แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ในการพิจารณาตรวจรับคำฟ้องของศาลภาษีอากรกลางนั้น พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม จึงต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคท้าย ซึ่งบัญญัติว่า “ให้ศาลตรวจคำฟ้องนั้นแล้วสั่งให้รับไว้หรือให้ยกเสียหรือให้คืนไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 18” คำว่า ให้ยกเสียตามบทบัญญัติดังกล่าวจึงเป็นการยกฟ้องของโจทก์นั่นเอง ถือว่าศาลมีอำนาจพิพากษายกฟ้องโจทก์ในชั้นตรวจคำฟ้องได้โดยหาจำต้องมีคำสั่งรับฟ้องโจทก์ไว้ก่อนไม่
ตามหนังสือมอบอำนาจที่โจทก์แนบมาพร้อมคำฟ้อง มิได้มีข้อความระบุถึงการมอบอำนาจให้ฟ้องร้องดำเนินคดีได้ ผู้รับมอบอำนาจจึงไม่มีอำนาจฟ้อง การที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องทันที โดยมิได้มีคำสั่งรับคำฟ้องโจทก์ไว้ก่อนจึงชอบแล้ว และกรณีถือว่าศาลภาษีอากรกลางได้นำเอาข้อเท็จจริงตามที่ปรากฎในคำฟ้องมาวินิจฉัยในประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องเป็นเด็ดขาดแล้วว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง อันเป็นการวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 131 (2) มิใช่สั่งไม่รับหรือคืนคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 จึงคืนค่าขึ้นศาลให้โจทก์ไม่ได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนเงินค่าภาษีอากรรวมดอกเบี้ย 6,486,889.71 บาท กับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 5,597,778.71 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ศาลภาษีอากรกลางตรวจคำฟ้องแล้ว เห็นว่า หนังสือมอบอำนาจเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 มิได้มีข้อความระบุถึงการมอบอำนาจให้ฟ้องร้องดำเนินคดี โจทก์โดยผู้รับมอบอำนาจดังกล่าวจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ขอให้คืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดแก่โจทก์
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ศาลภาษีอากรกลางตรวจคำฟ้องและยังไม่ได้มีคำสั่งรับคำฟ้อง การที่ศาลภาษีอากรกลางมีคำพิพากษายกฟ้องจึงถือว่าศาลภาษีอากรกลางเพียงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้อง ซึ่งต้องคืนค่าขึ้นศาลทั้งหมดแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า ในการพิจารณาตรวจรับคำฟ้องของศาลภาษีอากรกลางนั้น พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 กำหนดไว้ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม ดังนั้น การพิจารณาตรวจรับคำฟ้องของศาลภาษีอากรกลางจึงต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคท้าย ซึ่งบัญญัติว่า “ให้ศาลตรวจคำฟ้องนั้นแล้วสั่งให้รับไว้หรือให้ยกเสียหรือให้คืนไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 18″ คำว่า ให้ยกเสียตามบทบัญญัติดังกล่าวจึงเป็นการยกฟ้องของโจทก์นั่นเอง ถือว่าศาลย่อมมีอำนาจพิพากษายกฟ้องโจทก์ในชั้นตรวจคำฟ้องได้โดยหาจำต้องมีคำสั่งรับฟ้องโจทก์ไว้ก่อนไม่ คดีนี้ปรากฏว่าตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมายเลข 2 ที่โจทก์แนบมาพร้อมคำฟ้อง มิได้มีข้อความระบุถึงการมอบอำนาจให้ผู้รับมอบอำนาจดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีได้ ผู้รับมอบอำนาจตามฟ้องจึงไม่มีอำนาจฟ้อง การที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโดยทันที โดยมิได้มีคำสั่งรับคำฟ้องโจทก์ไว้ก่อนจึงชอบแล้ว และกรณีถือว่าศาลภาษีอากรกลางได้นำเอาข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำฟ้องมาวินิจฉัยในประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องเป็นเด็ดขาดแล้วว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง อันเป็นการวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 131 (2) มิใช่เป็นเรื่องที่ศาลภาษีอากรกลางสั่งไม่รับหรือคืนคำฟ้องตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 ที่ศาลภาษีอากรกลางไม่คืนค่าขึ้นศาลทั้งหมดแก่โจทก์โดยมีคำสั่งให้เป็นพับจึงชอบแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ