คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2142/2523

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่จำเลยฎีกาว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะชื่อโจทก์ในฟ้องไม่ถูกต้องและไม่ตรงกับความจริงมีถึง 2 คน จะให้จำเลยเข้าใจได้ถูกต้องว่าอะไรแน่นั้นฎีกาของจำเลยดังกล่าวเป็นเรื่องที่จำเลยอ้างเหตุแห่งความเคลือบคลุมของฟ้องโจทก์ขึ้นมาใหม่นอกเหนือจากที่ให้การต่อสู้ไว้ จึงเป็นฎีกานอกประเด็นศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
โจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดินจากโจทก์ร่วม แต่เข้าครอบครองที่ดินที่เช่าไม่ได้เพราะจำเลยไม่ยอมออกไป ถ้าโจทก์แพ้คดีโจทก์ไม่สามารถเรียกค่าทดแทนที่ไม่ได้เข้าครอบครองที่ดินตามสัญญาจากโจทก์ร่วมได้และอาจถูกโจทก์ร่วมเรียกค่าเสียหายได้ด้วยดังนี้ จึงเป็นเหตุจำเป็นตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(3)(ก) ที่จะอนุญาตให้หมายเรียกโจทก์ร่วมเข้ามาในคดีได้ โจทก์และโจทก์ร่วมย่อมมีอำนาจฟ้องให้ขับไล่จำเลยออกจากที่ดินได้

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนอาคารออกจากที่ดินพร้อมขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไป ห้ามเกี่ยวข้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ที่จำเลยฎีกาว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะในหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครท้ายฟ้องหมายเลข 1 ไม่มีชื่อกรรมการบริษัทโจทก์ จึงไม่อาจทราบได้ว่า นายเจริญ บุญดีเจริญ และนายวัฒนศักดิ์ สนิทวงศ์ เป็นกรรมการบริษัทโจทก์ผู้มีอำนาจทำการแทนบริษัทโจทก์หรือไม่นั้น ตามคำให้การของจำเลยข้อ 1 ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เพราะชื่อจำเลย (ที่ถูกน่าจะเป็นโจทก์) ในฟ้องไม่ถูกต้องและไม่ตรงกับความเป็นจริง มีถึง 2 คน จะให้จำเลยเข้าใจได้ถูกต้องว่าอะไรแน่ ศาลฎีกาเห็นว่าฎีกาของจำเลยดังกล่าวเป็นเรื่องจำเลยอ้างเหตุแห่งความเคลือบคลุมของฟ้องของโจทก์ขึ้น มาใหม่นอกเหนือจากที่ให้การต่อสู้ไว้ เป็นฎีกานอกประเด็น แม้ในคำให้การของจำเลยข้อ 1 จะมีข้อความอีกว่า โจทก์บรรยายในคำฟ้องไม่ชัดแจ้งไม่แน่นอนขาดรายละเอียดอันเป็นสารสำคัญแห่งคำฟ้องด้วยก็ตาม แต่จำเลยก็มิได้ยกข้อเท็จจริงขึ้นกล่าวอ้างว่าคำฟ้องโจทก์ไม่ชัดแจ้งไม่แน่นอนและขาดรายละเอียดอันเป็นสารสำคัญแห่งคำฟ้องในเรื่องอะไรสำคัญอย่างไร จึงถือว่าคำให้การของจำเลยดังกล่าวไม่มีประเด็นที่ศาลจะวินิจฉัยให้ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย

ที่จำเลยฎีกาว่า สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไม่มีสิทธิเข้าเป็นโจทก์ร่วม และโจทก์กับโจทก์ร่วมไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ได้ความว่า โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลเรียกสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เข้ามาในคดีอ้างเหตุว่า โจทก์ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ แต่เข้าครอบครองที่ดินที่เช่าไม่ได้ เพราะจำเลยไม่ยอมออกไป ถ้าโจทก์แพ้คดีโจทก์ไม่สามารถเรียกค่าทดแทนที่ไม่ได้เข้าครอบครองที่ดินตามสัญญาเช่าจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และอาจถูกสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เรียกค่าเสียหายที่โจทก์ไม่ปฏิบัติตามสัญญาเช่าที่ดิน ศาลฎีกาเห็นว่า ข้ออ้างของโจทก์ดังกล่าวเป็นเหตุจำเป็นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(3)(ก)ศาลชั้นต้นชอบที่จะอนุญาตให้หมายเรียกสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มาเป็นโจทก์ร่วมได้ และเมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้โดยได้ขอให้ศาลเรียกเจ้าของที่ดินผู้ให้เช่ามาเป็นโจทก์ร่วมแล้ว โจทก์และโจทก์ร่วมย่อมมีอำนาจฟ้องให้ขับไล่จำเลยออกจากที่ดินที่โจทก์เช่าจาก โจทก์ร่วมได้ คำพิพากษาฎีกาที่จำเลยอ้างประกอบฎีกาของจำเลยไม่ตรงกับรูปคดีนี้”

พิพากษายืน

Share