แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ปัญหาว่าหนังสือมอบอำนาจซึ่งเป็นใบมอบอำนาจตามประมวลรัษฎากรปิดอากรแสตมป์ครบถ้วนหรือไม่ เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยมิได้ยกประเด็นนี้ขึ้นต่อสู้ในศาลชั้นต้นและเพิ่งจะยกขึ้นเป็นข้อโต้เถียงคัดค้านในชั้นอุทธรณ์ก็ตาม จำเลยก็มีสิทธิยกขึ้นอ้างได้ ปรากฏตามหนังสือมอบอำนาจว่า ห้างหุ้นส่วนสามัญ ก.ได้แต่งตั้งให้ น. และหรือ ว. เป็นผู้รับมอบอำนาจกระทำการต่าง ๆแทนห้างหุ้นส่วนได้แก่ ฟ้องร้อง ต่อสู้คดี ดำเนินคดี และดำเนินการตามกฎหมายทั้งทางแพ่งและทางอาญาในศาลทั้งหลายของประเทศไทยหรือองค์การใด ๆ ของรัฐบาลในประเทศไทยต่อจำเลยทั้งห้า ฟ้องร้องดำเนินคดีล้มละลายแก่ลูกหนี้ในประเทศไทยและกระทำการอื่นตามที่ระบุไว้ในข้อ 1 ถึง 5 ดังนี้ เป็นการมอบอำนาจให้กระทำการมากกว่าครั้งเดียว โดยให้บุคคลหลายคนต่างกระทำกิจการแยกกันได้ ค่าอากรจึงต้องคิดตามรายตัวบุคคลที่รับมอบอำนาจคนละ 30 บาท ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ข้อ 7(ค) ท้ายประมวลรัษฎากร แม้โจทก์ที่ 3ที่ 4 และที่ 5 จะลงลายมือชื่อเป็นผู้มอบอำนาจในหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว แต่ก็เป็นการกระทำในนามของห้างหุ้นส่วนสามัญ ก.หาใช่โจทก์ทั้งสามต่างคนต่างมอบอำนาจเป็นการเฉพาะตัวไม่ เมื่อเป็นการมอบอำนาจให้บุคคล 2 คน ต่างคนต่างกระทำกิจการแยกกันได้ซึ่งต้องปิดอากรแสตมป์สำหรับผู้รับมอบอำนาจคนละ 30 บาทหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวจึงต้องปิดอากรแสตมป์เพียง 60 บาท เท่านั้น การปิดอากรแสตมป์ไม่ครบถ้วนตามประมวลรัษฎากร มาตรา 113 และ 114ก็ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่เรียกเก็บเงินอากรจนครบพร้อมเงินเพิ่มอากรเท่านั้น เมื่อปรากฏว่าจำเลยในชั้นสืบพยานโจทก์ได้ปิดอากรแสตมป์เพิ่มเติมอีก 150 บาท จากที่ปิดอากรแสตมป์ไว้เดิมเพียง 30 บาทซึ่งมากกว่าจำนวนที่ต้องปิดตามกฎหมาย พร้อมทั้งขีดฆ่าแสตมป์นั้นแล้วแม้จะไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ได้เสียเงินเพิ่มอากรศาลก็รับฟังหนังสือมอบอำนาจให้ดำเนินคดีเป็นพยานหลักฐานได้โจทก์ทั้งสามจึงมีอำนาจฟ้อง ข้อเท็จจริงที่จำเลยฎีกาเป็นข้อที่จำเลยมิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การของจำเลยทั้งสอง จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 249 วรรคแรก (เดิม) คดีพิพาทเกี่ยวกับการรับขนของทางทะเล ซึ่ง ป.พ.พ.มาตรา 609 วรรคสอง กำหนดให้บังคับตามกฎหมายและข้อบังคับว่าด้วยการนั้น แต่ปรากฏว่าขณะเกิดข้อพิพาทยังไม่มีกฎหมายและกฎข้อบังคับว่าด้วยการรับขนของทางทะเลใช้บังคับทั้งไม่ปรากฏจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นในเรื่องดังกล่าว จึงต้องนำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 8 รับขนมาใช้บังคับโดยถือเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 616 บัญญัติว่าผู้ขนส่งจะต้องรับผิดในการที่ของอันเขาได้มอบหมายแก่ตนนั้นบุบสลายเว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการบุบสลายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดแต่สภาพแห่งของนั้นเอง หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ส่งหรือผู้รับตราส่ง ดังนี้ เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 รับขนส่งสินค้าลำไยพิพาทโดยมีหน้าที่ต้องจัดหาตู้คอนเทนเนอร์ที่มีเครื่องทำความเย็นสำหรับควบคุมอุณหภูมิในขณะขนส่ง จำเลยที่ 1 และที่ 2มอบตู้คอนเทนเนอร์ดังกล่าวให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ทำการขนส่งเพราะจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่มีเรือบรรทุกสินค้า จำเลยที่ 2เป็นผู้ว่าจ้างโดยมีข้อตกลงกับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ว่าเป็นการส่งตู้คอนเทนเนอร์ที่มีเครื่องทำความเย็นภายในบรรจุลำไยสดจำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงทราบดีว่าสินค้าภายในตู้เป็นผลไม้สดที่ต้องใช้ตู้ทำความเย็นเพื่อรักษาความสดของผลไม้ไว้ เหตุที่จำเลยที่ 3และที่ 4 อ้างว่าสินค้าลำไยพิพาทต้องเสียหายเป็นเพราะความบกพร่องของตู้คอนเทนเนอร์ ท่อน้ำยารั่ว ตู้ดังกล่าวจึงไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิภายในตู้ได้ เจ้าหน้าที่เรือไม่อาจซ่อมแซมขณะเรือแล่นอยู่ในทะเลได้นั้น ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการบุบสลายหรือเสียหายอันเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิดแต่สภาพแห่งของนั้นเอง ทั้งไม่ปรากฏว่าสินค้าต้องบุบสลายหรือเสียหายเพราะความผิดของผู้ขนส่งหรือผู้รับตราส่งแต่อย่างใด การขนส่งของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4ดังกล่าวมีลักษณะเป็นการขนส่งหลายคนหลายทอดจำเลยทั้งสี่จึงต้องรับผิดร่วมกันในการบุบสลายหรือเสียหายนั้นต่อโจทก์ที่ 3 ที่ 4และที่ 5 ผู้รับตราส่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 618
ย่อยาว
โจทก์ทั้งห้าฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ต่างเป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด โจทก์ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 เป็นหุ้นส่วนประกอบธุรกิจขายผักและผลไม้ในประเทศสิงคโปร์ โดยใช้ชื่อทางการค้าห้างหุ้นส่วนสามัญเกียงเซ้งเฟรชฟรุ๊ตส์ คดีนี้ห้างหุ้นส่วนสามัญดังกล่าวโดยโจทก์ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ได้มอบอำนาจให้นายนพพันธ์เมืองโคตรและ/หรือนายเวคิน สุวรรณคีรี เป็นผู้ดำเนินคดีแทนจำเลยทั้งห้าต่างเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการค้าเป็นผู้รับขนส่งสินค้าและคนโดยสารระหว่างประเทศโดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นบริษัทในเครือเดียวกัน จำเลยที่ 3และที่ 4 เป็นบริษัทในเครือเดียวกัน จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ทำสัญญารับขนส่งสินค้าจำพวกผลไม้สดจากกรุงเทพมหานคร ประเทศไทยไปยังสิงคโปร์กับโจทก์ที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตกลงรับขนส่งผลไม้สดและจัดหาตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 40 ฟุต ซึ่งมีเครื่องทำความเย็นสำหรับควบคุมอุณหภูมิในขณะขนส่งและทำการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ที่มีเครื่องทำความเย็นซึ่งบรรจุผลไม้สดที่โจทก์ที่ 1ส่งมอบให้ไปยังประเทศสิงคโปร์ สัปดาห์ละ 2 ตู้ โดยทำการขนส่งครั้งละ 1 ตู้ รวม 10 เที่ยว จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะต้องจัดหาตู้คอนเทนเนอร์ที่มีเครื่องทำความเย็นที่มีคุณภาพดีและควบคุมอุณหภูมิของผลไม้สดที่บรรจุในตู้คอนเทนเนอร์ในระหว่างขนส่งทางเรือให้มีระดับบวก 2 องศาเซนติเกรด ถ้าเครื่องทำความเย็นของตู้คอนเทนเนอร์ไม่ทำงานหรืออุปกรณ์เครื่องทำความเย็นของตู้คอนเทนเนอร์บกพร่องทำให้ผลไม้สดที่บรรจุในตู้คอนเทนเนอร์ดังกล่าวเสียหาย จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องรับผิดชอบต่อโจทก์ที่ 1ต่อมาโจทก์ที่ 2 ได้มอบหมายให้โจทก์ที่ 1 เป็นตัวแทนในการจัดส่งสินค้าลำไยสดเพื่อทำการขนส่งไปยังประเทศสิงคโปร์และส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อคือห้างหุ้นส่วนสามัญเกียงเซ้งเฟรชฟรุ๊ตส์ โจทก์ที่ 1จึงได้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำการขนส่งโดยได้มอบลำไยจำนวนดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำไปบรรจุตู้คอนเทนเนอร์ขนาด40 ฟุต ซึ่งมีเครื่องทำความเย็นเพื่อรักษาอุณหภูมิของตู้คอนเทนเนอร์ให้มีอุณหภูมิบวก 3 องศาเซนติเกรด แต่เนื่องจากจำเลยที่ 1 และที่ 2ไม่มีเรือบรรทุกสินค้าไปประเทศสิงคโปร์ และไม่มีผู้ขนส่งทอดสุดท้ายที่ประเทศสิงคโปร์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงได้มอบให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้ทำการขนส่งต่ออีกทอดหนึ่งจากประเทศไทยไปประเทศสิงคโปร์ และเนื่องจากจำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่ยอมทำการขนส่งทอดสุดท้ายที่ประเทศสิงคโปร์เพื่อส่งมอบสินค้าให้แก่โจทก์ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ทั้งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่มีใบตราส่งทางเรือที่จะออกให้แก่โจทก์ที่ 2 จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงติดต่อขอให้จำเลยที่ 5 เป็นผู้ออกใบตราส่งทางเรือ ซึ่งจำเลยที่ 5 ได้ออกใบตราส่งทางเรือโดยระบุว่าโจทก์ที่ 2 เป็นผู้ส่งสินค้าห้างหุ้นส่วนสามัญเกียงเซ้งเฟรชฟรุ๊ตส์ เป็นผู้รับตราส่งและระบุให้บริษัทเฟรทแมนเนจเม้นท์ (พีอีที) จำกัด ซึ่งเป็นตัวการของจำเลยที่ 5 ในประเทศสิงคโปร์เป็นผู้ขนส่งทอดสุดท้าย เพื่อแจ้งการมาของเรือบรรทุกสินค้าตลอดจนรับแลกใบตราส่งทางเรือและออกใบปล่อยสินค้า โดยโจทก์ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 จะเป็นผู้มารับสินค้าจากบริษัทเฟรทแมนเนจเม้นท์ (พีทีอี) จำกัด ที่ประเทศสิงคโปร์และโจทก์ที่ 2 จะได้นำใบตราส่งทางเรือของจำเลยที่ 5 เป็นเอกสารประกอบการเบิกเงินจากธนาคารพาณิชย์ ต่อมาวันที่ 27 กรกฎาคม 2527เรือบรรทุกสินค้า”ธนะภูมิ”ได้เดินทางไปถึงประเทศสิงคโปร์เมื่อโจทก์ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ไปรับสินค้าจากบริษัทเฟรทแมนเจเม้นท์ (พีทีอี) จำกัด ปรากฏว่าสินค้าลำไยที่ส่งไปเสียหาย ลำไยเกือบจะบูดเน่า เนื่องจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 จัดหาตู้คอนเทนเนอร์ที่มีเครื่องทำความเย็นที่ชำรุดบกพร่อง เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นแก่สินค้าลำไยสดระหว่างการขนส่ง จำเลยที่ 1และที่ 2 ในฐานะผู้ขนส่งจำเลยที่ 3 และที่ 4 ในฐานะผู้ร่วมขนส่งและได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ทำการขนส่ง และจำเลยที่ 5 ในฐานะตัวแทนของผู้ขนส่งทอดสุดท้ายซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในต่างประเทศ และเป็นผู้ออกใบตราส่งทางเรือ จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งห้าที่ต้องขายลำไยไปในราคาต่ำมาก ทำให้โจทก์ที่ 3ที่ 4 และที่ 5 ต้องขาดทุนเป็นเงิน 28,000 เหรียญสิงคโปร์ โจทก์ทั้งห้าได้ทวงถามแล้ว แต่จำเลยทั้งห้าบ่ายเบี่ยงเรื่อยมาและไม่ยอมชำระ ขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงินจำนวน 343,560 บาทให้โจทก์ทั้งห้า พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งห้าจะชำระเงินเสร็จสิ้น
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า โจทก์ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5ไม่ได้มอบอำนาจให้นายนพพันธ์ เมืองโคตร และ/หรือ นายเวคินสุวรรณคีรี เป็นผู้ฟ้องคดีนี้แทน โจทก์ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5จึงไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ที่ 1 ไม่เคยทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 1และที่ 2 ให้ทำการขนส่งลำไยสด จากกรุงเทพมหานคร ประเทศไทยไปยังประเทศสิงคโปร์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่เคยตกลงรับขนส่งลำไยสดพร้อมทั้งจัดหาตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 40 ฟุต ซึ่งมีเครื่องทำความเย็นควบคุมอุณหภูมิให้โจทก์ที่ 1 ลำไยเป็นพืชผลทางการเกษตรโดยธรรมชาติเมื่อเก็บเกี่ยวแล้ว ความสดของลำไยย่อมลดลงไปตามกาลเวลาจึงเป็นเหตุให้เปลือกลำไยสดเปลี่ยนสีไป หากเกิดความเสียหายจริงอย่างมากไม่เกิน 5,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้การว่า โจทก์ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5มิได้มอบอำนาจให้นายนพพันธ์ เมืองโคตร และหรือนายเวคินสุวรรณคีรี เป็นผู้ฟ้องคดีนี้ จำเลยที่ 3 มิได้เป็นผู้ทำการขนส่งหรือร่วมกับจำเลยที่ 4 ทำการขนส่งลำไยจากประเทศไทยไปยังประเทศสิงคโปร์ จำเลยที่ 3 เป็นเพียงตัวแทนทำสัญญาขนส่งแทนจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นเจ้าของเรือ “ธนะภูมิ” ผู้ขนส่งสินค้าดังกล่าวถ้าหากโจทก์ทั้งห้าได้รับความเสียหายก็ต้องเรียกร้องจากจำเลยที่ 4ซึ่งเป็นตัวการโดยตรง โจทก์ทั้งห้ามิได้ว่าจ้างจำเลยที่ 3 และที่ 4แต่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ว่าจ้างจำเลยที่ 4 ทำการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์รายพิพาท จำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ทั้งห้าจำเลยที่ 4 รับจ้างขนส่งตู้คอนเทนเนอร์รายพิพาทจากจำเลยที่ 2โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้บรรจุและตรวจสินค้าลงในตู้คอนเทนเนอร์ที่มีเครื่องทำความเย็นของจำเลยที่ 2 เอง และจำเลยที่ 2 เป็นผู้ตั้งอุณหภูมิของเครื่องทำความเย็นของตู้คอนเทนเนอร์ จำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องทำการดังกล่าว ถ้าเครื่องทำความเย็นของตู้คอนเทนเนอร์ไม่สามารถทำความเย็นตามที่ต้องการได้ ก็ไม่ใช่เรื่องที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ต้องรับผิดชอบ เนื่องจากขณะนั้นเรือยังอยู่ในทะเลและเป็นความชำรุดภายในตู้คอนเทนเนอร์ เพราะท่อส่งแก๊สแอมโมเนียภายในตู้แตก ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 5 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 เป็นเงิน 343,560 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 1 และที่ 2
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 จึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีขึ้นมาสู่การพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาเฉพาะระหว่างโจทก์ที่ 3 ถึงที่ 5 กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 3 และที่ 4 ประการแรกว่า โจทก์ที่ 3ที่ 4 และที่ 5 มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ปัญหาว่าหนังสือมอบอำนาจซึ่งเป็นใบมอบอำนาจตามประมวลรัษฎากรปิดอากรแสตมป์ครบถ้วนหรือไม่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 3และที่ 4 มิได้ยกประเด็นนี้ขึ้นต่อสู้ในศาลชั้นต้นและเพิ่งจะยกขึ้นเป็นข้อโต้เถียงคัดค้านในชั้นอุทธรณ์ก็ตาม จำเลยที่ 3 และที่ 4ก็มีสิทธิยกขึ้นอ้างได้ปรากฏตามหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวห้างหุ้นส่วนสามัญเกียงเซ้งเฟรชฟรุ๊ตส์ได้แต่งตั้งให้นายนพพันธ์และ/หรือนายเวคินเป็นผู้รับมอบอำนาจกระทำการต่าง ๆ แทนห้างหุ้นส่วน ได้แก่ ฟ้องร้อง ต่อสู้คดี ดำเนินคดี และดำเนินการตามกฎหมายทั้งทางแพ่งและทางอาญาในศาลทั้งหลายของประเทศไทยหรือองค์การใด ๆ ของรัฐบาลในประเทศไทยต่อจำเลยทั้งห้า ฟ้องร้องดำเนินคดีล้มละลายแก่ลูกหนี้ในประเทศไทย และการกระทำการอื่นตามที่ระบุไว้ในข้อ 1 ถึง 5 ดังนี้ เป็นการมอบอำนาจให้กระทำการมากกว่าครั้งเดียว โดยให้บุคคลหลายคนต่างคนต่างกระทำกิจการแยกกันได้ค่าอากรจึงต้องคิดตามรายตัวบุคคลที่รับมอบอำนาจคนละ 30 บาทตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ข้อ 7(ค) ท้ายประมวลรัษฎากร แม้โจทก์ที่ 3ที่ 3 และที่ 5 จะลงลายมือชื่อเป็นผู้มอบอำนาจในหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว แต่ก็เป็นการกระทำในนามของห้างหุ้นส่วนสามัญเกียงเซ้งเฟรชฟรุ๊ตส์ หาใช่โจทก์ทั้งสามต่างคนต่างมอบอำนาจเป็นการเฉพาะตัวไม่ เมื่อเป็นการมอบอำนาจให้บุคคล 2 คน ต่างคนต่างกระทำกิจการแยกกันได้ ซึ่งต้องปิดอากรแสตมป์สำหรับผู้รับมอบอำนาจคนละ 30 บาท หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวต้องปิดอากรแสตมป์เพียง 60 บาทเท่านั้น ไม่จำต้องปิดอากรแสตมป์ถึง 180 บาท ดังฎีกาของจำเลยที่ 3และที่ 4 และการปิดอากรแสตมป์ไม่ครบถ้วนประมวลรัษฎากร มาตรา 113และ 114 ก็ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่เรียกเก็บเงินอากรจนครบพร้อมเงินเพิ่มอากรเท่านั้น เมื่อปรากฏว่าในชั้นสืบพยานโจทก์ได้ปิดอากรแสตมป์เพิ่มเติมอีก 150 บาท จากที่ปิดอากรแสตมป์ไว้เดิมเพียง30 บาท ซึ่งมากกว่าจำนวนที่ต้องปิดตามกฎหมายพร้อมทั้งขีดฆ่าแสตมป์นั้นแล้ว แม้จะไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ได้เสียเงินเพิ่มอากร ศาลก็รับฟังหนังสือมอบอำนาจให้ดำเนินคดีเป็นพยานหลักฐานได้ โจทก์ทั้งสามจึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้
ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา เมื่อโจทก์ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5ได้รับสินค้าแล้วพบว่าสินค้าเสียหายจะต้องแจ้งให้ผู้ขนส่งและผู้ส่งสินค้าทราบเพื่อให้ผู้ขนส่งและผู้ส่งสินค้าส่งตัวแทนไปร่วมเป็นพยานในการตรวจสอบกับผู้รับสินค้า แต่ผู้รับสินค้าไม่ได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบ ซึ่งถือว่าเป็นการปฏิบัติผิดหลักสากลทั่วไปและรายงานการสำรวจความเสียหายเอกสารหมาย ล.2 ไม่ถูกต้อง เพราะผู้สำรวจเป็นตัวแทนของโจทก์ที่ 2 ได้รายงานเกี่ยวกับสินค้าที่ขนส่งในเที่ยวเดินเรือวันที่ 14 กรกฎาคม 2527 แต่ที่โจทก์นำมาเรียกร้องจากจำเลยที่ 1 นั้นเป็นสินค้าที่อ้างว่าส่งโดยเที่ยวเดินเรือวันที่25 กรกฎาคม 2527 ซึ่งเป็นคนละเที่ยวกันแม้จะเป็นเรือธนะภูมิลำเดียวกันก็ตาม โจทก์จึงไม่มีความเสียหายเกิดขึ้นนั้น ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การของจำเลยทั้งสอง จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรก (เดิม) ส่วนที่จำเลยที่ 3 และที่ 4ฎีกาว่า เหตุที่สินค้าลำไยพิพาทเสียหายนั้นเป็นเพราะความบกพร่องของตู้คอนเทนเนอร์ ท่อน้ำยารั่ว ตู้ดังกล่าวจึงไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิภายในตู้ได้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ทำดีที่สุดเพื่อบรรเทาความเสียหายแล้ว เจ้าหน้าที่เรือไม่อาจซ่อมแซมตู้คอนเทนเนอร์ขณะเรือแล่นอยู่ในทะเลได้ ความบกพร่องของตู้คอนเทนเนอร์มิได้เกิดจากกระแสไฟฟ้าภายในเรือขัดข้อง จึงถือไม่ได้ว่าความเสียหายเกิดจากการขนส่งของเรือธนะภูมิ จำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 นั้น เห็นว่า คดีนี้เป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการรับขนของทางทะเล ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 609 วรรคสอง กำหนดให้บังคับตามกฎหมายและกฎข้อบังคับว่าด้วยการนั้น แต่ปรากฏว่าขณะเกิดข้อพิพาทยังไม่มีกฎหมายและกฎข้อบังคับว่าด้วยการรับขนของทางทะเลใช้บังคับ ทั้งไม่ปรากฏจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นในเรื่องดังกล่าว จึงต้องนำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 8 รับขน มาใช้บังคับโดยถือเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 ปัญหานี้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 616 บัญญัติว่าผู้ขนส่งจะต้องรับผิดในการที่ของอันเขาได้มอบหมายแก่ตนนั้นบุบสลายเว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการบุบสลายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดแต่สภาพแห่งของนั้นเอง หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ส่งหรือผู้รับตราส่ง คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2รับขนส่งสินค้าลำไยพิพาทโดยมีหน้าที่ต้องจัดหาตู้คอนเทนเนอร์ที่มีเครื่องทำความเย็นสำหรับควบคุมอุณหภูมิในขณะขนส่ง จำเลยที่ 1และที่ 2 มอบตู้คอนเทนเนอร์ดังกล่าวให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ทำการขนส่งเพราะจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่มีเรือบรรทุกสินค้า ซึ่งปรากฏตามคำให้การของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ว่าจ้างโดยมีข้อตกลงกับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ว่า เป็นการส่งตู้คอนเทนเนอร์ที่มีเครื่องทำความเย็นโดยภายในบรรจุลำไยสด ดังนี้ จำเลยที่ 3และที่ 4 จึงทราบดีว่าสินค้าภายในตู้เป็นผลไม้สดที่ต้องใช้ตู้ทำความเย็นเพื่อรักษาความสดของผลไม้ไว้ เหตุที่จำเลยที่ 3และที่ 4 อ้างว่าสินค้าลำไยพิพาทต้องเสียหายในฎีกาดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่าเป็นการบุบสลายหรือเสียหายอันเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิดแต่สภาพแห่งของนั้นเอง ทั้งไม่ปรากฏว่าสินค้าพิพาทต้องบุบสลายหรือเสียหายเพราะความผิดของผู้ขนส่งหรือผู้รับตราส่งแต่อย่างใดการขนส่งของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ดังกล่าวมีลักษณะเป็นการขนส่งหลายคนหลายทอด จำเลยทั้งสี่จึงต้องรับผิดร่วมกันในการบุบสลายหรือเสียหายนั้นต่อโจทก์ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5ผู้รับตราส่ง ตามมาตรา 618 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
พิพากษายืน