คำวินิจฉัยที่ 31/2547

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๓๑/๒๕๔๗

วันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๔๗

เรื่อง อำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๙

ศาลแพ่งกรุงเทพใต้
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งกรุงเทพใต้โดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีที่คู่ความโต้แย้งอำนาจศาล ที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาล ในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๔๖ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายประพันธ์ จิระมงคล ที่ ๑ นายชัย นิติวัฒนะ ที่ ๒ จำเลย ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เป็นคดีหมายเลขดำที่๖๒๔/๒๕๔๖ ความว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประกอบธุรกิจการธนาคาร เป็นเจ้าหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัดเอช-เอน การพิมพ์ เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๒๖ ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอช-เอนการพิมพ์ ได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีในวงเงิน ๑,๒๐๐,๐๐๐ บาท โดยจดทะเบียนจำนองเครื่องพิมพ์รวมสองเครื่อง ในวงเงิน๑,๓๐๐,๐๐๐ บาท ต่อมาหนี้ถึงกำหนดชำระ ห้างหุ้นส่วนจำกัดเอช-เอน การพิมพ์ ผิดนัด ไม่ชำระหนี้โจทก์บอกเลิกสัญญานับแต่วันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๔๓โดยมีหนี้ค้างชำระ จำนวน ๖๗๙,๕๕๙ บาท เมื่อประมาณ เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๕ โจทก์ขอตรวจสอบหนังสือรับรอง การจดทะเบียนของห้างหุ้นส่วนจำกัด เอช-เอน การพิมพ์ เพื่อฟ้องเรียกหนี้คืนปรากฏว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด เอช-เอน การพิมพ์ ได้ตกลงเลิกห้างหุ้นส่วน และแต่งตั้งจำเลยที่ ๑หุ้นส่วนผู้จัดการเป็นผู้ชำระบัญชี โดยเมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน๒๕๓๙จำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้ชำระบัญชีได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเลิกและชำระบัญชีต่อจำเลยที่ ๒ ในฐานะนายทะเบียนสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร และจำเลยที่ ๒ ได้รับจดทะเบียนดังกล่าวเมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๓๙ โดยไม่ได้ส่งมอบคำบอกกล่าวให้โจทก์ผู้มีชื่อเป็นเจ้าหนี้ในสมุดบัญชีและเอกสารของห้างหุ้นส่วนจำกัดฯ การทำงบดุลและการอนุมัติงบดุลไม่ปรากฏชื่อโจทก์เป็นเจ้าหนี้ และไม่ได้วางทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนจำกัดฯ แทนการชำระหนี้ให้แก่โจทก์ อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการชำระบัญชี ไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีลักษณะทุจริต เพื่อให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอช-เอนการพิมพ์ และจำเลยที่ ๑ ในฐานะส่วนตัวและผู้ค้ำประกัน หลุดพ้นการชำระหนี้และการบังคับจำนองที่มีต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย และต่อมา จำเลยที่ ๑ ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีโดยจำเลยที่ ๒ เป็นผู้รับจดทะเบียน เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๓๙ การรับจดทะเบียนดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกันเพราะถือได้ว่า จำเลยที่ ๒ ได้รู้ถึงการกระทำอันไม่ชอบของจำเลยที่ ๑แล้ว จึงขอให้ศาลพิพากษาว่าการชำระบัญชี ของห้างหุ้นส่วนจำกัด เอช-เอนการพิมพ์ โดยจำเลยที่ ๑ ผู้ชำระบัญชีไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้จำเลยที่ ๑ ชำระบัญชีใหม่และให้เพิกถอนคำสั่งรับจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีของจำเลยที่ ๒
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า ก่อนที่จะชำระบัญชี โจทก์แจ้งให้ทราบว่านำเงินที่ห้างฯ ฝากไว้กับโจทก์มาหักกลบลบหนี้กันแล้ว ห้างฯ จึงมิได้เป็นหนี้โจทก์ จำเลยที่ ๑ จึงไม่จำต้องระบุชื่อโจทก์เป็นเจ้าหนี้ในงบดุลหรือนำส่งคำบอกกล่าวแก่โจทก์อีก การชำระบัญชีของห้างฯ จึงชอบด้วยกฎหมายแล้วขอให้ยกฟ้อง จำเลยที่ ๒ ให้การโต้แย้งเรื่องเขตอำนาจศาลว่า คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง เพราะโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ ๒ ปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและให้เพิกถอนคำสั่งรับจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีอันเป็นคำสั่งทางปกครอง คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) โจทก์ได้ชี้แจงเรื่องเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้โจทก์ฟ้อง จำเลยที่ ๒อันเนื่องมาจากจำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้ชำระบัญชี ได้ทำการชำระบัญชีโดยปฏิบัติไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการชำระบัญชีเพื่อเลิกห้างและจำเลยที่ ๒ ในฐานะนายทะเบียนรับจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีโดยเลินเล่อไม่ตรวจสอบให้ถูกต้องก่อนรับจดทะเบียนมูลคดีจึงเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติของจำเลยที่ ๒ไม่ใช่การใช้อำนาจทางปกครองหรือการดำเนินการทางปกครองแต่อย่างใด คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลยุติธรรม
ศาลแพ่งกรุงเทพใต้พิจารณาแล้วเห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้สืบเนื่องมาจากจำเลยที่ ๑ในฐานะผู้ชำระบัญชีได้ยื่นขอจดทะเบียนเลิกและชำระบัญชีต่อจำเลยที่ ๒ ในฐานะนายทะเบียนซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อจำเลยที่ ๒ รับจดทะเบียนให้จึงเป็นการรับจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นการวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นพิพาทแห่งคดีนี้จำต้องพิจารณาถึงการกระทำของจำเลยที่ ๑ เป็นหลักสำคัญ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยการชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนจำกัด และระเบียบสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลาง ว่าด้วย การจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัท พ.ศ. ๒๕๓๘ อันเป็นขั้นตอนวิธีการที่มีกฎหมายกำหนดไว้โดยเฉพาะ แล้วจึงพิจารณาถึงการกระทำของจำเลยที่ ๒ กรณีพิพาทจึงไม่ได้เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ อันจะถือเป็นการกระทำทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดจะเลิกห้างได้นั้นจะต้องดำเนินการชำระบัญชีและจดทะเบียนเลิกห้างหุ้นส่วนต่อนายทะเบียนตามที่บัญญัติไว้ในหมวด ๕ ว่าด้วยการชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัดและบริษัท แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประกอบกับหมวด ๑๘ ว่าด้วยการจดทะเบียนเลิกและเสร็จการชำระบัญชีห้างหุ้นส่วน จดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนและบริษัท แห่งระเบียบสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลาง ว่าด้วยการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนและบริษัท พ.ศ. ๒๕๓๘ ตามกฎหมายดังกล่าวได้ให้อำนาจจำเลยที่ ๒รับจดทะเบียนเลิกห้างหุ้นส่วนและชำระบัญชีให้กับจำเลยที่ ๑ การรับจดทะเบียนเลิกห้างหุ้นส่วนดังกล่าวทำให้การเป็นนิติบุคคลของห้างหุ้นส่วนสิ้นสุดลงจึงเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะระงับ หรือมีผลกระทบ ต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล อันเป็นคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.๒๕๓๙ ดังนั้นเมื่อมีข้อโต้แย้งว่าจำเลยที่ ๒รับจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะมิได้ตรวจสอบให้ชัดเจนว่าจำเลยที่ ๑ ได้ดำเนินการชำระบัญชีโดยชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือไม่ เมื่อจำเลยที่ ๑มิได้ดำเนินการชำระบัญชีโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว การรับจดทะเบียนเลิกห้างหุ้นส่วนให้กับจำเลยที่ ๑ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วย เหตุแห่งการฟ้องคดีจึงเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ออกคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แม้คดีนี้ จะมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยก่อนว่าการกระทำของจำเลยที่ ๑ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ตาม แต่ประเด็นดังกล่าวเป็นประเด็นเกี่ยวพันกับประเด็นการรับจดทะเบียนเลิกห้างหุ้นส่วนและชำระบัญชีของจำเลยที่ ๒ อันเป็นประเด็นหลัก ศาลปกครองจึงมีอำนาจที่จะวินิจฉัยประเด็นที่เกี่ยวพันกับประเด็นหลักดังกล่าวได้ ตามข้อ ๔๑ วรรคสอง แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๓

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่จะต้องพิจารณา คือ คดีฟ้องว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดชำระบัญชีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ชำระบัญชีใหม่ และขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม หรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องคดีนี้ สรุปได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัด เอช-เอน การพิมพ์ ต่อมาห้างฯโดยจำเลยที่ ๑ ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการและผู้ชำระบัญชี ยื่นคำขอจดทะเบียนเลิกและชำระบัญชีต่อจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นนายทะเบียน โดยไม่ส่ง คำบอกกล่าวให้โจทก์ทราบ ทั้งการทำงบดุลและการอนุมัติงบดุลก็ไม่ปรากฏชื่อโจทก์เป็นเจ้าหนี้ แต่จำเลยที่๒ ก็ยังรับจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีให้แก่ห้างฯ อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ทำให้ห้างฯ และจำเลยที่ ๑ หลุดพ้นจากการชำระหนี้ดังกล่าว เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ส่วนจำเลยที่ ๑ ให้การว่า โจทก์หักกลบลบหนี้พิพาทเอาจากเงินฝากของห้างฯ ที่ฝากไว้กับโจทก์ ห้างฯ จึงไม่ได้เป็นหนี้โจทก์แล้ว และไม่จำต้องส่งคำบอกกล่าว ทั้งระบุชื่อโจทก์เป็นเจ้าหนี้การชำระบัญชี ของห้างฯ จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว คดีนี้ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าการชำระบัญชี ของห้างฯ โดยจำเลยที่ ๑ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยการชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนจำกัด และระเบียบสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลาง ว่าด้วยการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัท พ.ศ. ๒๕๓๘ หรือไม่ซึ่งเป็นขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมายกำหนดไว้โดยเฉพาะ หากการชำระบัญชีดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายแล้ว ก็ย่อมจะทำให้สภาพความเป็นนิติบุคคลของห้างฯ ตลอดจนสิทธิ หน้าที่และความรับผิดต่าง ๆสิ้นสุดลง แต่หากการชำระบัญชีไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว สภาพบุคคล สิทธิ หน้าที่ดังกล่าวก็จะไม่สิ้นสุด อันเป็นกรณีพิพาทกันเกี่ยวกับ สิทธิ หน้าที่ และสภาพความเป็นบุคคลของห้างฯ ในทางแพ่ง แล้วศาลจึงจะพิจารณาได้ว่าการรับจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีของจำเลยที่ ๒ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งการรับจดทะเบียนชำระบัญชีเสร็จของจำเลยที่ ๒ ตามคำฟ้องคดีนี้นั้น เป็นขั้นตอนที่กฎหมายแพ่งกำหนดให้ผู้ชำระบัญชีนำความไปแจ้งแก่นายทะเบียน รวมทั้งส่งมอบบรรดาสมุดและบัญชีไว้ให้ด้วย และผู้มีส่วนได้เสียสามารถขอตรวจดูได้เท่านั้น (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๗๐ และมาตรา ๑๒๗๑)การจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีมิได้ทำให้นิติสัมพันธ์ หรือสถานภาพของห้างฯ หรือของโจทก์จะเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด ส่วนนิติสัมพันธ์ระหว่างห้างฯ กับโจทก์หรือสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของห้างฯ จะระงับหรือมีผลเปลี่ยนแปลงไปอย่างใดนั้น จะต้องพิจารณาถึงสิทธิในทางแพ่ง มิใช่จากการจดทะเบียน
เมื่อศาลจำต้องพิจารณาถึงสิทธิในทางแพ่งของห้างฯ ซึ่งเป็นข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ และเป็นเอกชนด้วยกันเป็นสำคัญแล้ว ข้อพิพาทในคดีนี้ จึงมิใช่ข้อพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีฟ้องว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดชำระบัญชีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายขอให้ชำระบัญชีใหม่ และขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี ระหว่าง ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) โจทก์ นายประพันธ์ จิระมงคล ที่ ๑ นายชัย นิติวัฒนะ ที่ ๒ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ซึ่งในคดีนี้ได้แก่ ศาลแพ่งกรุงเทพใต้

(ลงชื่อ) อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ (ลงชื่อ) เฉลิมชัย เกษมสันต์
(นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ) (หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท อัฏฐพร เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(อัฏฐพร เจริญพานิช) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share