาคม 2552 จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ 100,000 บาท โจทก์ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทแปลงแรกและขายคืนราคา 1,400,000 บาท ภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2553 คำนวณจากต้นเงิน 1,100,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2.5 ต่อเดือน เป็นเวลา 11 เดือน นับแต่วันกู้ครั้งแรก วันที่ 13 สิงหาคม 2552 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2553 เป็นดอกเบี้ยประมาณ 302,000 บาท รวมกับต้นเงิน 1,100,000 บาท เป็นเงิน 1,400,000 บาทเศษ แต่โจทก์คิด 1,400,000 บาท ต่อมาวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2553 จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ 900,000 บาท โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2.5 ต่อเดือน เป็นเวลา 5 เดือน ให้จำเลยซื้อคืนภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2553 เป็นดอกเบี้ย 112,500 บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงิน 1,012,500 บาท โจทก์ขอคิดเพิ่มให้เป็นจำนวนเต็มเป็นเงิน 1,020,000 บาท โดยใช้ที่ดินพิพาทแปลงที่ 2 เป็นประกันตามสัญญาขายที่ดินและยกเลิกสัญญาจะซื้อขายฉบับวันที่ 1 ตุลาคม 2552 และทำสัญญาจะซื้อขายฉบับใหม่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2553 รวมที่ดินพิพาท 2 แปลง จำเลยจะต้องซื้อคืนราคา 2,420,000 บาท ภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2553 เมื่อพิจารณาคำเบิกความจำเลยที่ว่า โจทก์บอกจำเลยว่าการกู้ยืมเงินจะไม่มีการทำสัญญากู้ยืมเงิน แต่จะทำสัญญาจะซื้อขายคืนให้จำเลย ประกอบข้อเท็จจริงที่ว่า เมื่อจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ 3 ครั้ง โจทก์ให้จำเลยทำสัญญาโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงและบ้านเลขที่ 45/3 ให้โจทก์ แล้วทำสัญญาจะซื้อจะขายคืนให้จำเลย โดยมีการทำสัญญาจะซื้อจะขายคืนหลายฉบับหลังจากจำเลยกู้ยืมเงินไปจากโจทก์ โดยกำหนดราคาซื้อคืนเท่ากับเงินต้นบวกด้วยดอกเบี้ยคำนวณถึงวันที่ซื้อคืน สำหรับที่ดินแปลงแรกตามสัญญาจะซื้อจะขาย โจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า เงิน 1,000,000 บาท หากให้จำเลยซื้อที่ดินคืนจะต้องคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 2.5 ต่อเดือน เป็นเงินประมาณ 275,000 บาท เมื่อจำเลยขอเงินอีก 100,000 บาท รวมเป็นเงิน 1,100,000 บาท คูณ 11 เดือน รวมดอกเบี้ยเป็นเงิน 302,500 บาท บวกต้นเงิน 1,100,000 บาท เป็นเงิน 1,425,000 บาท ใกล้เคียงราคาที่โจทก์ขายคืนให้จำเลย 1,400,000 บาท นอกจากนี้เมื่อพิเคราะห์วันที่ในสัญญาจะซื้อจะขายคืนเป็นวันเดียวกับวันที่โอนกรรมสิทธิ์ เป็นวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2553 ในราคารวมที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นเงิน 2,420,000 บาท แล้ว มียอดรวมเท่ากับเงินกู้พร้อมดอกเบี้ยซึ่งเป็นราคาที่ให้ซื้อคืน จึงเจือสมกับพยานหลักฐานจำเลยที่ว่า การจดทะเบียนซื้อขายที่ดินทั้งสองแปลงเป็นเพียงหลักประกันการกู้ยืมเงินไม่มีการซื้อขายกันจริง ประกอบกับนับตั้งแต่โจทก์ซื้อที่ดินทั้งสองแปลงและบ้าน โจทก์ไม่เคยเข้าครอบครองที่ดินพิพาทคงให้จำเลยและบริวารอาศัยและประกอบกิจการร้านค้าอยู่ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงตลอดมา พยานหลักฐานของจำเลยมีเหตุผลและน้ำหนักน่าเชื่อถือมากกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ คดีฟังได้ว่า โจทก์และจำเลยมีเจตนาทำสัญญากู้ยืมเงินกันมาตั้งแต่ต้น มิได้มีเจตนาที่จะทำสัญญาขายที่ดินกันจริง สัญญาขายที่ดินตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคหนึ่ง และเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงินที่จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์โดยให้ที่ดินแก่โจทก์ยึดถือไว้เป็นประกันและย่อมถือได้ว่าสัญญาขายที่ดินเป็นนิติกรรมสัญญากู้ยืมเงินที่ทำเป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างโจทก์กับจำเลยและถูกอำพรางไว้ต้องบังคับตามสัญญากู้ยืมเงินซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพรางไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคสอง เมื่อสัญญาขายที่ดินพิพาทตกเป็นโมฆะ จึงต้องเพิกถอนสัญญาดังกล่าว เป็นผลให้ที่ดินพิพาทยังเป็นของจำเลย โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะฟ้องขับไล่จำเลย
พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ ให้เพิกถอนหนังสือสัญญาขายที่ดินโฉนดเลขที่ 66155 ตำบลบ้านกลาง อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน ฉบับวันที่ 13 สิงหาคม 2552 และเพิกถอนหนังสือสัญญาขายที่ดินโฉนดเลขที่ 97610 ตำบลบ้านกลาง อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน ฉบับวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2553 แต่ยังคงให้โจทก์ยึดโฉนดที่ดินไว้จนกว่าจำเลยจะชำระต้นเงินและดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ครบถ้วน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share