คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1641/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่จำเลยตั้งโรงงานแปรรูปไม้จำเลยต้องปฏิบัติตามกฎหมาย2ฉบับคือต้องขออนุญาตตั้งโรงงานตามพระราชบัญญัติโรงงานและเมื่อจำเลยใช้โรงงานดังกล่าวแปรรูปไม้จำเลยก็ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ.2484มาตรา48วรรคหนึ่งด้วยจำเลยได้รับอนุญาตให้ตั้งโรงงานตามพระราชบัญญัติโรงงานแต่เพียงอย่างเดียวโดยไม่ได้รับอนุญาตให้แปรรูปไม้จำเลยจึงมีความผิดฐานตั้งโรงงานแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาตและมีความผิดฐานแปรรูปไม้หวงห้ามตามกฎหมายโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ.2484มาตรา48 แม้ใบอนุญาตให้จำเลยประกอบกิจการโรงงานระบุว่าให้จำเลยแปรรูปไม้ได้ก็เป็นเพียงระบุกิจการของจำเลยไว้เท่านั้นและผู้อนุญาตก็ไม่ใช่เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจตามพระราชบัญญัติป่าไม้ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่โดยตรงใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานทำให้การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติโรงงานเท่านั้นแต่ไม่คุ้มให้จำเลยพ้นผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484มาตรา 4, 5, 6, 48, 73, 76 ทวิ พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 5)พ.ศ. 2518 มาตรา 19 พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2522มาตรา 4 พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2522 มาตรา 9พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2503 มาตรา 18ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และริบของกลาง
จำเลย ให้การ ปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ. 2484 มาตรา 73 วรรคหนึ่ง เรียงกระทงลงโทษ ฐานตั้งโรงงานแปรรูปไม้ จำคุก 1 ปี ปรับ 10,000 บาท ฐานแปรรูปไม้จำคุก 1 ปี ปรับ 9,000 บาท ฐานมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครอง จำคุก 1 ปีปรับ 8,000 บาท รวมจำคุก 3 ปี ปรับ 27,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปีปรับ 18,000 บาท ไม่ปรากฎว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อนเพื่อให้จำเลยประพฤติตนเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกเห็นควรรอการลงโทษไว้ 2 ปี ของกลางริบ จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปมีว่า จำเลยกระทำความผิดฐานตั้งโรงงานแปรรูปไม้และแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ ซึ่งจำเลยอ้างเหตุว่าในการตั้งโรงงานแปรรูปไม้ จำเลยได้รับอนุญาตจากปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมหรือผู้ซึ่งปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมมอบหมายแล้ว ปรากฎตามใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานเอกสารหมาย ล.3 และเมื่อได้รับอนุญาตแล้ว จำเลยย่อมมีสิทธิแปรรูปไม้ได้ตามใบอนุญาต อันเป็นปัญหาข้อกฎหมายในการวินิจฉัยปัญหานี้ศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนว่าจำเลยได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานตามเอกสารหมาย ล.3แต่ไม่ได้รับใบอนุญาตให้ตั้งโรงงานแปรรูปไม้ และจำเลยได้แปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาตจริง เห็นว่า การที่จำเลยตั้งโรงงานแปรรูปไม้นั้นจำเลยต้องปฏิบัติตามกฎหมาย 2 ฉบับ คือ ต้องขออนุญาตตั้งโรงงานตามพระราชบัญญัติโรงงาน นอกจากนี้เมื่อจำเลยใช้โรงงานดังกล่าวแปรรูปไม้ จำเลยก็ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484มาตรา 48 วรรคหนึ่งด้วย ซึ่งบัญญัติเป็นใจความว่า ภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ ห้ามมิให้ผู้ใดแปรรูปไม้ตั้งโรงงานแปรรูปไม้ ฯลฯเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่และต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดในกฎกระทรวงและในการอนุญาต เมื่อจำเลยได้รับอนุญาตให้ตั้งโรงงานตามพระราชบัญญัติโรงงานแต่เพียงอย่างเดียว จำเลยจึงมีความผิดฐานตั้งโรงงานแปรรูปไม้ โดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 48 ส่วนเรื่องการแปรรูปไม้นั้นตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 48 บัญญัติไว้ว่าในเขตการควบคุมการแปรรูปไม้ ห้ามมิให้ผู้ใดแปรรูปไม้ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อจำเลยแปรรูปไม้หวงห้ามตามกฎหมายโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยจึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 48 ส่วนใบอนุญาตให้จำเลยประกอบกิจการโรงงานตามเอกสารหมาย ล.3 นั้น แม้ระบุว่าให้จำเลยแปรรูปไม้ได้ก็เป็นเพียงระบุกิจการของจำเลยไว้เท่านั้น และผู้อนุญาตก็ไม่ใช่เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจตามพระราชบัญญัติป่าไม้ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจโดยตรง ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานตามเอกสารหมาย ล.3 ทำให้การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติโรงงานเท่านั้นแต่ไม่คุ้มให้จำเลยพ้นผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ได้ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน

Share