คำวินิจฉัยที่ 155/2556

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่เอกชนผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องกรมสรรพสามิตและเจ้าหน้าที่ในสังกัดอ้างว่า ผู้ฟ้องคดีขอปรับลดราคาขายเบียร์สิงห์ ณ โรงงานสุรา แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้คงขายราคาเดิม ตามประกาศกรมสรรพสามิต เรื่อง กำหนดมูลค่าของสุราที่ทำในราชอาณาจักรเพื่อถือเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษี ลงวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๔๖ และ ๗ พฤษภาคม ๒๕๕๒ ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์โต้แย้งว่าประกาศดังกล่าวเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ยกอุทธรณ์ ขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ให้ผู้ฟ้องคดีคงราคาขายเบียร์สิงห์ตามประกาศทั้งสองดังกล่าว และให้ผู้ฟ้องคดีผลิต บรรจุ และจำหน่ายเบียร์สิงห์ในราคาที่แตกต่างไปจากประกาศกรมสรรพสามิต ฉบับลงวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๕๒ รวมทั้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ออกประกาศกำหนดมูลค่าสุราใหม่ เห็นว่า แม้ประกาศทั้งสองฉบับดังกล่าวจะเป็นการออกโดยใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ก็ตาม แต่ก็ออกมาเพื่อกำหนดฐานภาษี เนื่องจากเห็นว่าราคาขาย ณ โรงงานสุรา ที่ผู้ฟ้องคดีแจ้งไว้เป็นราคาที่ไม่ถูกต้องหรือไม่มีเหตุอันควร และได้ทำการประเมินราคาเพิ่มขึ้นโดยออกเป็นประกาศทั้งสองฉบับดังกล่าว จึงเป็นการประเมินภาษีรูปแบบหนึ่ง เมื่อผู้ฟ้องคดีฟ้องขอให้ผู้ฟ้องคดีผลิต บรรจุ และจำหน่ายเบียร์สิงห์ในราคาที่เปลี่ยนแปลงแตกต่างไปจากที่กำหนดไว้ในประกาศของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ฉบับลงวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๕๒ และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ออกประกาศกำหนดมูลค่าของสุราที่ทำในราชอาณาจักรเพื่อถือเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษีเสียใหม่นั้น อันเป็นการไม่เห็นด้วยกับการประเมินภาษีตามประกาศกรมสรรพสามิต เรื่อง กำหนดมูลค่าของสุราที่ทำในราชอาณาจักรเพื่อถือเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษี ลงวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๔๖ และ ๗ พฤษภาคม ๒๕๕๒ จึงย่อมเป็นการอุทธรณ์คำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานตามกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากร อันเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิจารณาพิพากษาของศาลภาษีอากร ตามมาตรา ๗ (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. ๒๕๒๘ และย่อมไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคสอง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๕๕/๒๕๕๖

วันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๕๖

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑)

ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลภาษีอากรกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๕๔ บริษัทปทุมธานี บริวเวอรี่ จำกัด ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้อง กรมสรรพสามิต ที่ ๑ นางเสาวนีย์ กมลบุตร ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๔๕๖/๒๕๕๔ ความว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ทำและขายสุราแช่ชนิดเบียร์ของบริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด โดยเมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ ผู้ฟ้องคดีมีหนังสือถึงผู้ถูกฟ้องคดี ๑ เพื่อขอปรับลดราคาขายเบียร์สิงห์ ณ โรงงานสุรา ทั้งแบบบรรจุขวด แบบบรรจุกระป๋อง และเบียร์สดบรรจุถัง ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาว่า เพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ โดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้คงราคาขายเบียร์สิงห์แบบบรรจุขวด และแบบบรรจุกระป๋อง ตามประกาศกรมสรรพสามิต เรื่อง กำหนดมูลค่าของสุราที่ทำในราชอาณาจักรเพื่อถือเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษี ลงวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๔๖ ส่วนกรณีเบียร์สดบรรจุถังมิได้แสดงที่มาของต้นทุนตามโครงสร้างต้นทุนการผลิตที่แจ้งลดลง จึงพิสูจน์ไม่ได้ว่าเบียร์ดังกล่าวมีมูลค่าลดลง และโดยที่กระทรวงการคลังได้ออกกฎกระทรวงกำหนดชนิดของสุราและอัตราภาษีสุรา (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๒ ปรับเพิ่มอัตราภาษีสุราแช่ชนิดเบียร์ตามมูลค่าเป็นร้อยละ ๖๐ ทำให้ภาษีสุราที่พึงชำระของสุราแช่ชนิดเบียร์เพิ่มขึ้นส่งผลให้ราคาขาย ณ โรงงานสุรา รวมภาษีสุราที่พึงชำระซึ่งใช้เป็นมูลค่าเพื่อถือเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษีจะต้องเพิ่มขึ้นด้วย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ โดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จึงประกาศกำหนดมูลค่าของสุราแช่ชนิดเบียร์ โดยคำนวณจากราคาขาย ณ โรงงานสุราที่ใช้เป็นมูลค่าเพื่อถือเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษีโดยหักภาษีสุรา ที่พึงชำระตามอัตราภาษีสุราเดิม แล้วนำมารวมกับภาษีสุราที่พึงชำระตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวงตามประกาศผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เรื่อง กำหนดมูลค่าของสุราที่ทำในราชอาณาจักรเพื่อถือเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษี พ.ศ. ๒๕๕๒ ลงวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๕๒ ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์โต้แย้งว่าประกาศผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ดังกล่าวเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ยกอุทธรณ์ เนื่องจากประกาศดังกล่าวออกโดยชอบด้วยกฎหมาย การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ยังกำหนดราคาขาย ณ โรงงานสุราสำหรับสุราแช่ชนิดเบียร์ตามประกาศผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เรื่อง กำหนดมูลค่าของสุราที่ทำในราชอาณาจักรเพื่อถือเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษี ลงวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๔๖ และ ๗ พฤษภาคม ๒๕๕๒ ทั้งที่ผู้ฟ้องคดีได้แจ้งข้อเท็จจริงของราคาขาย ณ โรงงานสุราให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ พิจารณาแล้วตามข้อ ๔ ของประกาศผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เรื่อง ให้แจ้งราคาขาย ณ โรงงานสุรา ลงวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๔๔ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งประกาศของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เรื่อง กำหนดมูลค่าของสุราที่ทำในราชอาณาจักรเพื่อถือเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษี ลงวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๔๖ และ ๗ พฤษภาคม ๒๕๕๒ เป็นประกาศ ที่ออกโดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจ เนื่องจากการกำหนดราคาจากการแบ่งกลุ่มหรือจากแรงแอลกอฮอล์เป็นวิธีการกำหนดราคาที่ไม่มีกฎหมายรองรับ ทั้งไม่ใช่การกำหนดจากราคาขาย ณ โรงงานสุราในตลาดปกติ ตามมาตรา ๘ จัตวา (๑) วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. ๒๔๙๓ และยังเป็นการกระทบสิทธิและเสรีภาพของผู้ฟ้องคดีในการปรับเปลี่ยนนโยบายเพื่อการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรมตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ เพราะราคาขาย ณ โรงงานสุราของเบียร์แต่ละยี่ห้อ แต่ละขนาดบรรจุ ในแต่ละโรงงานมีราคาขาย ต้นทุน และความต้องการกำไรแตกต่างกัน ซึ่งถือเป็นสิทธิเสรีภาพของผู้ฟ้องคดีที่จะกำหนดนโยบายด้านราคาเพื่อการแข่งขันอย่างเสรี คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และคำวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมและเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่สุจริต ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ให้ผู้ฟ้องคดีคงราคาขายเบียร์สิงห์ตามประกาศทั้งสองดังกล่าว และให้ผู้ฟ้องคดีสามารถผลิต บรรจุ และจำหน่ายเบียร์สิงห์ในราคาที่แตกต่างไปจากประกาศกรมสรรพสามิต ฉบับลงวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๕๒ รวมทั้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ออกประกาศกำหนดมูลค่าสุราใหม่
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ให้การว่า ผู้ฟ้องคดีไม่มีอำนาจฟ้องต่อศาลนี้เนื่องจากก่อนฟ้องคดีนี้ผู้ฟ้องคดีได้ใช้สิทธิฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ต่อศาลภาษีอากรกลาง ขอให้เพิกถอนประกาศกรมสรรพสามิต เรื่อง กำหนดมูลค่าของสุราที่ทำในราชอาณาจักรเพื่อถือเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษี พ.ศ. ๒๕๕๒ ลงวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๕๒ และเรียกค่าเสียหาย ซึ่งศาลภาษีอากรกลางได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๕๓ ตามคดีหมายเลขดำที่ ๒๓๐/๒๕๕๒ หมายเลขแดงที่ ๑๖๒/๒๕๕๓ ให้ยกฟ้อง เพราะการนำสืบพยานหลักฐานของผู้ฟ้องคดีรับฟังไม่ได้ว่าการออกประกาศกรมสรรพสามิตดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือได้ว่าผู้ฟ้องคดียอมรับเขตอำนาจของศาลภาษีอากรกลางแล้ว การออกประกาศกรมสรรพสามิตกำหนดมูลค่าของสุราที่ทำในราชอาณาจักรเพื่อถือเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษีนั้น เป็นการใช้อำนาจของอธิบดีกรมสรรพสามิตตามมาตรา ๘ จัตวา (๑) วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. ๒๔๙๓ โดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง การออกประกาศฉบับพิพาทจึงชอบด้วยกฎหมาย และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ก็ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลภาษีอากร (ศาลยุติธรรม) ตามมาตรา ๗ (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. ๒๕๒๘
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นหน่วยงานทางปกครอง ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและในฐานะเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๔๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ โดยหนังสือที่ ๕๙/๒๕๕๑ ลงวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ ของผู้ฟ้องคดีเป็นการปฏิบัติตามประกาศผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เรื่อง ให้แจ้งราคาขาย ณ โรงงานสุรา ลงวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๔๔ โดยข้อ ๔ กำหนดให้ในกรณีที่จะมีการเปลี่ยนแปลงราคาขาย ณ โรงงานสุรา สำหรับสุราชนิดหรือประเภทใด ๆ ให้แจ้งราคาขาย ณ โรงงานสุราสำหรับสุราที่จะเปลี่ยนแปลงใหม่ล่วงหน้าก่อนวันที่จะเปลี่ยนแปลงราคาไม่น้อยกว่า ๑๕ วัน เพื่อเสนอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ พิจารณาการขอปรับราคาขายเบียร์สิงห์ ณ โรงงานสุราของผู้ฟ้องคดี ส่วนหนังสือผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ กค ๐๖๑๕/๕๗๕ ลงวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๑ และที่ กค ๐๖๑๕/๙๘๑๗ ลงวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๕๒ ที่ออกโดยอธิบดีกรมสรรพสามิตข้าราชการในสังกัดผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยอนุมัติของรัฐมนตรีอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ จัตวา (๑) วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. ๒๔๙๓ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสุรา (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๓๔ พิจารณาและกำหนดมูลค่าราคาขาย ณ โรงงานสุรา สำหรับสุราแช่ชนิดเบียร์ ชื่อ สิงห์ แรงแอลกอฮอล์ ๕ ดีกรี แบบบรรจุขวด แบบบรรจุกระป๋อง และเบียร์สดบรรจุถัง ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของผู้ฟ้องคดี เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งมีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และผู้ฟ้องคดีที่มีผลกระทบต่อผู้ฟ้องคดีซึ่งมีหน้าที่เสียภาษี อันเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐได้อาศัยอำนาจตามมาตรา ๘ จัตวา (๑) วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. ๒๔๙๓ อันเป็นกฎหมายปกครอง มีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีกำหนดมูลค่าของสินค้าเพื่อใช้เป็นฐานในการคำนวณภาษีโดยคงราคาขาย ณ โรงงานสุรา ตามประกาศผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เรื่อง กำหนดมูลค่าของสุราที่ทำในราชอาณาจักรเพื่อถือเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษี ลงวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๔๖ และ ๗ พฤษภาคม ๒๕๕๒ เป็นขั้นตอนการดำเนินการของอธิบดีกรมสรรพสามิตโดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก่อนที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะทำการประเมินภาษีเพื่อแจ้งให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีชำระภาษีสรรพสามิตภายในกำหนดเวลาตามมาตรา ๗๙ และมาตรา ๘๑ ประกอบกับมาตรา ๕๐ แห่งพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. ๒๕๒๗ ซึ่งในกรณีผู้มีหน้าที่เสียภาษีไม่เห็นด้วยกับการกำหนดมูลค่าของสินค้าตามประกาศดังกล่าวย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ต่ออธิบดีกรมสรรพสามิตซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครองและผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ตามมาตรา ๔๔ และมาตรา ๔๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ประกอบกับข้อ ๒ (๔) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๔๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ กรณีตามคำฟ้องผู้ฟ้องคดีได้อุทธรณ์ไปยังผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้ออกคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๔๔ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองได้พิจารณาอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีแล้วตามมาตรา ๔๕ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ประกอบกับข้อ ๒ (๔) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๔๐) จึงไม่ใช่การพิจารณาอุทธรณ์คำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่หรือคณะกรรมการตามมาตรา ๘๖ และมาตรา ๘๙ แห่งพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. ๒๕๒๗ ที่จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลภาษีอากรตามนัยมาตรา ๗ (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. ๒๕๒๘ อีกทั้งคดีนี้มิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ค่าภาษีอากรหรือคดีพิพาทที่เกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามข้อผูกพันซึ่งได้ทำขึ้นเพื่อประโยชน์แก่การจัดเก็บภาษีอากร ตามมาตรา ๗ (๒) และ (๔) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว และมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการขอคืนค่าภาษีอากร หรือเป็นคดีที่มีกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลภาษีอากรตามมาตรา ๗ (๓) และ (๕) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน จึงมิใช่คดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลภาษีอากร ตามมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. ๒๕๒๘ เมื่อเหตุแห่งการฟ้องคดีกล่าวอ้างว่า คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และคำวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมและเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่สุจริต กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า มูลเหตุที่ผู้ฟ้องคดีฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเป็นคดีนี้ สืบเนื่องมาจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ออกประกาศ เรื่อง กำหนดมูลค่าของสุราที่ทำในราชอาณาจักรเพื่อถือเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษี ลงวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๔๖ และ ๗ พฤษภาคม ๒๕๕๒ ซึ่งประกาศดังกล่าวออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ จัตวา (๑) วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. ๒๔๙๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสุรา (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๓๔ ซึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าวในมาตรา ๘ จัตวา เป็นเรื่องในการคำนวณภาษีสุราตามมูลค่า โดยมาตรา ๘ จัตวา (๑) วรรคหนึ่ง กำหนดให้สุราที่ทำในราชอาณาจักรต้องเสียภาษีตามราคาขาย ณ โรงงานสุรารวมกับภาษีสุราที่พึงต้องชำระ และวรรคสอง เป็นกรณีที่ไม่มีราคาขาย ณ โรงงานสุรา หรือราคาขายมีหลายราคา ก็ให้ถือตามราคาที่อธิบดีประกาศตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง ส่วนวรรคสามได้กำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติมเพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีให้อธิบดีโดยอนุมัติรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศมูลค่าของสุราที่ทำในราชอาณาจักรเพื่อถือเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษีโดยกำหนดราคาขาย ณ โรงงานสุราในตลาดปกติ ดังนั้น การพิจารณาพิพากษาตามคำขอของผู้ฟ้องคดีนั้นจะต้องพิจารณาให้ได้ความก่อนว่าประกาศทั้งสองฉบับดังกล่าวเป็นประกาศที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งประกาศทั้งสองฉบับดังกล่าวเกี่ยวข้องโดยตรงกับฐานภาษีสุรา ซึ่งอธิบดีกรมสรรพสามิตโดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีอำนาจกำหนดมูลค่าของสุราที่ทำในราชอาณาจักรเพื่อเป็นฐานในการคำนวณภาษีให้แตกต่างไปจากราคาขาย ณ โรงงานสุรา ที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีแจ้งไว้ได้ แม้ประกาศทั้งสองฉบับดังกล่าวจะเป็นการออกโดยใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ก็ตาม แต่ก็ออกมาเพื่อกำหนดฐานภาษีอันเป็นผลสืบเนื่องจากการวินิจฉัยของเจ้าหน้าที่ซึ่งเห็นว่าราคาขาย ณ โรงงานสุรา ที่ผู้ฟ้องคดีแจ้งไว้เป็นราคาที่ไม่ถูกต้องหรือไม่มีเหตุอันควร จึงได้ทำการประเมินราคาเพิ่มขึ้นโดยออกเป็นประกาศทั้งสองฉบับดังกล่าว ถือได้ว่าการประเมินมูลค่าสุราเพื่อกำหนดราคาขาย ณ โรงงานสุรา เป็นส่วนหนึ่งของการประเมินภาษีรูปแบบหนึ่ง ซึ่งตามพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. ๒๔๙๓ ไม่ได้บัญญัติถึงวิธีประเมินไว้โดยเฉพาะ และการที่จะบังคับให้เป็นไปตามคำขอของผู้ฟ้องคดีที่ขอให้ผู้ฟ้องคดีสามารถผลิต บรรจุ และจำหน่ายเบียร์สิงห์ในราคาที่เปลี่ยนแปลงแตกต่างไปจากที่กำหนดไว้ในประกาศของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เรื่อง กำหนดมูลค่าของสุราที่ทำในราชอาณาจักรเพื่อถือเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษี พ.ศ. ๒๕๕๒ ลงวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๕๒ และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ออกประกาศกำหนดมูลค่าของสุราที่ทำในราชอาณาจักรเพื่อถือเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษีเสียใหม่นั้น จึงเป็นประเด็นหลักในการพิจารณาว่าประกาศ เรื่อง กำหนดมูลค่าของสุราที่ทำในราชอาณาจักรเพื่อเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษี ลงวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๔๖ และ ๗ พฤษภาคม ๒๕๕๒ เป็นประกาศหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และหากผู้ฟ้องคดีเห็นว่ามิชอบด้วยกฎหมายประสงค์จะฟ้องคดีต่อศาลย่อมเป็นการอุทธรณ์คำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานตามกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากร อันเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลภาษีอากร ตามมาตรา ๗ (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. ๒๕๒๘ ตามนัยคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๙/๒๕๔๘ ส่วนคำขอของผู้ฟ้องคดีที่ขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ และหนังสือของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ นั้น เป็นเรื่องความชอบในการปฏิบัติราชการทางปกครองของเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่ง และผู้พิจารณาคำอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ซึ่งเป็นประเด็นรอง เมื่อประเด็นหลักอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลภาษีอากร ดังนั้น ศาลปกครองจึงเป็นศาลที่ไม่มีเขตอำนาจเหนือคดีนี้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคสอง (๓) คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้สืบเนื่องมาจากว่า ผู้ฟ้องคดีขอปรับลดราคาขายเบียร์สิงห์ ณ โรงงานสุรา ทั้งแบบบรรจุขวด แบบบรรจุกระป๋อง และเบียร์สดบรรจุถังต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้คงขายราคาเดิม ตามประกาศกรมสรรพสามิต เรื่อง กำหนดมูลค่าของสุราที่ทำในราชอาณาจักรเพื่อถือเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษี ลงวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๔๖ และ ๗ พฤษภาคม ๒๕๕๒ ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์โต้แย้งว่าประกาศผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ดังกล่าวเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ยกอุทธรณ์โดยวินิจฉัยว่าประกาศดังกล่าวออกโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงฟ้องขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ให้ผู้ฟ้องคดีคงราคาขายเบียร์สิงห์ตามประกาศทั้งสองดังกล่าว และให้ผู้ฟ้องคดีสามารถผลิต บรรจุ และจำหน่ายเบียร์สิงห์ในราคาที่แตกต่างไปจากประกาศกรมสรรพสามิต ฉบับลงวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๕๒ รวมทั้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ออกประกาศกำหนดมูลค่าสุราใหม่ ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การว่า การออกประกาศกรมสรรพสามิตกำหนดมูลค่าของสุราในราชอาณาจักรเพื่อถือเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษีนั้น เป็นการใช้อำนาจของอธิบดีกรมสรรพสามิตตามมาตรา ๘ จัตวา (๑) วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. ๒๔๙๓ โดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง การออกประกาศฉบับพิพาทจึงชอบด้วยกฎหมาย และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ก็ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า ประกาศกรมสรรพสามิต เรื่อง กำหนดมูลค่าของสุราที่ทำในราชอาณาจักรเพื่อถือเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษี ลงวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๔๖ และ ๗ พฤษภาคม ๒๕๕๒ เป็นการออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ จัตวา (๑) วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. ๒๔๙๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสุรา (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๓๔ ซึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าวในมาตรา ๘ จัตวา (๑) วรรคหนึ่ง กำหนดให้สุราที่ทำในราชอาณาจักรต้องเสียภาษีตามราคาขาย ณ โรงงานสุรารวมกับภาษีสุราที่ต้องพึงชำระ และวรรคสอง เป็นกรณีที่ไม่มีราคาขาย ณ โรงงานสุรา หรือราคาขายมีหลายราคาก็ให้ถือตามราคาที่อธิบดีประกาศตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง ส่วนวรรคสามได้กำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติมเพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีให้อธิบดีโดยอนุมัติรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศมูลค่าของสุราที่มำในราชอาณาจักรเพื่อถือเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษีโดยกำหนดราคาขาย ณ โรงสุราในตลาดปกติ ประกาศทั้งสองฉบับดังกล่าวจึงเกี่ยวข้องโดยตรงกับ ฐานภาษีสุรา ซึ่งอธิบดีกรมสรรพสมามิตโดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีอำนาจกำหนดมูลค่าของสุราที่ทำในราชอาณาจักรเพื่อเป็นฐานในการคำนวณภาษีให้แตกต่างไปจากราคาขาย ณ โรงงานสุรา ที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีแจ้งไว้ได้ แม้ประกาศทั้งสองฉบับดังกล่าวจะเป็นการออกโดยใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ก็ตาม แต่ก็ออกมาเพื่อกำหนดฐานภาษีอันเป็นผลสืบเนื่องจากการวินิจฉัยของเจ้าหน้าที่ซึ่งเห็นว่าราคาขาย ณ โรงงานสุรา ที่ผู้ฟ้องคดีแจ้งไว้เป็นราคาที่ไม่ถูกต้องหรือไม่มีเหตุอันควร จึงได้ทำการประเมินราคาเพิ่มขึ้นโดยออกเป็นประกาศทั้งสองฉบับดังกล่าว ถือได้ว่าการประเมินมูลค่าสุรา เพื่อกำหนดราคาขาย ณ โรงงานสุรา เป็นส่วนหนึ่งของการประเมินภาษีรูปแบบหนึ่ง ซึ่งตามพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. ๒๔๙๓ ไม่ได้บัญญัติถึงวิธีประเมินไว้โดยเฉพาะ เมื่อผู้ฟ้องคดีฟ้องขอให้ผู้ฟ้องคดีสามารถผลิต บรรจุ และจำหน่ายเบียร์สิงห์ในราคาที่เปลี่ยนแปลงแตกต่างไปจากที่กำหนดไว้ในประกาศของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เรื่อง กำหนดมูลค่าของสุราที่ทำในราชอาณาจักรเพื่อถือเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษี พ.ศ. ๒๕๕๒ ลงวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๕๒ และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ออกประกาศกำหนดมูลค่าของสุราที่ทำในราชอาณาจักรเพื่อถือเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษีเสียใหม่นั้น อันเป็นการไม่เห็นด้วยกับการประเมินภาษีตามประกาศกรมสรรพสามิต เรื่อง กำหนดมูลค่าของสุราที่ทำในราชอาณาจักรเพื่อถือเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษี ลงวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๔๖ และ ๗ พฤษภาคม ๒๕๕๒ จึงย่อมเป็นการอุทธรณ์คำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานตามกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากร อันเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิจารณาพิพากษาของศาลภาษีอากร ตามมาตรา ๗ (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. ๒๕๒๘ และย่อมไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษา ของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคสอง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณา คดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างบริษัทปทุมธานี บริวเวอรี่ จำกัด ผู้ฟ้องคดี กรมสรรพสามิต ที่ ๑ นางเสาวนีย์ กมลบุตร ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท กฤษฎา เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(กฤษฎา เจริญพานิช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share