แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อหนี้ที่โจทก์เรียกร้องมีมูลมาจากการทำละเมิด โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้คืนทรัพย์สินอันต้องเสียไปเพราะละเมิดหรือให้ใช้ราคาทรัพย์นั้น การที่จำเลยได้ทำหนังสือไว้ต่อโจทก์มีใจความว่ายอมจะใช้ราคาทรัพย์สินที่เสียหาย ดังนี้ ถือได้ว่าหนังสือดังกล่าวเป็นเพียงหนังสือที่จำเลยผู้เป็นลูกหนี้ยอมรับสภาพต่อโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง ไม่เป็นหนังสือสัญญาประนีประนอมยอมความเพราะไม่มีข้อความที่แสดงว่าผู้ทำหนังสือดังกล่าวระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่หรือจะมีขึ้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยรับจ้างเหมาจากกรมทางหลวงให้สร้างและขยายแนวเขตทางหลวงสายชลบุรี – บ้านบึง แล้วคนงานของจำเลยทำให้เสาโทรเลขและอุปกรณ์ของโจทก์เสียหายและสูญหาย เป็นการกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย ๗๓,๕๒๙.๒๑ บาทพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง
จำเลยให้การว่า เสาโทรเลขเสียหายเพียง ๓๐ ต้น ค่าเสียหาย ๒๑,๐๐๐บาท และโจทก์จำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายตามฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย ๒๐,๗๔๙.๓๗ บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๒๒ จำเลยรับจ้างเหมาสร้างและขยายทางหลวงจังหวัดสายชลบุรี – บ้านบึง ในการสร้างและขยายทางดังกล่าวคนงานของจำเลยได้ใช้รถแทรกเตอร์ดันต้นไม้ข้างทางล้มเกี่ยวสายโทรเลขของโจทก์ ทำให้เสาโทรเลขล้มหักเสียหาย และใช้รถดันเสาโทรเลขออกนอกเขตทางที่สร้างและขยาย และใช้รถขุดดินทับเสาโทรเลขของโจทก์ที่วางไว้ข้างทางเตรียมจะปักใหม่หลายต้น เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๒๔ ผู้ว่าการการสื่อสารแห่งประเทศไทยแต่งตั้งนายวาทิน ลาภสมทบ นายสมควรพรหมสาขา ณ สกลนคร และนายบัณฑิต เภตระกูล พนักงานของโจทก์เป็นกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและหาตัวผู้รับผิดหรือร่วมรับผิดทางแพ่ง ต่อมาคณะกรรมการดังกล่าวได้รายงานว่าเสาโทรเลขขาดหายไป ๗๑ ต้น เสาโทรเลขที่ถูกถอนและหักชำรุดทิ้งไว้ข้างทาง ๒๘ ต้น (โจทก์ฟ้องว่า ๒๔ ต้น) เสาค้ำยันขนาด ๗ เมตรหักชำรุด ๕ ต้น กางเขนขนาด ๔ ลูกถ้วยขาดหายไป ๑๒๔ อัน ก้านตรงต้นลูกถ้วยขาดหายไป ๑๒๔ อัน ลูกถ้วยกระเบื้องขาดหายไป ๑๒๔ลูก จำเลยจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ทั้งหมดผู้ว่าการการสื่อสารแห่งประเทศไทยทราบรายงานของคณะกรรมการเมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๒๔ ปรากฏตามรายงานของกองนิติการเอกสารหมายจ.๒
ที่โจทก์ฎีกาว่าขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงิน ๗๓,๕๒๙.๒๑ บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้นศาลฎีกาเชื่อตามคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและหาตัวผู้รับผิดหรือร่วมรับผิดทางแพ่งว่า ทรัพย์สินของโจทก์ที่สูญหายและเสียหายมีจำนวนดังที่โจทก์กล่าวในคำฟ้อง ส่วนราคาทรัพย์สินนั้นปรากฏตามสำเนาหนังสือสั่งซื้อของกองทรัพย์สินและพัสดุการสื่อสารแห่งประเทศไทย เอกสารหมาย จ.๑๑ ถึงจ.๑๔ โดยจำเลยมิได้นำสืบเป็นอย่างอื่น ศาลฎีกาจึงกำหนดราคาในการคำนวณค่าเสียหายให้โจทก์ดังที่โจทก์ขอมา แต่ที่โจทก์ฟ้องว่าเสาโทรเลขหักชำรุด ๒๔ ต้น ราคาต้นละ ๖๒๘.๖๔ บาท เป็นเงิน๑๗,๖๐๑.๙๒ บาท นั้นไม่ถูกต้องที่ถูกต้องเป็นเงิน ๑๕,๐๘๗.๓๖บาท รวมค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยต้องรับผิดทุกรายการเป็นเงิน ๗๑,๐๑๔.๖๕ บาท
ที่จำเลยแก้ฎีกาว่า เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๒๔ โจทก์จำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันว่า จำเลยยอมรับผิด ๒๑,๐๐๐ บาท ตามเอกสารหมาย ล.๗ โดยโจทก์ได้เชิดนายวาทินเป็นตัวแทน หรือยอมให้นายวาทินเชิดตัวเองเป็นตัวแทนโจทก์ในการทำสัญญา นายชิตผู้จัดการสนามเป็นผู้ทำสัญญาแทนจำเลย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดตามจำนวนที่โจทก์กล่าวอ้าง นั้น ปรากฏว่าเอกสารหมาย ล.๗ เป็นบันทึกคำให้การของนายชิตที่ให้การต่อคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและหาตัวผู้รับผิดหรือร่วมรับผิดในทางแพ่งที่ผู้ว่าการการสื่อสารแห่งประเทศไทยแต่งตั้ง เพื่อหารายละเอียดเกี่ยวกับความเสียหายที่โจทก์ได้รับและหาตัวผู้ต้องรับผิด นายชิตลงลายมือชื่อโดยระบุฐานะว่าผู้ให้สัญญา นายวาทินกรรมการคนหนึ่งในคณะกรรมการดังกล่าวลงลายมือชื่อโดยระบุฐานะว่าผู้รับสัญญาเอกสารฉบับนี้มีใจความว่า นายชิตยอมรับว่าในการสร้างทางสายชลบุรี – บ้านบึง จำเลยทำให้เสาโทรเลขของโจทก์หัก ๓๐ ต้น โจทก์คิดราคาต้นละ ๗๐๐บาท จำเลยจะใช้เงินให้ ๒๑,๐๐๐ บาท เมื่อโจทก์เรียกร้องพิเคราะห์ใจความในเอกสารหมาย ล.๗ แล้ว เห็นว่า หนี้ที่โจทก์เรียกร้องมีมูลมาจากการทำละเมิด โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องให้คืนทรัพย์สินอันต้องเสียไปเพราะละเมิดหรือใช้ราคาทรัพย์สินนั้น เมื่อนายชิตทำหนังสือยอมจะใช้ราคาทรัพย์สินของโจทก์ที่สูญหายและเสียหาย เอกสารฉบับนี้จึงเป็นเพียงหนังสือที่ฝ่ายจำเลยผู้เป็นลูกหนี้ยอมรับสภาพต่อโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง หาใช่หนังสือสัญญาประนีประนอมยอมความไม่เพราะไม่มีข้อความที่แสดงว่าผู้ทำเอกสารฉบับนี้ระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่หรือจะมีขึ้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันเอกสารฉบับนี้จึงมิใช่หนังสือสัญญาประนีประนอมยอมความ ดังนั้นจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าในการทำเอกสารฉบับนี้โจทก์เชิดนายวาทินเป็นตัวแทน หรือยอมให้นายวาทินเชิดตัวเองเป็นตัวแทนโจทก์ดังที่จำเลยกล่าวอ้างหรือไม่ โจทก์จึงไม่ถูกจำกัดสิทธิที่จำต้องยอมรับค่าสินไหมทดแทนเพียง ๒๑,๐๐๐ บาท
พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทน ๗๑,๐๑๔.๖๕บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์.