คำวินิจฉัยที่ 30/2547

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๓๐/๒๕๔๗

วันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๔๗

เรื่อง อำนาจศาลเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลปกครองสงขลา
ระหว่าง
ศาลจังหวัดตรัง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองสงขลาโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีที่คู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจของศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและรับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
นายถาวร หาบสา โดยนายบุญยืน หาบสา ผู้รับมอบอำนาจ ยื่นฟ้ององค์การบริหารส่วนตำบลตะเสะ กิ่งอำเภอหาดสำราญ จังหวัดตรัง ต่อศาลปกครองสงขลา เป็นคดีหมายเลขดำที่๑๔๕/๒๕๔๕ ความว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๕๑๓ บ้านทุ่งเปรว หมู่ที่ ๓ตำบลตะเสะ กิ่งอำเภอหาดสำราญ จังหวัดตรังเมื่อวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๔๔ นายปรีชา หลงกลางประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลตะเสะได้นำชี้และสั่งให้มีการขุดขยายคูน้ำธรรมชาติตามโครงการที่ได้รับอนุมัติโดยกรรมการบริหารของผู้ถูกฟ้องคดี รุกล้ำเข้ามาในที่ดินของผู้ฟ้องคดี โดยไม่มีเจ้าพนักงานที่ดินหรือบุคคลที่นายอำเภอมอบหมายและเจ้าของที่ดินข้างเคียงร่วมชี้แนวเขตที่ถูกต้อง ซึ่งขณะนั้น ผู้ฟ้องคดีไม่อยู่ คนในครอบครัวของผู้ฟ้องคดีได้ร่วมกันคัดค้านการกระทำดังกล่าว แต่นายปรีชาฯ ยังคงดำเนินการต่อไป ทำให้ดินทรุดตัวพังทลายลงมา รั้วบ้านทรุดตัวตามแนวดินไม่สามารถใช้งานได้ ต่อมา ผู้ฟ้องคดีจึงเข้าพบนายนิคม ชายหมาด ประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลตะเสะ และตกลงกันว่าจะซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพเดิม แต่ไม่มีการดำเนินการตามที่ตกลงกันไว้ ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง และแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษฐานบุกรุกต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรกิ่งอำเภอหาดสำราญ และได้ยื่นคำร้องขอสอบเขตที่ดินต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดตรัง ส่วนแยกย่านตาขาว จังหวัดตรัง จึงได้มีการสอบเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดีปรากฏว่า การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีได้รุกล้ำเข้าไปในเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดีตลอดแนวทิศเหนือเลยหมุดหลักเขตประมาณ ๒.๑๐ เมตร ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงขอให้ศาลมีคำสั่งให้คณะกรรมการจังหวัดตรังและกิ่งอำเภอหาดสำราญแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเอาผิดกับคณะผู้บริหารของผู้ถูกฟ้องคดี ให้ผู้ถูกฟ้องคดีหยุดดำเนินการและระงับโครงการดังกล่าว และสั่งให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบเข้าทำการแก้ไขปรับปรุงในส่วนที่เสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีและครอบครัว แต่ศาลปกครองสงขลาได้มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ เป็นคดีหมายเลขแดงที่ ๙๖/๒๕๔๕ เนื่องจากเห็นว่า การขุดคลองขยายคูน้ำซึ่งเป็นเหตุให้มีการบุกรุกที่ดินของผู้ฟ้องคดีดังกล่าวเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติของผู้ถูกฟ้องคดี มิใช่เป็นการกระทำที่ใช้อำนาจตามกฎหมาย คดีนี้จึงมิใช่คดีปกครอง เพราะไม่ต้องด้วยบทบัญญัติในมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ คดีไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองที่ศาลจะรับไว้พิจารณาได้ ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองสงขลาที่ไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาโดยโต้แย้งว่า ความเสียหายของผู้ฟ้องคดีเกิดจากการกระทำละเมิดของผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและมีนายปรีชา หลงกลางซึ่งเป็นประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลตะเสะเป็นผู้ควบคุมการขุด จึงขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีรับผิดชอบและชดใช้ค่าเสียหายด้วย ซึ่งต่อมาศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งที่ ๖๔๒/๒๕๔๕ ให้ศาลปกครองสงขลาดำเนินการต่อไป เนื่องจากการขุดลอกคูน้ำสาธารณะของผู้ถูกฟ้องคดีเป็นการใช้อำนาจสั่งการและกำกับดูแลการดำเนินการ ถือได้ว่าเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายในการจัดทำกิจการของผู้ถูกฟ้องคดี เมื่อการกระทำเช่นว่านั้นก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ฟ้องคดีและผู้ฟ้องคดีมีคำขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหาย จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ. ๒๕๔๒คดีพิพาทนี้จึงอยู่ในอำนาจของศาลปกครองที่จะพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งได้
ผู้ฟ้องคดีจึงเสนอคำฟ้องแก้ไขเพิ่มเติมต่อศาลปกครองสงขลาเมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน๒๕๔๖ โดยมีคำขอท้ายฟ้องให้องค์การบริหารส่วนตำบลตะเสะทำหนังสือยอมรับผิดกับชดใช้ค่าเสียหาย เป็นเงินจำนวน ๑๒๐,๐๐๐ บาท และให้ถมที่ส่วนที่พังทรุดตัว ทั้งปลูกต้นไม้ทดแทน
ผู้ถูกฟ้องคดียื่นคำให้การและคำให้การเพิ่มเติมปฏิเสธว่า การขุดลอกขยายคูน้ำของผู้ฟ้องคดีได้ยึดถือแนวธรรมชาติที่ปรากฏอยู่เดิมและระวางที่ดินซึ่งแสดงแนวเขตเหมืองสาธารณประโยชน์ ตลอดจนแนวเขตแสดงสิทธิของราษฎรเป็นสำคัญ ในระหว่างการก่อสร้างได้มีเจ้าของที่ดินใกล้เคียงและเจ้าของที่ดินที่ขุดผ่านมาตรวจสอบดูแลระวังแนวเขตของตนเองจนสิ้นสุดโครงการโดยมิได้มีการโต้แย้งกรรมสิทธิ์แต่อย่างใด ประกอบกับการขุดลอกนั้นอยู่ห่างจากแนวเขตรั้วบ้านของผู้ฟ้องคดีอีกประมาณ ๒ เมตร เหตุที่เกิดมิใช่ความผิดของผู้ถูกฟ้องคดี หากแต่เกิดจากภัยธรรมชาติอันเป็นเหตุสุดวิสัย การนำคดีมาฟ้องต่อศาลของผู้ฟ้องคดีทั้งที่ทราบเหตุดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
ก่อนวันนั่งพิจารณาครั้งแรก ผู้ถูกฟ้องคดีได้ยื่นคำร้องโต้แย้งอำนาจศาลว่าข้อเท็จจริงปรากฏในคำคัดค้านคำให้การของผู้ฟ้องคดีว่า ผู้ฟ้องคดีได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรกิ่งอำเภอหาดสำราญให้ดำเนินคดีอาญา นายปรีชา หลงกลาง สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลตะเสะและประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลตะเสะในความผิดฐานบุกรุกขณะนี้คดีอยู่ในระหว่างการดำเนินคดีของพนักงานสอบสวน ซึ่งคดีดังกล่าวอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลจังหวัดตรัง ซึ่งหากศาลจังหวัดตรังได้พิพากษาในความผิดฐานบุกรุกแล้วจะทำให้มีผลเกี่ยวพันกับความรับผิดในทางแพ่ง อันเป็นผลทำให้ศาลปกครองสงขลาไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒มาตรา ๙
ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายจากการกระทำละเมิดของผู้ถูกฟ้องคดีอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ด้วยเหตุที่ผู้ถูกฟ้องคดีเป็นหน่วยงานทางปกครองส่วนท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ มีฐานะเป็นนิติบุคคล และคดีนี้ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งที่ ๖๕๒/๒๕๔๕ (ที่ถูกต้องคือ คำสั่งที่ ๖๔๒/๒๕๔๕) ลงวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๔๕ ให้ศาลปกครองชั้นต้นมีอำนาจพิจารณาคดีได้ และผู้ถูกฟ้องคดีได้ใช้อำนาจตามกฎหมายแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวโดยมติสภาองค์การบริหารส่วนตำบลตะเสะอนุมัติให้ขุดลอกทางระบายน้ำดังกล่าว เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีได้ทำการขุดขยายเหมืองน้ำธรรมชาติ ด้านทิศเหนือติดกำแพงรั้วคอนกรีตบ้านพักอาศัยของผู้ฟ้องคดี โดยได้ทำการละเมิดขุดรุกล้ำเลยหมุดหลักเขตที่ดินเข้ามาในที่ดินเขตบ้านผู้ฟ้องคดี ทำให้แนวกำแพงหักและทรุดโทรมเสียหาย จึงเห็นว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองสงขลา
ศาลปกครองสงขลาเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีมีฐานะเป็นนิติบุคคลและเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ มีอำนาจหน้าที่ในการพัฒนาตำบลทั้งในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ซึ่งมีลักษณะเป็นการจัดให้มีและบำรุงรักษาสิ่งสาธารณูปโภคและการให้บริการสาธารณะในเขตความรับผิดชอบของผู้ถูกฟ้องคดี ตามมาตรา ๖๖ มาตรา ๖๗ และมาตรา ๖๘ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว การที่ผู้ถูกฟ้องคดีขุดลอกขยายคูน้ำสาธารณะโดยประธานสภาของผู้ถูกฟ้องคดีได้นำชี้ให้มีการขุดขยายคูน้ำเป็นการใช้อำนาจสั่งการและกำกับดูแลการดำเนินการ ถือได้ว่าเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายในการจัดทำกิจกรรมของผู้ถูกฟ้องคดี เมื่อการกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ฟ้องคดีและผู้ฟ้องคดีมีคำขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหาย จึงเป็นคดีพิพาทอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ จึงเห็นว่า คดีอยู่ในอำนาจของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดตรังเห็นว่า ตามฟ้องคดีนี้ผู้ฟ้องคดีโต้แย้งว่า ผู้ถูกฟ้องคดีใช้อำนาจตามกฎหมายกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี แต่ผู้ถูกฟ้องคดีให้การต่อสู้ว่า ในการขุดลอกคูระบายน้ำได้ถือแนวธรรมชาติที่ปรากฏอยู่เดิมและระวางที่ดินซึ่งแสดงแนวเขตเหมืองสาธารณประโยชน์ แสดงว่าคู่กรณียังโต้แย้งกันเกี่ยวกับเรื่องสิทธิในที่ดินพิพาทว่าเป็นที่ดินของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีตามข้ออ้างหรือไม่ จึงจะสามารถพิจารณาเกี่ยวกับความเสียหายของผู้ฟ้องคดีและข้อต่อสู้ของผู้ถูกฟ้องคดีที่อ้างว่าไม่ได้กระทำการตามที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวหาต่อไปได้ การพิจารณาสิทธิในที่ดินพิพาทระหว่างคู่กรณีต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๙๘ และมาตรา ๑๓๐๔และยังต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายที่ดินประกอบด้วย ซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ มิได้กำหนดให้ศาลปกครองมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สิน คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจของศาลจังหวัดตรัง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่จะต้องพิจารณา การพิจารณาวินิจฉัยเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและคำให้การคดีนี้สรุปได้ว่า ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีขุดลอกคูน้ำรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดีเป็นเหตุให้ที่ดินและรั้วของผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย ขอให้ชดใช้ค่าเสียหายและทำที่ดินให้อยู่ในสภาพเดิม ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า การขุดลอกขยายคูน้ำได้ยึดถือแนวธรรมชาติที่ปรากฏอยู่เดิม และระวางที่ดินซึ่งแสดงแนวเขตเหมืองสาธารณประโยชน์ ตลอดจนแนวเขตแสดงสิทธิของราษฎรเป็นสำคัญ ในระหว่างก่อสร้างได้มีเจ้าของที่ดินใกล้เคียงและเจ้าของที่ดินที่ขุดผ่านมาตรวจสอบดูแลระวังแนวเขตของตนเองจนสิ้นสุดโครงการโดยมิได้มีการโต้แย้งกรรมสิทธิ์ อีกทั้งการขุดลอกคูน้ำดังกล่าวก็ไม่ได้รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดี ความเสียหายของรั้วที่เกิดขึ้นมิใช่ความผิดของผู้ถูกฟ้องคดี แต่เกิดจากกระแสน้ำพัดเซาะดินอันเป็นภัยธรรมชาติซึ่งเป็นเหตุสุดวิสัย ดังนั้น ในคดีนี้ คู่กรณียังคงโต้แย้งกันอยู่ว่า การขุดลอกคูน้ำของผู้ถูกฟ้องคดีได้รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดีหรือไม่ ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีตามที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างหรือไม่แล้วจึงจะพิจารณาได้ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีกระทำละเมิดหรือไม่ ดังนั้น จึงเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินอันเป็นกรณีเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินของบุคคล ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินระหว่าง นายถาวร หาบสา ผู้ฟ้องคดี กับองค์การบริหารส่วนตำบลตะเสะ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ซึ่งในคดีนี้ได้แก่ ศาลจังหวัดตรัง

(ลงชื่อ) อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ (ลงชื่อ) เฉลิมชัย เกษมสันต์
(นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ) (หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท อัฏฐพร เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(อัฏฐพร เจริญพานิช) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share