แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในการพิจารณาเปรียบเทียบว่าเครื่องหมายการค้าเหมือนหรือคล้ายกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่นั้น ไม่ใช่พิจารณาเปรียบเทียบเฉพาะรูปหรือคำหรือข้อความที่ปรากฏให้เห็นด้วยสายตาเท่านั้น แต่ต้องพิจารณาองค์ประกอบรวมทุกส่วนของเครื่องหมายการค้าทั้งสองนั้น ทั้งสำเนียง เสียงเรียกขาน รายการสินค้าที่ขอจดทะเบียนไว้เพื่อใช้กับเครื่องหมายการค้าทั้งสองว่าเป็นสินค้าจำพวกเดียวกัน หรือเป็นสินค้าต่างจำพวกกันแต่มีลักษณะอย่างเดียวกัน รวมทั้งพิจารณาว่าสาธารณชนกลุ่มผู้ใช้สินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าทั้งสองว่าเป็นกลุ่มเดียวกันและมีความรู้เพียงพอที่จะแยกแยะความแตกต่างของสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าทั้งสองได้ดีหรือไม่เพียงใด สำหรับเครื่องหมายการค้า ตามคำขอจดทะเบียนของโจทก์กับเครื่องหมายการค้าคำว่า “DETECH” ของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว เมื่อนำมาเปรียบเทียบกันจะเห็นได้ว่าเครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์ประกอบด้วยอักษรโรมัน 4 ตัว คือ “D” “T” “E” และ “C” อยู่ภายในกรอบสี่เหลี่ยมผืนผ้าพื้นทึบมุมมน โดยอักษรโรมัน “D” มีลักษณะเป็นอักษรประดิษฐ์ต่างจากอักษรโรมันตัวอื่นซึ่งเป็นอักษรโรมันธรรมดาเพื่อให้เป็นลักษณะเด่นและง่ายต่อการจดจำ ส่วนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วประกอบด้วยอักษรโรมันธรรมดา 6 ตัว คือ “D” “E” “T” “E” “C” และ “H” และไม่มีกรอบสี่เหลี่ยมผืนผ้าพื้นทึบมุมมน ล้อมตัวอักษรดังกล่าว จึงมีความแตกต่างกันในส่วนของรูปลักษณ์ แม้เครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์กับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจะมีเสียงเรียกขาน 2 พยางค์เหมือนกันว่า ดีเทค แต่เมื่อพิจารณาจากรายการสินค้าตามคำขอของโจทก์และรายการสินค้าของเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว ได้ความว่าตามคำขอของโจทก์เป็นการขอจดทะเบียนเพื่อใช้กับสินค้าจำพวก 12 รายการสินค้า เครื่องระบบเบรกสำหรับยานพาหนะที่ไม่ใช้กับรถจักรยานยนต์ ชิ้นส่วนเบรกสำหรับยานพาหนะที่ไม่ใช้กับรถจักรยานยนต์ ผ้าเบรกสำหรับยานพาหนะที่ไม่ใช้กับรถจักรยานยนต์ ส่วนสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า “DETECH” ของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว แม้จะเป็นสินค้าจำพวก 12 เช่นเดียวกัน แต่รายการสินค้าแตกต่างกัน โดยเป็นสินค้ารถจักรยานยนต์ โครงเครื่องยนต์ และอานที่ใช้กับรถจักรยานยนต์ รายการสินค้าตามคำขอของโจทก์เป็นสินค้าที่ไม่เกี่ยวกับรถจักรยานยนต์ แต่รายการสินค้าตามเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วเป็นสินค้าที่เกี่ยวกับรถจักรยานยนต์โดยเฉพาะ สาธารณชนผู้ซื้อสินค้าจึงเป็นคนละกลุ่มกัน ผู้ซื้อสินค้าของโจทก์ส่วนใหญ่จะเป็นช่างซ่อมยานพาหนะที่ไม่ใช่รถจักรยานยนต์ ซึ่งย่อมต้องมีความรู้เกี่ยวกับชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์พอสมควรและย่อมคุ้นเคยกับเครื่องหมายการค้าที่ตนจะซื้อดีพอที่จะแยกแยะความแตกต่างระหว่างสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้า ของโจทก์กับสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “DETECH” ของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วได้ว่าไม่ใช่สินค้าที่มีเจ้าของหรือมีแหล่งกำเนิดของสินค้าเดียวกัน จึงยังไม่อาจถือได้ว่าเครื่องหมายการค้า ตามคำขอของโจทก์เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า “DETECH” ของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า อันเป็นเครื่องหมายการค้าที่ไม่มีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 6 (3) ประกอบมาตรา 13
ในการพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าใดเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรงหรือไม่นั้นจะต้องพิจารณาว่าคำที่นำมาใช้เป็นเครื่องหมายการค้านั้นสามารถทำให้สาธารณชนทราบหรือเข้าใจได้ว่าสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้านั้นมีลักษณะหรือคุณสมบัติอย่างไรและเพียงใด หากสาธารณชนสามารถทราบหรือเข้าใจได้ในทันทีว่าเป็นสินค้านั้น หรือใช้วิจารณญาณเพียงเล็กน้อยก็สามารถทราบหรือเข้าใจได้ว่าสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้านั้นเป็นสินค้าประเภทหรือชนิดใดเพราะคำดังกล่าวเป็นคำที่บรรยายหรือพรรณนาถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้านั้น คำที่นำมาใช้เป็นเครื่องหมายการค้าดังกล่าวย่อมเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้านั้นโดยตรง แต่หากสาธารณชนยังต้องใช้วิจารณญาณพอสมควรในการพิจารณาจึงจะเข้าใจว่าเครื่องหมายการค้าดังกล่าวสื่อให้ทราบถึงประเภทหรือชนิดของสินค้านั้น เพราะเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นเพียงคำแนะนำของสินค้าแล้ว คำที่นำมาใช้เป็นเครื่องหมายการค้าดังกล่าวยังไม่อาจถือได้ว่าเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรงตามมาตรา 7 วรรคสอง (2) แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ เมื่อเครื่องหมายการค้า ที่โจทก์ขอจดทะเบียนไม่มีความหมายหรือคำแปลในพจนานุกรมว่ามีความหมายเช่นไร คงมีคำแปลแต่เพียงคำว่า “TEC” ซึ่งโจทก์นำสืบว่าหมายถึง ส่วนจำเลยนำสืบเพียงคำว่า “TEC” เป็นคำที่เลียนเสียงมาจากคำว่า “TECH” ซึ่งเป็นคำย่อมาจากคำว่า “TECHNOLOGY” ตามพจนานุกรมเท่านั้น ซึ่งตามพจนานุกรมดังกล่าวก็ยังปรากฏด้วยว่าคำว่า tec เป็นคำย่อมาจากคำว่า “detective” หมายถึงนักสืบ และคำว่า “TEC” เป็นคำย่อมาจาก “total blood eosinophil count” หมายถึงการนับจำนวนเม็ดเลือดขาวอีโอสิโนฟีลด้วย คำว่า “DTEC”จึงไม่ใช่คำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าที่โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนโดยตรง จึงมีลักษณะบ่งเฉพาะในตัวเองอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่า เครื่องหมายการค้า ตามคำขอเลขที่ 765882 ของโจทก์เป็นเครื่องหมายอันพึงรับจดทะเบียนได้ ให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ พณ 0704/914 และ พณ 0704/16082 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 884/2555 กับให้จำเลยดำเนินการเพื่อรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 765882 ของโจทก์ต่อไป หากจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ขอถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยไม่โต้แย้งกันในชั้นอุทธรณ์รับฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2553 โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เพื่อใช้กับสินค้าจำพวก 12 รายการสินค้า ระบบเบรกและชิ้นส่วน รวมถึงผ้าเบรก ตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 765882 นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งให้โจทก์แก้ไขรายการสินค้าเนื่องจากไม่ได้ระบุรายการสินค้าแต่ละอย่างโดยชัดแจ้ง และให้โจทก์จดทะเบียนเป็นเครื่องหมายชุดกับเครื่องหมายการค้าคำขอเลขที่ 765881 และ 765883 ของโจทก์ตามหนังสือแจ้งคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า โจทก์ได้ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวโดยยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 765882, 765881 และ 765883 เป็นเครื่องหมายชุด และยื่นคำขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำขอเลขที่ 765882 ใหม่เป็น เครื่องระบบเบรกสำหรับยานพาหนะที่ไม่ใช้กับรถจักรยานยนต์ ชิ้นส่วนเบรกสำหรับยานพาหนะที่ไม่ใช้กับรถจักรยานยนต์ ผ้าเบรกสำหรับยานพาหนะที่ไม่ใช้กับรถจักรยานยนต์ตามคำขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า และหนังสือจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายชุด ต่อมานายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีหนังสือแจ้งให้โจทก์ส่งหลักฐานพิสูจน์ลักษณะบ่งเฉพาะ เพราะอักษรโรมันคำว่า “DTEC” ที่โจทก์ขอจดทะเบียนสื่อความหมายได้ว่าเทคนิคหรือเทคโนโลยีที่ดี เมื่อนำมาใช้กับสินค้าที่ยื่นขอจดทะเบียนถือเป็นการบรรยายสินค้าจึงไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 โจทก์ได้ส่งหลักฐานแสดงการใช้เครื่องหมายการค้าเพื่อพิสูจน์ลักษณะบ่งเฉพาะตามต่อมาวันที่ 14 กรกฎาคม 2554 นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งว่าเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 765882 ของโจทก์ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 เพราะอักษรโรมันคำว่า “DTEC” สื่อความหมายได้ว่า เทคนิคหรือเทคโนโลยีที่ดี เมื่อนำมาใช้กับสินค้าที่ยื่นขอจดทะเบียนถือเป็นการบรรยายสินค้าจึงไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว และหลักฐานที่โจทก์ส่งมาเป็นเครื่องหมายการค้าต่างกันจึงไม่เพียงพอที่จะพิจารณาตามหนังสือแจ้งคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้านอกจากนี้ นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ายังได้มีคำสั่งว่าเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 765882 ของโจทก์เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วตามคำขอเลขที่ 489624 ทะเบียนเลขที่ ค173304 ตามหนังสือแจ้งคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าโจทก์อุทธรณ์คำสั่งทั้งสองของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยยืนตามคำสั่งปฏิเสธของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า โดยวินิจฉัยว่าเครื่องหมายการค้า ตามคำขอเลขที่ 765882 ของโจทก์คล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า “DETECH” ของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วตามทะเบียนเลขที่ ค173304 เนื่องจากมีเสียงเรียกขานคล้ายกัน เมื่อใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกันและรายการสินค้ามีลักษณะอย่างเดียวกันจึงคล้ายกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า ต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 นอกจากนี้ภาคส่วนคำว่า “TEC” เป็นคำที่เลียนเสียงมาจากคำว่า “TECH” ซึ่งตามพจนานุกรมอักษรย่ออังกฤษ – ไทย โดยนายประสาน สุนทรพจน์ เป็นคำย่อมาจากคำว่า “TECHNOLOGY” แปลว่า วิชาเทคนิค วิชาช่าง เมื่อนำมาใช้กับสินค้าจำพวก 12 รายการสินค้า เครื่องระบบเบรกสำหรับยานพาหนะที่ไม่ใช้กับรถจักรยานยนต์ ชิ้นส่วนเบรกสำหรับยานพาหนะที่ไม่ใช้กับรถจักรยานยนต์ ผ้าเบรกสำหรับยานพาหนะที่ไม่ใช้กับรถจักรยานยนต์ ย่อมทำให้เข้าใจได้ว่าสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนเกี่ยวกับยานพาหนะที่ใช้เทคโนโลยีในการผลิต นับว่าเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะของสินค้าโดยตรง จึงไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 วรรคสอง (2) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกว่า เครื่องหมายการค้า ตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 765882 ของโจทก์เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า “DETECH” ของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วตามคำขอเลขที่ 489624 ทะเบียนเลขที่ ค173304 จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่ เห็นว่า ในการพิจารณาเปรียบเทียบว่าเครื่องหมายการค้าเหมือนหรือคล้ายกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่นั้น ไม่ใช่พิจารณาเปรียบเทียบเฉพาะรูปหรือคำหรือข้อความที่ปรากฏให้เห็นด้วยสายตาเท่านั้น แต่ต้องพิจารณาองค์ประกอบรวมทุกส่วนของเครื่องหมายการค้าทั้งสองนั้น ทั้งสำเนียง เสียงเรียกขาน รายการสินค้าที่ขอจดทะเบียนไว้เพื่อใช้กับเครื่องหมายการค้าทั้งสองว่าเป็นสินค้าจำพวกเดียวกันหรือเป็นสินค้าต่างจำพวกกันแต่มีลักษณะอย่างเดียวกัน รวมทั้งพิจารณาว่าสาธารณชนกลุ่มผู้ใช้สินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าทั้งสองว่าเป็นกลุ่มเดียวกันและมีความรู้เพียงพอที่จะแยกแยะความแตกต่างของสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าทั้งสองได้ดีหรือไม่เพียงใด สำหรับเครื่องหมายการค้า ตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 765882 ของโจทก์กับเครื่องหมายการค้าคำว่า “DETECH” ของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วตามทะเบียนเลขที่ ค173304 เมื่อนำมาเปรียบเทียบกันแล้วจะเห็นได้ว่าเครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์ประกอบด้วยอักษรโรมัน 4 ตัว คือ “D” “T” “E” และ “C” อยู่ภายในกรอบสี่เหลี่ยมผืนผ้าพื้นทึบมุมมน โดยอักษรโรมัน “D” มีลักษณะเป็นอักษรประดิษฐ์ต่างจากอักษรโรมันตัวอื่นซึ่งเป็นอักษรโรมันธรรมดาเพื่อให้เป็นลักษณะเด่นและง่ายต่อการจดจำ ส่วนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วประกอบด้วยอักษรโรมันธรรมดา 6 ตัว คือ “D” “E” “T” “E” “C” และ “H” และไม่มีกรอบสี่เหลี่ยมผืนผ้าพื้นทึบมุมมนล้อมตัวอักษรดังกล่าว เครื่องหมายการค้า ตามคำขอจดทะเบียนของโจทก์จึงมีความแตกต่างจากเครื่องหมายการค้าคำว่า “DETECH” ในส่วนของรูปลักษณ์ แม้เครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนของโจทก์กับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจะมีเสียงเรียกขาน 2 พยางค์ เหมือนกันว่า ดีเทค แต่เมื่อพิจารณาจากรายการสินค้าตามคำขอจดทะเบียนของโจทก์และรายการสินค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วได้ความว่าตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เลขที่ 765882 ของโจทก์เป็นการขอจดทะเบียนเพื่อใช้กับสินค้าจำพวก 12 รายการสินค้า เครื่องระบบเบรกสำหรับยานพาหนะที่ไม่ใช้กับรถจักรยานยนต์ ชิ้นส่วนเบรกสำหรับยานพาหนะที่ไม่ใช้กับรถจักรยานยนต์ ผ้าเบรกสำหรับยานพาหนะที่ไม่ใช้กับรถจักรยานยนต์ ส่วนสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า “DETECH” ของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วตามทะเบียนเลขที่ ค173304 แม้จะเป็นสินค้าจำพวก 12 เช่นเดียวกัน แต่รายการสินค้าแตกต่างกัน โดยรายการสินค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วเป็นสินค้ารถจักรยานยนต์ โครง เครื่องยนต์ และอานที่ใช้กับรถจักรยานยนต์ ดังนั้นรายการสินค้าตามคำขอจดทะเบียนของโจทก์และของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจึงมีความแตกต่างกัน โดยรายการสินค้าตามคำขอจดทะเบียนของโจทก์เป็นสินค้าที่ไม่เกี่ยวกับรถจักรยานยนต์ แต่รายการสินค้าตามเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วเป็นสินค้าที่เกี่ยวกับรถจักรยานยนต์โดยเฉพาะ ดังนั้น สาธารณชนผู้ซื้อสินค้าตามคำขอจดทะเบียนของโจทก์และสินค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจึงเป็นคนละกลุ่มกัน นอกจากนี้ผู้ซื้อสินค้าของโจทก์ส่วนใหญ่จะเป็นช่างซ่อมยานพาหนะที่ไม่ใช่รถจักรยานยนต์ซึ่งย่อมต้องมีความรู้เกี่ยวกับชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์พอสมควร และย่อมคุ้นเคยกับเครื่องหมายการค้าของสินค้าที่ตนจะซื้อดีพอที่จะแยกแยะความแตกต่างระหว่างสินค้าเครื่องระบบเบรกสำหรับยานพาหนะที่ไม่ใช้กับรถจักรยานยนต์ ชิ้นส่วนเบรกสำหรับยานพาหนะที่ไม่ใช้กับรถจักรยานยนต์ ผ้าเบรกสำหรับยานพาหนะที่ไม่ใช้กับรถจักรยานยนต์ที่ใช้เครื่องหมายการค้า ของโจทก์กับสินค้ารถจักรยานยนต์ โครง เครื่องยนต์ และอานที่ใช้กับรถจักรยานยนต์ที่ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “DETECH” ของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วได้ว่าไม่ใช่สินค้าที่มีเจ้าของหรือมีแหล่งกำเนิดของสินค้าเดียวกัน จึงยังไม่อาจถือได้ว่าเครื่องหมายการค้า ตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 765882 ของโจทก์เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า “DETECH” ของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า อันเป็นเครื่องหมายการค้าที่ไม่มีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6 (3) ประกอบมาตรา 13 ตามที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัย อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
สำหรับปัญหาอื่นที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางยังไม่ได้วินิจฉัย เมื่อคู่ความนำสืบพยานหลักฐานมาแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรวินิจฉัยโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยอีก โดยมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยข้อต่อมาว่า เครื่องหมายการค้า ตามคำขอเลขที่ 765882 ของโจทก์เมื่อนำมาใช้กับรายการสินค้าตามที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียน ทำให้เข้าใจได้ว่าสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของโจทก์เกี่ยวกับยานพาหนะที่ใช้เทคโนโลยีในการผลิต ถือเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะของสินค้าโดยตรง ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 วรรคสอง (2) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 หรือไม่ โจทก์มีนายกฤชวัชร์ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ยื่นบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นว่า ตามพจนานุกรม A NEW ENGLISH THAI DICTIONARY ของนายเธียรชัย และของ ดร.วิทย์ 17 คำว่า “TEC” มีความหมายว่า นักสืบ ไม่ได้แปลว่า เทคโนโลยี นอกจากนี้อักษรโรมัน “D” ในภาษาอังกฤษก็มิได้สื่อความหมายว่า ดี ในภาษาไทย โจทก์ประกอบธุรกิจส่งออกสินค้าไปทั่วโลกไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย จึงไม่มีเหตุผลที่โจทก์จะใช้อักษรโรมัน “D” เพื่อสื่อความหมายถึงคำว่า ดี ในภาษาไทย การที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยคำว่า “TEC” เป็นคำที่เลียนเสียงมาจากคำว่า “TECH” ซึ่งเป็นคำย่อมาจากคำว่า TECHNOLOGY จึงไม่ถูกต้อง ส่วนจำเลยมีนางนฤมล นายทะเบียนเครื่องหมายการค้า และนางสาวอรรถ นิติกรชำนาญการของจำเลยยื่นบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นว่าคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้พิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์แล้วเห็นว่าภาคส่วนคำว่า “TEC” ตามคำขอของโจทก์เป็นคำที่เลียนเสียงมาจากคำว่า “TECH” ซึ่งตามพจนานุกรมอักษรย่ออังกฤษ-ไทย โดยนายสุนทร เป็นคำย่อมาจากคำว่า “TECHNOLOGY” แปลว่า วิชาเทคนิค วิชาช่าง เมื่อนำมาใช้กับสินค้าจำพวก 12 รายการสินค้า เครื่องระบบเบรกสำหรับยานพาหนะที่ไม่ใช้กับรถจักรยานยนต์ ชิ้นส่วนเบรกสำหรับยานพาหนะที่ไม่ใช้กับรถจักรยานยนต์ ผ้าเบรกสำหรับยานพาหนะที่ไม่ใช้กับรถจักรยานยนต์ ย่อมทำให้เข้าใจได้ว่าสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์เกี่ยวกับยานพาหนะที่ใช้เทคโนโลยีในการผลิต นับว่าเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะของสินค้าโดยตรง ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 วรรคสอง (2) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ส่วนรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าพื้นทึบมุมมนไม่มีลักษณะที่ทำให้ประชาชนหรือผู้ใช้สินค้านั้นทราบและเข้าใจได้ว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์แตกต่างไปจากสินค้าอื่นจึงไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 เครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 สำหรับหลักฐานที่โจทก์นำส่ง เช่น สำเนาหน้าเว็บไซต์ www.aac.co.th
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนที่ พณ 0704/914 และ พณ 0704/16082 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 884/2555 กับให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ตามคำขอเลขที่ 765882 ของโจทก์ต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ