คำวินิจฉัยที่ 34/2547

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๓๔/๒๕๔๗

วันที่ ๗ กรกฏาคม ๒๕๔๗

เรื่อง อำนาจศาลเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดสงขลา
ระหว่าง
ศาลปกครองสงขลา

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดสงขลาโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจของศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและรับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
นางสาวสุจีรา แซ่ตั้ง ที่ ๑ กับพวกรวม ๕ คน ยื่นฟ้องกระทรวงมหาดไทย ที่ ๑ กับพวกรวม ๗ คน จำเลย ต่อศาลจังหวัดสงขลา เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๒๘๔/๒๕๔๖ที่ ๒๙๗/๒๕๔๖ที่๒๙๘/๒๕๔๖ ที่ ๒๙๙/๒๕๔๖ และ ที่ ๓๐๒/๒๕๔๖ (ต่อมา คู่ความแถลงร่วมกันว่า ขอให้นำคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๒๙๗/๒๕๔๖ ที่ ๒๙๘/๒๕๔๖ ที่ ๒๙๙/๒๕๔๖ และที่ ๓๐๒/๒๕๔๖รวมการพิจารณาเข้ากับคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๒๘๔/๒๕๔๖ เพื่อความสะดวกแก่การพิจารณา ซึ่งศาลจังหวัดสงขลามีคำสั่งอนุญาต) ในคดีพิพาทอันเกิดจากการที่ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมได้ขอรังวัดออกโฉนดที่ดินตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมจัดหาผลประโยชน์ในที่ดินของรัฐในท้องที่ตำบลฉลุง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ลงวันที่ ๓ เมษายน๒๕๓๘ ซึ่งต่อมา กระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง ขายที่ดินรกร้างว่างเปล่า บริเวณตำบลฉลุง อำเภอหาดใหญ่จังหวัดสงขลา ให้แก่นิคมอุตสาหกรรม ลงวันที่ ๔กรกฎาคม ๒๕๓๘ เมื่อทำการรังวัดแล้วได้เนื้อที่๒,๒๕๘-๐-๒๑.๒ ไร่ ซึ่งโจทก์กับพวกได้คัดค้านการออกโฉนดที่ดินดังกล่าว โดยอ้างว่า ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมนำรังวัดทับที่ดินที่ผู้คัดค้านเป็นเจ้าของและมีสิทธิครอบครองที่ดิน ซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสงขลา สาขาหาดใหญ่ ได้ทำการสอบสวนเปรียบเทียบตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๖๐เห็นว่า ที่ดินที่ได้มีการขอออกโฉนดเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน จึงมีคำสั่งเปรียบเทียบว่า ให้ออกโฉนดที่ดินให้แก่ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมตามที่ได้นำรังวัดไว้ หากผู้คัดค้านไม่พอใจให้ไปฟ้องศาลภายในกำหนดหกสิบวันนับแต่วันรับทราบคำสั่ง โจทก์กับพวกรวม ๕ คน จึงยื่นฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดสงขลาสรุปข้อเท็จจริงได้ดังนี้
๑. คดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๒๘๔/๒๕๔๖ และที่ ๓๐๒/๒๕๔๖
นางสาวสุจีรา แซ่ตั้ง (คดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๒๘๔/๒๕๔๖) นายสมิต สมิตชัยจุฬารัตน์(คดีแพ่งหมายเลขดำ ที่ ๓๐๒/๒๕๔๖) โจทก์ โดยนายจรูญ ฉุ้นประดับ ทนายความ ยื่นฟ้องกระทรวงมหาดไทย ที่ ๑ กระทรวงอุตสาหกรรมที่ ๒ สำนักงานที่ดินจังหวัดสงขลา สาขาหาดใหญ่ที่๓จำเลย อ้างว่า การดำเนินการรังวัดออกโฉนดให้แก่ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมไม่ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย เนื่องจากที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๓๘ และประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ลงวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๓๘ เป็นที่ดินที่โจทก์เป็นเจ้าของและครอบครองทำประโยชน์ตลอดมา มิได้ตกเป็นที่ดินว่างเปล่า ทั้งจำเลยที่๒ ได้ให้เจ้าหน้าที่ไปทำการรื้อถอนพืชไร่และสิ่งปลูกสร้างของโจทก์และบุคคลอื่นได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลพิพากษาว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์และเพิกถอนประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับลงวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๓๘ และประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ลงวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๓๘ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งห้ามจำเลยเข้ายุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาท และให้เพิกถอนคำขอออกโฉนดที่ดินในที่ดินพิพาท ห้ามออกโฉนดที่ดินให้แก่จำเลยที่ ๒ และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ด้วย
๒. คดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๒๙๗/๒๕๔๖ ที่ ๒๙๘/๒๕๔๖ และที่ ๒๙๙/๒๕๔๖
นายบุญช่วย สวนใจเย็น (คดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๒๙๗/๒๕๔๖) นางอุไร แซ่ลิ่ม(คดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๒๙๘/๒๕๔๖) นางอาม่วย แซ่เจียง (คดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๒๙๙/๒๕๔๖)โจทก์โดยนายชำนาญ จันทรเกษมพร ทนายความ ยื่นฟ้องการนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ ที่ ๑ ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่ ๒ กระทรวงมหาดไทย ที่ ๓ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ ๔กระทรวงอุตสาหกรรม ที่ ๕ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ ๖จำเลย อ้างว่า การที่จำเลยที่ ๑โดยคำสั่งของจำเลยที่ ๒ นำคนงานและรถแทรคเตอร์เข้าไปดันรั้วและโค่นต้นไม้ที่ดินที่โจทก์มีสิทธิครอบครองและทำประโยชน์ตลอดมาเป็นการละเมิดต่อโจทก์ประกาศกระทรวงมหาดไทย ฉบับลงวันที่๓ เมษายน ๒๕๓๘ และประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมลงวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๓๘ ที่ออกโดยจำเลยที่๓ ถึงที่ ๖ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ใช้บังคับไม่ได้ และกระทบสิทธิในที่ดินของโจทก์ เนื่องจากจำเลยที่ ๓และที่ ๔ กระทำการโดยไม่มีอำนาจตามกฎหมายกล่าวคือ จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ไม่ได้เป็นเจ้าของหรือเป็นผู้ดูแลที่ดินแปลงดังกล่าวซึ่งในเรื่องนี้ได้มีคำพิพากษาฎีกาที่ ๓๑๙๕/๒๕๓๘ วินิจฉัยว่า ที่ดินบริเวณที่จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ประกาศมอบให้จำเลยที่ ๕ และที่ ๖ จัดหาผลประโยชน์เป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา ๘ และไม่เคยมีการเพิกถอนสภาพที่ดินดังกล่าว ที่ดินพิพาทจึงไม่ใช่ที่ดินรกร้างว่างเปล่า แต่เป็นที่ราชพัสดุที่อยู่ในความดูแลของกรมธนารักษ์ สังกัดกระทรวงการคลัง ซึ่งกรมธนารักษ์ได้ขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุแล้ว เมื่อจำเลยที่ ๓ ได้มีหนังสือถึงคณะกรรมการกฤษฎีกาขอให้วินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับสถานะทางกฎหมายของที่ดินบริเวณดังกล่าวว่าจะเป็นสาธารณสมบัติแผ่นดินประเภทใด และคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่า ที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามมาตรา ๑๓๐๔ (๑) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีอำนาจมอบหมายให้ทบวงการเมืองอื่นไปจัดหาผลประโยชน์ได้ตามมาตรา ๑๑แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน โดยจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๖ ได้ดำเนินการตามข้อวินิจฉัยดังกล่าว จึงไม่เป็นการถูกต้องเพราะขัดกับคำพิพากษาฎีกาที่ ๓๑๙๕/๒๕๓๘ ขอให้ศาลพิพากษาขับไล่จำเลยที่ ๑และที่ ๒ ออกไปจากที่ดินของโจทก์ ขอให้พิพากษาเพิกถอนประกาศของจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๖ และขอให้จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๖ ร่วมกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ด้วย
จำเลยให้การว่า ที่ดินหมู่ ๔ ตำบลฉลุง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เนื้อที่๒,๒๗๑ ไร่๓๗ ตารางวา เป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินไม่ใช่ที่ดินที่โจทก์มีสิทธิครอบครองตามที่โจทก์กล่าวอ้างที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินรกร้างว่างเปล่าซึ่งเดิมอยู่ในเขตพื้นที่ประทานบัตรขององค์การเหมืองแร่ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การเหมืองแร่ พ.ศ. ๒๕๒๐ ซึ่งสืบสิทธิต่อเนื่องมาจากกรมโลหกิจตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๖ จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๕๒๘ ได้มีการตราพระราชกฤษฎีกายกเลิกพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การเหมืองแร่ พ.ศ. ๒๕๒๐ อันมีผลเป็นการยุบเลิกองค์การเหมืองแร่ ที่พิพาทจึงกลับสู่สภาพเดิมคือ เป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๐๔ (๑) ซึ่งจำเลยที่ ๓ มีอำนาจตามมาตรา ๑๑ แห่งประมวลกฎหมายที่ดินที่จะมอบให้ทบวงการเมืองอื่นไปจัดหาประโยชน์ได้ จำเลยที่ ๓ มิได้กระทำการใดอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ การที่โจทก์บุกรุกเข้ามาครอบครองทำประโยชน์และเสียภาษีบำรุงท้องที่ในที่ดินพิพาทไม่ทำให้โจทก์ได้กรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองเหนือที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินแต่อย่างใด ทั้งนี้ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสงขลา สาขาหาดใหญ่ ได้ทำการสอบสวนเปรียบเทียบแล้วมีความเห็นว่า การได้มาในที่ดินของโจทก์นั้นเป็นการได้มาในภายหลังจากที่ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมผู้ขอออกโฉนดที่ดิน ซึ่งครอบครองมาก่อนโดยสืบสิทธิต่อจากกรมโลหกิจตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๖ ดังนั้นปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมจึงเป็นผู้ขอออกโฉนดที่ดินที่มีหลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินและการครอบครองดีกว่าโจทก์ จึงมีคำสั่งให้ออกโฉนดที่ดินให้แก่ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม หากผู้คัดค้านไม่พอใจให้ไปฟ้องศาลภายในกำหนดหกสิบวันนับแต่วันรับทราบคำสั่ง ส่วนที่โจทก์กล่าวอ้างว่าคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกาขัดกับคำพิพากษาฎีกานั้น จำเลยให้การว่าคำวินิจฉัยและคำพิพากษาฎีกาดังกล่าวมิได้ขัดกัน เพราะต่างก็มีความเห็นตรงกันว่า ที่ดินหมู่ที่ ๔ ตำบลฉลุง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ถึงแม้จะแตกต่างกันบ้างในรายละเอียดก็ไม่ทำให้ที่ดินอันเป็นที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติแผ่นดินตกกลับเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ไปได้
อนึ่ง จำเลยโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องว่า ชอบที่ศาลจะได้เพิกถอนการประกาศกระทรวงมหาดไทยเป็นการไม่ชอบ และขอเพิกถอนประกาศกระทรวงมหาดไทย ฉบับลงวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๓๘ และเพิกถอนการรังวัดโฉนดที่ดินแปลงพิพาทของจำเลย และคำขอท้ายฟ้องโจทก์ก็ขอให้ศาลเพิกถอนประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ลงวันที่ ๔กรกฎาคม ๒๕๓๘ ซึ่งประกาศดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๙วรรคหนึ่ง(๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ จึงอยู่ในอำนาจของศาลปกครองที่จะพิจารณาพิพากษาคดีนี้
ศาลจังหวัดสงขลาเห็นว่า ในคดีหมายเลขดำที่ ๒๘๔/๒๕๔๖ และที่ ๓๐๒/๒๕๔๖โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยทั้งสามเกี่ยวเนื่องด้วยคดีข้อพิพาทอันเกี่ยวกับหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยออกประกาศกระทรวงมหาดไทย ฉบับลงวันที่ ๓เมษายน ๒๕๓๘ และประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ลงวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๓๘ ซึ่งคำสั่งดังกล่าวนั้นเป็นคำสั่งหรือการกระทำอื่นใดซึ่งโจทก์กล่าวอ้างว่ากระทำโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนที่โจทก์ทั้งสองสำนวนขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งห้ามไม่ให้จำเลยเข้ามายุ่งเกี่ยวในที่ดินพิพาทนั้นก็เป็นคำขออุปกรณ์ต่อเนื่องจากการที่จำเลยนั้นได้ออกประกาศหรือคำสั่งหรือการกระทำอื่นใดโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งต้องพิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในส่วนดังกล่าวก่อนดังนั้น คำขอประธานจึงจะต้องพิจารณาว่า ประกาศทั้ง ๒ ฉบับนั้นได้ออกโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นอกจากนี้ โจทก์ทั้งสองได้ฟ้องคดีซึ่งมีมูลพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าพนักงานที่ดิน ซึ่งเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ดังนั้น การฟ้องคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใด เนื่องจากกระทำโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ หรือคำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองในการพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๙ (๑) (๓) โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามต่อศาลจังหวัดสงขลา
สำหรับคดีหมายเลขดำที่ ๒๙๗/๒๕๔๖ ที่ ๒๙๘/๒๕๔๖ ที่ ๒๙๙/๒๕๔๖ เห็นว่าสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสามสำนวน จะต้องพิจารณาเสียก่อนว่าประกาศของจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๖ ไม่มีผลใช้บังคับเพราะเป็นประกาศที่มิชอบด้วยกฎหมายก่อนหรือไม่ แล้วจึงจะพิจารณาในส่วนคำขอที่จะให้พิพากษาขับไล่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ออกไปจากที่ดินของโจทก์ได้หรือไม่ ดังนั้น จึงเป็นการกล่าวอ้างว่าหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมายในการออกคำสั่งหรือกระทำการใด เนื่องจากการกระทำโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่ หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอน หรือเป็นการใช้ดุลพินิจไม่ชอบ และการที่จำเลยที่ ๑ โดยคำสั่งของจำเลยที่ ๒ได้นำคนงานและรถแทรกเตอร์เข้าไปดันรั้วและโค่นต้นไม้ในสวนของโจทก์ทั้งสามสำนวนนั้น ก็เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครอง ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองในการพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙(๑)(๓) โจทก์ทั้งสามสำนวนดังกล่าวจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งหกต่อศาลจังหวัดสงขลา
ศาลปกครองสงขลาเห็นว่า แม้ว่าคู่ความฝ่ายหนึ่งในคดีพิพาททั้ง ๕ คดี เป็นหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามนัยของมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาสาระสำคัญของคำฟ้องและคำขอของโจทก์แล้วจะเห็นได้ว่า โจทก์โต้แย้งจำเลยว่าไม่มีสิทธินำเอาที่ดินของโจทก์ไปจัดหาผลประโยชน์โดยออกเป็นประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมจัดหาผลประโยชน์ในที่ดินของรัฐในท้องที่ตำบลฉลุง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ลงวันที่ ๓เมษายน ๒๕๓๘ และออกเป็นประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง ขายที่ดินรกร้างว่างเปล่าบริเวณเหมืองฉลุง ตำบลฉลุง อำเภอหาดใหญ่จังหวัดสงขลา ให้แก่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยลงวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๓๘ อันเป็นการรบกวนสิทธิของโจทก์ และขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินพิพาทในส่วนที่โจทก์ครอบครองและทำประโยชน์อยู่เป็นของโจทก์ รวมทั้งกล่าวหาว่าจำเลยกระทำละเมิดบุกรุก ขอให้ขับไล่และห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับที่ดินดังกล่าวด้วย จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินว่าเป็นของโจทก์หรือเป็นที่ดินของรัฐที่จำเลยสามารถนำไปจัดหาผลประโยชน์ได้ตามมาตรา ๑๑ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เพราะหากเป็นที่ดินของโจทก์แล้ว จำเลยโดยกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงอุตสาหกรรมก็ไม่สามารถนำไปจัดหาผลประโยชน์โดยออกเป็นประกาศสองฉบับดังกล่าว นอกจากนี้ ยังปรากฏข้อเท็จจริงในสำนวนคดีนี้ว่า เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสงขลา สาขาหาดใหญ่ ได้ออกคำสั่งสำนักงานที่ดินจังหวัดสงขลา สาขาหาดใหญ่ ที่ ๓๐/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๔๕ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๖๐ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ให้ออกโฉนดที่ดินแปลงพิพาทให้แก่ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม (เพื่อประโยชน์ในการจัดหาผลประโยชน์ในที่ดินของรัฐตามมาตรา ๑๑ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน) ตามที่ได้นำรังวัดไว้เนื้อที่๒,๒๕๘-๐-๒๑.๒ ไร่หากโจทก์ซึ่งเป็นผู้คัดค้านการรังวัดออกโฉนดที่ดินแปลงนี้ไม่พอใจคำสั่งนี้ก็ให้ไปฟ้องศาลภายในหกสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง ซึ่งโจทก์และพวกรวม ๕ คน ก็ได้นำเรื่องดังกล่าวมายื่นฟ้องเป็นคดีแพ่งรวม ๕สำนวน ต่อศาลจังหวัดสงขลา ในวันที่ ๑๐ และ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ดังนั้น เมื่อสาระสำคัญของคดีทั้ง๕ สำนวนเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน แม้ว่าจะมีคำขอให้เพิกถอนประกาศกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงอุตสาหกรรมดังกล่าวมาด้วยก็ตาม คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม(ศาลจังหวัดสงขลา) ตามนัยคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ที่ ๔/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๑๓กุมภาพันธ์๒๕๔๕ ศาลปกครองสงขลาไม่มีอำนาจรับคดีทั้ง ๕ สำนวนไว้พิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งได้ศาลปกครองสงขลาเห็นว่า คดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๒๘๔/๒๕๔๖ ที่ ๒๙๗/๒๕๔๖ ที่ ๒๙๘/๒๕๔๖ ที่๒๙๙/๒๕๔๖ และ ที่ ๓๐๒/๒๕๔๖ ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม (ศาลจังหวัดสงขลา)

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่จะต้องพิจารณา การพิจารณาวินิจฉัยเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คดีนี้สรุปข้อเท็จจริงตามคำฟ้องจากคดีทั้งห้าสำนวนได้ว่า โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของและครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิบริเวณ หมู่ที่ ๔ ตำบลฉลุง อำเภอหาดใหญ่จังหวัดสงขลา ฟ้องจำเลยซึ่งเป็นฝ่ายปกครองว่า การรังวัดออกโฉนดที่ดินตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมจัดหาผลประโยชน์ในที่ดินของรัฐในท้องที่ตำบลฉลุงอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ลงวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๓๘ และประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง ขายที่ดินรกร้างว่างเปล่า บริเวณตำบลฉลุง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ให้แก่นิคมอุตสาหกรรม ลงวันที่๔ กรกฎาคม ๒๕๓๘ เป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องกล่าวอ้างว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์จากการสั่งให้คนงานและรถแทรคเตอร์เข้าไปดันรั้วและโค่นต้นไม้ในที่ดินของโจทก์ และประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๓๘ และประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ลงวันที่ ๔กรกฎาคม ๒๕๓๘ เป็นประกาศที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนประกาศทั้งสองฉบับดังกล่าว แต่เมื่อโจทก์อ้างว่า ความไม่ชอบด้วยกฎหมายของประกาศทั้งสองฉบับเป็นไปเพราะที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ มิได้เป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่า จำเลยไม่มีสิทธินำที่ดินของโจทก์ไปจัดหาผลประโยชน์โดยออกเป็นประกาศสองฉบับดังกล่าว ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยยุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาทให้เพิกถอนคำขอออกโฉนดที่ดินในที่ดินพิพาท ให้พิพากษาขับไล่จำเลยออกไปจากที่ดินของโจกท์จึงเป็นกรณีที่โจทก์มุ่งประสงค์ให้ศาลมีคำพิพากษารับรองและคุ้มครองสิทธิในที่ดินของโจทก์ ทั้งจำเลยให้การต่อสู้ว่า การกระทำของจำเลยเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย เพราะที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ไม่ใช่ที่ดินที่โจทก์มีสิทธิครอบครองตามที่โจทก์กล่าวอ้าง คู่ความคดีนี้จึงยังโต้แย้งกันเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทว่า เป็นที่ดินของโจทก์หรือที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือไม่แล้วจึงจะพิจารณาได้ว่าจำเลยกระทำละเมิดและประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๓๘ และประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ลงวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๓๘ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จึงเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินอันเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินของบุคคล ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า การพิจารณาวินิจฉัยเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ระหว่าง นางสาวสุจีรา แซ่ตั้ง ที่ ๑ กับพวก รวม ๕ คน โจทก์ กระทรวงมหาดไทย ที่ ๑ กับพวก รวม ๗ คน จำเลยอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ซึ่งในคดีนี้ได้แก่ ศาลจังหวัดสงขลา

(ลงชื่อ) อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ (ลงชื่อ) เฉลิมชัย เกษมสันต์
(นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ) (หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท อัฏฐพร เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(อัฏฐพร เจริญพานิช) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share