แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ซึ่งเป็นผู้ให้กู้และผู้เขียนสัญญากู้ลงชื่อเป็นพยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือของจำเลยผู้กู้ได้ไม่มีกฎหมายห้ามมิให้ผู้ให้กู้ลงชื่อรับรองลายพิมพ์นิ้วมือของผู้กู้
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินกู้และดอกเบี้ยแก่โจทก์ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “โจทก์ฎีกาประการแรกว่า ที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกเอาเรื่องพยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือขึ้นมาวินิจฉัยแล้ว พิพากษายกฟ้องเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาได้ตรวจสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 แล้ว ปรากฏว่ามีผู้ลงชื่อรับรองเป็นพยานลายพิมพ์นิ้วมือถึง 3 คน คือ นายคำ รอดมี นายจงผ่องจิต และนายชอบ สังวาลย์ ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีนี้ ตามที่คู่ความนำสืบมาคงมีเพียงนายคำผู้เดียวซึ่งเบิกความว่า นายคำไม่เห็นตอนจำเลยลงชื่อในสัญญากู้ คำว่าลงชื่อที่นายคำเบิกความหมายถึงการพิมพ์ลายนิ้วมือของจำเลยนั่นเอง แม้ว่าการลงชื่อเป็นพยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือจะต้องอยู่รู้เห็นในเวลาพิมพ์ลายนิ้วมือด้วยก็ตาม ก็ฟังได้แต่เพียงว่านายคำแต่ผู้เดียวมิได้อยู่รู้เห็นในเวลาจำเลยพิมพ์ลายนิ้วมือ แต่พยานอีก 2 คน คือ นายจง ผ่องจิตซึ่งถึงแก่กรรมไปแล้วและไม่ปรากฏจากการนำสืบของคู่ความทั้งสองฝ่ายว่านายจงมิได้อยู่รู้เห็นในเวลาพิมพ์นิ้วมือของจำเลย จึงต้องฟังว่านายจงได้ลงชื่อเป็นพยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือโดยชอบแล้ว ส่วนโจทก์ซึ่งลงชื่อเป็นพยานและผู้เขียนด้วยนั้น ย่อมเป็นการใช้ได้เช่นเดียวกัน เพราะไม่มีบทกฎหมายใดห้ามมิให้ผู้ให้กู้ลงชื่อรับรองลายพิมพ์นิ้วมือของผู้กู้ ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1253/2511 ระหว่างนายใหม่ นามวงษ์ โจทก์ นายเห็ง เอกคะนะจำเลย ดังนั้นเมื่อมีพยานลงลายมือชื่อรับรองลายพิมพ์นิ้วมือของจำเลย 2 คนคือ นายจงและโจทก์ดังกล่าวมาแล้ว สัญญากู้ตามเอกสารหมาย จ.1 จึงถูกต้องสมบูรณ์”
พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น