คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1128/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้ศาลมีคำสั่งตั้งให้โจทก์ทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกของ ส. ร่วมกัน แต่ก็มิได้หมายความว่าการกระทำตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกหลายคนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1726 ผู้จัดการมรดกจะต้องร่วมกันทำหรือร่วมกันลงชื่อในนิติกรรมทุกคน การที่โจทก์ที่ 1 ลงชื่อในหนังสือรับสภาพหนี้ในฐานะเจ้าหนี้และผู้จัดการมรดกเพียงผู้เดียวโดยโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกอีกคนหนึ่งรู้เห็นยินยอมก็ต้องถือว่าเป็นการจัดการมรดกร่วมกันแล้ว ประกอบกับการทำหนังสือรับสภาพหนี้ก็มิใช่การทำสัญญาหนังสือรับสภาพหนี้เป็นหนังสือที่ลูกหนี้ทำขึ้นโดยยอมรับว่าตนเป็นหนี้เจ้าหนี้จริง ส่วนเจ้าหนี้หาจำต้องเป็นคู่สัญญาด้วยไม่ เมื่อหนังสือรับสภาพหนี้เป็นหนังสือที่จำเลยที่ 2 ทำขึ้นโดยยอมรับว่าตนเป็นหนี้กู้ยืมเงิน ส. เจ้ามรดก แม้โจทก์ที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. จะมิได้ลงชื่อด้วยหรือลงชื่อแต่เพียงผู้เดียว หนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวก็มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายและใช้บังคับแก่จำเลยที่ 2 ผู้ยอมรับสภาพหนี้ได้

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 3,274,111 บาท ตามหนังสือรับสภาพหนี้ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 3,000,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 3,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสมใจ แต่ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 274,111 บาท ตามที่โจทก์ทั้งสองขอ สำหรับจำเลยที่ 1 ให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกของนางสมใจเจ้ามรดก ตามคำสั่งศาลเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2542 จำเลยที่ 2 ทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้ไว้แก่โจทก์ที่ 1 ยอมรับว่าเป็นหนี้กู้ยืมเงินจากนางสมใจและยอมรับจะชำระหนี้ดังกล่าว แต่จำเลยที่ 2 ผิดนัดไม่ชำระ
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดตามหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวหรือไม่ ได้ความจากนายขันติผู้รับมอบอำนาจโจทก์ทั้งสองและโจทก์ที่ 2 ว่า หลังจากนางสมใจถึงแก่ความตาย โจทก์ที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสมใจได้ตรวจสอบทรัพย์สินของนางสมใจพบว่าจำเลยที่ 2 ทำสัญญากู้ยืมเงินไว้กับนางสมใจ 6,400,000 บาท และออกเช็คชำระหนี้ดังกล่าว จึงมอบหมายให้นายขันติดำเนินการทวงถามจำเลยที่ 2 เจรจาต่อรองขอลดยอดหนี้ลงเหลือ 3,000,000 บาท โดยอ้างว่าเศรษฐกิจไม่ดี และขอแบ่งชำระ 3 งวด งวดละปี ปีละ 1,000,000 บาท โจทก์ที่ 2 ปรึกษากับโจทก์ที่ 1 แล้วยอมรับเงื่อนไขตามที่จำเลยที่ 2 เสนอ จำเลยที่ 2 จึงทำหนังสือรับสภาพหนี้กับโจทก์ที่ 1 เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระแต่ละงวดจำเลยที่ 2 ไม่ชำระ ส่วนจำเลยที่ 2 เบิกความถึงการทำหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวเพียงว่า โจทก์ทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกของนางสมใจร่วมกันตามคำสั่งศาล แต่หนังสือรับสภาพหนี้มีโจทก์ที่ 1 ลงชื่อผู้เดียว โจทก์ที่ 2 ไม่ได้ร่วมลงชื่อด้วยเท่านั้น มิได้นำสืบหักล้างว่า โจทก์ที่ 1 ทำหนังสือรับสภาพหนี้กับจำเลยที่ 2 โดยโจทก์ที่ 2 มิได้รู้เห็นยินยอมด้วย ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามที่โจทก์ทั้งสองนำสืบว่าในการจัดการมรดกของนางสมใจเกี่ยวกับหนี้รายนี้โจทก์ทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกได้ปรึกษาหารือกันแล้วและโจทก์ที่ 2 รู้เห็นยินยอมให้โจทก์ที่ 1 ทำหนังสือรับสภาพหนี้กับจำเลยที่ 2 ตามเงื่อนไขที่จำเลยที่ 2 เสนอ แม้ศาลมีคำสั่งตั้งให้โจทก์ทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกของนางสมใจร่วมกัน แต่ก็มิได้หมายความว่าการกระทำตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกหลายคนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1726 ผู้จัดการมรดกจะต้องร่วมกันทำหรือร่วมกันลงชื่อในนิติกรรมทุกคน การที่โจทก์ที่ 1 ลงชื่อในหนังสือรับสภาพหนี้ในฐานะเจ้าหนี้และผู้จัดการมรดกเพียงผู้เดียวโดยโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกอีกคนหนึ่งรู้เห็นยินยอมก็ต้องถือว่าเป็นการจัดการมรดกร่วมกันแล้ว ประกอบกับการทำหนังสือรับสภาพหนี้ก็มิใช่การทำสัญญา หนังสือรับสภาพหนี้เป็นหนังสือที่ลูกหนี้ทำขึ้นโดยยอมรับว่าตนเป็นหนี้เจ้าหนี้จริง ส่วนเจ้าหนี้หาจำต้องเป็นคู่สัญญาด้วยไม่ เมื่อหนังสือรับสภาพหนี้เป็นหนังสือที่จำเลยที่ 2 ทำขึ้นโดยยอมรับว่าตนเป็นหนี้กู้ยืมเงินนางสมใจเจ้ามรดก แม้โจทก์ที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสมใจจะมิได้ลงชื่อด้วยหรือลงชื่อแต่เพียงผู้เดียว หนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวก็มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายและใช้บังคับแก่จำเลยที่ 2 ผู้ยอมรับสภาพหนี้ได้ ส่วนปัญหาว่า จำเลยที่ 2 เป็นหนี้กู้ยืมเงินตามหนังสือรับสภาพหนี้จริงหรือไม่นั้น จำเลยที่ 2 ให้การว่าจำเลยที่ 2 มิได้เป็นหนี้กู้ยืมเงินแต่นางสมใจและจำเลยที่ 2 ได้ทำการค้าร่วมกัน ต่อมานางสมใจถึงแก่ความตาย โจทก์ที่ 1 ได้ขอเงินคืนแต่บริษัทจำเลยที่ 1 ประสบภาวะขาดทุนไม่มีเงินหมุนเวียนจึงให้จำเลยที่ 2 ทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ ตามคำให้การดังกล่าว แม้จำเลยที่ 2 จะปฏิเสธว่ามิได้กู้ยืมเงินนางสมใจแต่ก็มิได้ปฏิเสธว่าตนไม่ต้องคืนเงินอันเนื่องมาจากการทำการค้าร่วมกับนางสมใจตามที่โจทก์ที่ 1 ทวงถาม แสดงว่าจำเลยที่ 2 มีหนี้ที่จะต้องชำระตามหนังสือรับสภาพหนี้ที่ทำไว้แก่โจทก์ที่ 1 จริง แม้มูลหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้จะมิได้เกิดจากการกู้ยืมเงินดังที่โจทก์ทั้งสองฟ้อง แต่สืบเนื่องมาจากการทำการค้าร่วมกันระหว่างนางสมใจกับจำเลยที่ 2 ดังที่จำเลยที่ 2 ให้การก็ตาม ก็ถือว่ามูลหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวเป็นมูลหนี้ที่ชอบและมีผลบังคับกันได้ตามกฎหมายส่วนมูลหนี้จะเป็นดังที่โจทก์ทั้งสองหรือจำเลยที่ 2 อ้างหาใช่ข้อสำคัญไม่ กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่ามูลหนี้รายนี้เป็นดังที่จำเลยที่ 2 อ้างหรือไม่ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดตามหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าว สำหรับข้อที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า เมื่อจำเลยที่ 2 กับนางสมใจเป็นหุ้นส่วนกันน การเลิกหุ้นส่วนจะต้องมีการชำระบัญชี เมื่อยังไม่มีการชำระบัญชีก็ไม่สามารถฟ้องร้องได้ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้นเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 2 มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ส่วนที่โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้โจทก์ทั้งสองขยายระยะเวลายื่นคำแก้ฎีกาและคำคัดค้านการขอทุเลาการบังคับนั้น ปรากฏว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวและส่งมาให้ศาลฎีกาพิจารณาโดยที่โจทก์ทั้งสองยังมิได้ชำระค่าธรรมเนียมศาลเกี่ยวกับการอุทธรณ์คำสั่งซึ่งเป็นการไม่ชอบ แต่อย่างไรก็ดีอุทธรณ์คำสั่งของโจทก์ทั้งสองเกี่ยวกับเรื่องนี้ไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใดจึงไม่จำต้องสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ให้ถูกต้องและรับวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืนและให้ยกอุทธรณ์คำสั่งของโจทก์ทั้งสอง

Share