แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ที่เกิดเหตุเป็นป่าสงวนแห่งชาติซึ่งจำเลยได้รับอนุญาตจากทางการให้อยู่อาศัยทำกินเพราะจำเลยเคยทำกินมาก่อนต่อมาทางการได้ปลูกต้นไม้ในที่ดินดังกล่าว จำเลยได้เข้าไปไถในที่เกิดเหตุเป็นเนื้อที่ 12 ไร่ ทำให้ต้นไม้ที่ทางการปลูกไว้เสียหาย ดังนี้ จำเลยย่อมมีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 และพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14 โดยถือว่าการกระทำของจำเลยเป็นการทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติตามความหมายแห่งมาตรา 14ดังกล่าว(กรรมเดียวหลายบท)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้บังอาจเข้าไปก่อสร้างครอบครองป่าสงวนแห่งชาติหนองเม็ก – ลุมพุก และได้ไถปลูกปอและยึดถือครอบครองเนื้อที่ 12 ไร่ ทำให้ต้นประดู่และต้นนนทรีซึ่งปลูกใหม่เสียหาย 1,200 ต้น ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507มาตรา 14, 31 ฯลฯ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 358 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งเป็นบทหนัก จำคุก 2 ปีลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 1 ปี 4 เดือน ให้จำเลยและบริวารออกจากป่าสงวนแห่งชาติดังกล่าวด้วย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติผิดเฉพาะฐานทำให้เสียทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่เกิดเหตุเป็นป่าสงวนแห่งชาติ แต่เนื่องจากจำเลยเคยทำกินในที่พิพาทมาก่อน จึงได้รับผ่อนผันจากทางราชการให้อยู่อาศัยทำกินต่อไป ต่อมา พ.ศ. 2521 ทางราชการได้ปลูกต้นประดู่และต้นนนทรีลงในที่เกิดเหตุ ในวันที่ 4 พฤษภาคม 2522 จำเลยเข้าไปไถในที่เกิดเหตุเนื้อที่ 12 ไร่ทำให้ต้นไม้ที่ทางราชการปลูกไว้ดังกล่าวเสียหาย การกระทำของจำเลยถือได้ว่าเป็นการกระทำอันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ ตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ มาตรา 14 ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว
พิพากษายืน