คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6259/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คำสั่งของผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่มีข้อความใดแสดงว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควร สู่ศาลสูงสุดจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 221 ถือไม่ได้ว่าเป็นการอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงแล้ว การที่ โจทก์ร่วมจะเป็นผู้เสียหายและมีสิทธิขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมหรือไม่ นั้น ไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ฎีกาข้อกฎหมายของจำเลยจึง ไม่เป็นสาระแก่คดี อันควรได้รับการวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 ประกอบด้วยป.วิ.อ. มาตรา 15.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยหลายบทหลายกระทงต่างกรรมตามประมวลกฎหมายอาญา
จำเลยให้การรับสารภาพบางกระทงความผิด แต่ปฏิเสธบางกระทงความผิด
ระหว่างพิจารณานางจิราภรณ์ สุภาศรี ภริยานายสำราญ สุภาศรีผู้ตายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291, 390 พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 6 วรรคสอง,60, 64 พระราชบัญญัติรถยนต์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2527 มาตรา 7พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43, 157 ซึ่งเป็นความผิดหลายกรรม ให้เรียงกระทงลงโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ฐานขับรถยนต์ไม่มีใบอนุญาตปรับ 800 บาท ฐานใช้รถยนต์ที่จดทะเบียนแล้วแต่ไม่ได้เสียภาษีประจำปี ปรับ 1,000 บาทและฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายซึ่งเป็นบทหนักจำคุก 4 ปี จำเลยให้การรับสารภาพฐานขับรถยนต์โดยไม่มีใบอนุญาตและฐานใช้รถยนต์ที่จดทะเบียนแล้วแต่ไม่ได้เสียภาษีประจำปี เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 ปี และปรับรวม900 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำร้องที่จำเลยขอให้รับรองฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงว่า “เห็นว่าคดีนี้มีปัญหาที่ว่าพยานวัตถุอันเป็นพยานเกี่ยวข้องในคดีซึ่งเป็นพยานสำคัญอันควรสู่ศาลฎีกา จึงอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้” นั้น เป็นคำสั่งที่มิได้มีข้อความใดที่แสดงว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดจึงเป็นคำสั่งที่มิชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 221 ถือไม่ได้ว่าเป็นการอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงโดยชอบ ศาลฎีกาจึงรับวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงให้ไม่ได้และที่จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า นายสำราญ สุภาศรี ผู้ตาย สามีโจทก์ร่วมมีส่วนในการกระทำความผิดด้วย โจทก์ร่วมจึงไม่ใช่ผู้เสียหายไม่มีอำนาจขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมนั้น เห็นว่า เมื่อคดีนี้ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงแล้ว การที่โจทก์ร่วมจะเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมหรือไม่นั้น ไม่ทำให้ผลของคดีนี้เปลี่ยนแปลงไป ฎีกาข้อกฎหมายของจำเลยจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายกฎีกาจำเลย.

Share