แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๗/๒๕๔๗
วันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๔๗
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)
ศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี
ระหว่าง
ศาลปกครองสงขลา
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานีโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามมาตรา ๑๐ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งเป็นกรณีที่ศาลที่รับฟ้องคดีเห็นว่าคดีไม่อยู่ ในเขตอำนาจและศาลที่ส่งความเห็นและศาลรับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๔ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ดาบตำรวจสมพงศ์ บุตรสามบ่อ ที่ ๑ จ่าสิบตำรวจสมชาติ สมชาติพันธ์ ที่ ๒ จำเลย ต่อศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๑๔๖๗/๒๕๔๔ ข้อหาเป็นเจ้าหน้าที่ทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐความว่า จำเลยทั้งสองเป็นเจ้าหน้าที่สังกัดโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ประจำสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จำเลยที่ ๑ ตำแหน่งผู้บังคับหมู่ทำหน้าที่การเงินและบัญชี มีหน้าที่รับเงินและลงรายการในสมุดเงินสด จำเลยที่ ๒ ตำแหน่ง ผู้บังคับหมู่ทำหน้าที่เสมียนเปรียบเทียบปรับมีหน้าที่เปรียบเทียบปรับคดีอาญาทุกประเภทภายหลังจากที่พนักงานสอบสวนได้สั่งเปรียบเทียบแล้ว เก็บรักษาและส่งมอบเงินค่าปรับให้กับเจ้าหน้าที่การเงิน จัดทำและจัดเก็บสมุดคุมใบเสร็จเปรียบเทียบปรับ และจัดทำบัญชียอดใบเสร็จเมื่อสิ้นปีงบประมาณ จำเลยที่ ๑ ได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตเบียดบังยักยอกทรัพย์สินของโจทก์ไป โดยรับเงินและลงรายการรับเงินในสมุดเงินสดแล้วไม่นำส่งเงินหรือนำฝาก จำนวน ๗๒๓,๔๐๕ บาท ทำเงินขาดบัญชีเนื่องจากมีหลักฐานการจ่ายเงินให้ตรวจสอบไม่ครบถ้วน จำนวน ๔๒,๐๐๐ บาท ทำเงินขาดบัญชีเนื่องจากไม่ได้จ่ายเงินรางวัลค่าปรับให้แก่ผู้รับ จำนวน ๗๔,๔๘๐ บาท รวมเป็นเงิน ๘๓๙,๘๘๕ บาท
นอกจากนั้น ยังมีเงินขาดบัญชี จำนวน ๑,๓๑๙,๔๗๐ บาท เนื่องจากจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นเสมียนเปรียบเทียบปรับ ได้รับค่าปรับตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. ๒๕๐๒ ค่าเปรียบเทียบปรับตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และค่าเปรียบเทียบปรับคดีอาญา แต่ไม่นำส่งจำเลยที่ ๑ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่การเงินกลับยักยอกเอาไปเป็นประโยชน์ส่วนตนหรือผู้อื่นโดยทุจริต หรือส่งมอบเงินให้จำเลยที่ ๑ แล้ว แต่จำเลยที่ ๒ ไม่ปฏิบัติตามระเบียบและคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่กำหนดให้ผู้ส่งเงินและผู้รับเงินต้องทำหลักฐาน ระหว่างกันเพื่อแสดงว่าได้มีการส่งเงินและรับมอบเงินกันเรียบร้อยแล้ว อันเป็นการกระทำด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเป็นเหตุให้จำเลยที่ ๑ รับเงินไว้และเบียดบังยักยอกเอาเงินนั้นไป โดยทุจริต จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมในมูลหนี้ดังกล่าว
จึงขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ รับผิดชดใช้เงินจำนวน ๘๓๙,๘๘๕ บาท และให้จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ ร่วมกันรับผิดชดใช้เงินจำนวน ๑,๓๑๙,๔๗๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้อง และดอกเบี้ยร้อยละ ๗.๕ ต่อปี จากเงินต้นดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ ระหว่างการพิจารณาศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานีเห็นว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง จึงให้รอการพิจารณาไว้ชั่วคราวแล้วทำความเห็นส่งให้สำนักงานศาลปกครองเพื่อให้ศาลที่อยู่ในความรับผิดชอบทำความเห็นต่อไป ตามมาตรา ๑๐วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒
ความเห็นระหว่างศาล
ศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานีพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นหน่วยงานราชการฟ้องจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นข้าราชการตำรวจสังกัดสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จำเลยทั้งสองจึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.๒๕๓๙ อ้างว่า จำเลยทั้งสอง ได้กระทำการหรือละเว้นกระทำการอันเป็นเหตุให้หน่วยงานของรัฐได้รับความเสียหายขอให้ร่วมกันรับผิด อันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณา คดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ จึงมีความเห็นว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลปกครองสงขลาพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่จะพิจารณาว่าความรับผิดเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐจะอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครองนั้นนอกจากจะพิจารณาจากพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ แล้วจะต้องพิจารณาจากพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙วรรคหนึ่ง (๓) ประกอบด้วย เมื่อข้อเท็จจริงตามคำฟ้องปรากฏว่าจำเลยทั้งสองได้ปฏิบัติหน้าที่และกระทำความเสียหายต่อโจทก์โดยเบียดบังยักยอกทำเงินในบัญชีขาดหายไป อันถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ความเสียหายที่เกิดขึ้นจึงมิได้เกิดจากการกระทำที่มีการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่นหรือจากการละเลย ต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร กรณีจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
คำวินิจฉัย
ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๓๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๒๐ (๖)ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาโอนกรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย ไปจัดตั้งเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๑ กำหนดให้โอนกรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย ไปจัดตั้งเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยเป็นส่วนราชการและมีฐานะเป็นกรม ไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงหรือทบวง จึงถือเป็นหน่วยงานทางปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓
สำหรับคดีนี้ โจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐฟ้องเจ้าหน้าที่ในสังกัดกรณีกระทำละเมิดต่อโจทก์ โดยจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ได้ยักยอกเงินจากการปฏิบัติหน้าที่ไปโดยทุจริต จึงขอให้ศาลพิพากษา ให้จำเลยที่ ๑ รับผิดชดใช้เงินจำนวน ๘๓๙,๘๘๕ บาท และให้จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ร่วมกันรับผิดชดใช้เงินจำนวน ๑,๓๑๙,๔๗๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้อง และดอกเบี้ยร้อยละ๗.๕ ต่อปี จากเงินต้นดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
ปัญหาที่จะต้องพิจารณา คือ การกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่แล้วก่อให้เกิดความเสียหาย อยู่ในเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา๒๗๖ ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา๙วรรคหนึ่ง (๓) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจ ตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
ขณะเกิดเหตุโจทก์เป็นหน่วยงานของรัฐ จำเลยที่ ๑ รับราชการในสังกัดโจทก์เป็นเจ้าหน้าที่การเงินมีหน้าที่รับเงินและลงรายการในสมุดเงินสดได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตเบียดบังยักยอกทรัพย์สินของโจทก์ไป จำเลยที่ ๒ รับราชการในสังกัดโจทก์ทำหน้าที่เสมียนเปรียบเทียบปรับมีหน้าที่เปรียบเทียบปรับคดีอาญาทุกประเภทภายหลังจากที่พนักงานสอบสวนได้สั่งเปรียบเทียบแล้วเก็บรักษาและส่งมอบเงินค่าปรับให้กับเจ้าหน้าที่การเงิน จัดทำและจัดเก็บสมุดคุมใบเสร็จเปรียบเทียบปรับ และจัดทำบัญชียอดใบเสร็จเมื่อสิ้นปีงบประมาณ ได้รับค่าปรับตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. ๒๕๐๒ ค่าเปรียบเทียบปรับตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และค่าเปรียบเทียบปรับคดีอาญา แต่ไม่นำส่งจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่การเงินกลับยักยอกเอาไปเป็นประโยชน์ส่วนตนหรือผู้อื่นโดยทุจริต หรือส่งมอบเงินให้จำเลยที่ ๑แล้ว แต่จำเลยที่ ๒ ไม่ปฏิบัติตามระเบียบและคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ที่กำหนดให้ผู้ส่งเงินและผู้รับเงินต้องทำหลักฐานระหว่างกันเพื่อแสดงว่าได้มีการส่งเงินและรับมอบเงินกันเรียบร้อยแล้ว อันเป็นการกระทำด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเป็นเหตุให้จำเลยที่ ๑ รับเงินไว้และเบียดบังยักยอกเอาเงินนั้นไปโดยทุจริต การกระทำของจำเลยทั้งสองดังกล่าวเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย กรณีจึงเป็นข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐกับเจ้าหน้าที่ของรัฐและเป็นคดีละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีเกี่ยวกับการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่หน่วยงานของรัฐ ระหว่าง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โจทก์ ดาบตำรวจสมพงศ์ บุตรสามบ่อ ที่ ๑ จ่าสิบตำรวจสมชาติ สมชาติพันธ์ ที่ ๒ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ซึ่งในคดีนี้ได้แก่ ศาลปกครองสงขลา
(ลงชื่อ) อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ (ลงชื่อ) เฉลิมชัย เกษมสันต์
(นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ) (หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท อัฏฐพร เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
อัฏฐพร เจริญพานิช อาชวัน อินทรเกสร
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ