คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2410/2521

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ตาม พระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย อาณาบริเวณที่เป็นเขตควบคุมบำรุงรักษาของการท่าเรือ ต้องกำหนดโดยพระราชกฤษฎีกามีแผนที่แสดงไว้โดยชัดแจ้ง ฟ้องบรรยายเพียงว่าเหตุเกิดรถชนกันบนถนนการท่าเรือ ไม่ชัดพอว่าอยู่ภายในบริเวณการท่าเรือ จึงลงโทษตาม พระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทยไม่ได้ ปัญหาข้อนี้แม้จำเลยไม่อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ก็ยกขึ้นวินิจฉัยเองได้

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390จำคุก 15 วัน ปรับ 1,000 บาท เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังตามมาตรา 23 ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2477 มาตรา 29(4), 66 เท่านั้น ปรับ 500 บาท โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ปัญหาต่อมาที่ว่า เหตุเกิดอยู่ภายในอาณาบริเวณของการท่าเรือแห่งประเทศไทยหรือไม่ พิเคราะห์แล้วตามพระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2499 มาตรา 3ให้ความหมายของ “อาณาบริเวณ” ไว้ว่า “เขตซึ่งอยู่ในความควบคุม และการบำรุงรักษาของการท่าเรือแห่งประเทศไทยทั้งทางบกและทางน้ำ” และมาตรา 5 ให้เพิ่มเป็นมาตรา 8 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทยพ.ศ. 2494 ว่า “มาตรา 8 ทวิ อาณาบริเวณให้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาและให้มีแผนที่แสดงอาณาบริเวณท้ายพระราชกฤษฎีกานั้นด้วย แผนที่นั้นให้ถือว่าเป็นส่วนแห่งพระราชกฤษฎีกา” และกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2512)ออกตามความในพระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 ข้อ 1กำหนดให้ผู้ขับรถหรือใช้ทางภายในอาณาบริเวณของการท่าเรือแห่งประเทศไทยปฏิบัติอย่างเดียวกับ การใช้ทางตามกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก ข้อ 2ให้เป็นหน้าที่ของผู้อำนวยการท่าเรือแห่งประเทศไทยจัดให้มีการขีดเส้นบนทางทำเครื่องหมายอื่นใดเกี่ยวกับการจราจรภายในอาณาบริเวณการท่าเรือนั้นด้วยซึ่งหมายความว่า อาณาเขตภายในบริเวณการท่าเรือแห่งประเทศไทยตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวเป็นเขตที่อยู่ในความควบคุม การบำรุงรักษาของการท่าเรือ และจะต้องมีการกำหนดอาณาบริเวณ มีแผนที่แสดงอาณาบริเวณไว้โดยชัดแจ้ง เพื่อให้ผู้ที่ใช้เส้นทางจราจรภายในอาณาบริเวณของการท่าเรือได้ทราบและถือปฏิบัติตาม แต่ข้อความตามคำบรรยายฟ้องเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยตามพระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้ความแต่เพียงว่า เหตุเกิดบนถนนการท่าเรือจากทางกรมศุลกากรมุ่งหน้าไปทางถนนพระราม 4 โดยไม่ปรากฏแจ้งชัดว่าที่เกิดเหตุอยู่ภายในอาณาบริเวณของการท่าเรือแห่งประเทศไทยหรือไม่ จึงเป็นฟ้องที่ขาดองค์ประกอบของการกระทำผิด ศาลจะอาศัยคำบรรยายฟ้องดังกล่าวมาปรับบทลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทยหาได้ไม่ อนึ่งแม้จำเลยมิได้อุทธรณ์คัดค้านปัญหาข้อนี้ไว้ ศาลก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ไม่เป็นการต้องห้ามตามกฎหมายแต่อย่างใด”

พิพากษายืน

Share