แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ตาม ระเบียบเกี่ยวกับการจ่ายบำเหน็จแก่พนักงานของจำเลยกำหนดเงื่อนไขการจ่ายบำเหน็จแก่พนักงานที่ออกจากงานเพราะถึงแก่กรรมว่าจะจ่ายให้พนักงานที่ถึงแก่กรรม และการถึงแก่กรรมนั้นมิได้เกิดขึ้นเนื่องจากการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ดังนี้ การที่ ท.พนักงานของจำเลยใช้ อาวุธปืนยิง ย. พนักงานด้วย กันถึงแก่ความตายในเวลาทำงาน และในสถานที่ทำงานของจำเลยซึ่ง เป็นนายจ้าง ถือ ได้ ว่าเป็นการประพฤติชั่วร้ายแรง ส่วนต่อมา ท.ได้ ใช้ อาวุธปืนยิงฆ่าตัวตายในเวลาต่อเนื่องกัน ก็เป็นเพียงการหนีความรับผิดจากการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ดังนี้ โจทก์ซึ่งเป็นทายาทของ ท. ไม่มีสิทธิรับเงินบำเหน็จตาม ระเบียบดังกล่าว.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 5 เป็นบุตรของนายทองชุบเอี่ยมจรูญ จำเลยเป็นเจ้าของกิจการโรงงานยาสูย นายทองชุบเป็นลูกจ้างของโรงงานยาสูบ ค่าจ้างเดือนละ 8,160 บาท นายทองชุบถึงแก่กรรมด้วยสาเหตุฆ่าตัวตาย เมื่อนายทองชุบถึงแก่กรรมโจทก์ทั้งห้าในฐานะทายาทมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จจำนวน 212,160 บาทตามระเบียบการจ่ายบำเหน็จแก่พนักงานยาสูบ พ.ศ. 2500 แต่จำเลยปฏิเสธไม่ยอมจ่ายเงินบำเหน็จให้แก่โจทก์โดยให้เหตุผลว่า จำเลยมีคำสั่งไล่นายทองชุบออกจากงานแล้วเพราะประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามระเบียบของโรงงานยาสูบ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินบำเหน็จแก่โจทก์ทั้งห้า เป็นเงิน 212,160 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า โจทก์ทุกคนไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามระเบียบการจ่ายบำเหน็จแก่พนักงานยาสูบ พ.ศ. 2500
วันนัดพิจารณาโจทก์จำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่า โจทก์ทั้งห้าเป็นทายาทของนายทองชุบ เอี่ยมจรูญ ผู้ตาย ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลย (ความจริงเป็นลูกจ้างของโรงงานยาสูบ) จำเลยมีระเบียบการจ่ายบำเหน็จแก่พนักงานยาสูบ พ.ศ. 2500 ตามเอกสารหมาย จ.ล.1เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2531 เวลาประมาณ 17 นาฬิกา นายทองชุบพาอาวุธปืนเข้าไปในที่ทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตและใช้อาวุธปืนยิงนางยุบล ภาคยะวัธน์ เพื่อนร่วมงานจนถึงแก่ความตายเหตุเกิดที่โรงงานยาสูบ 4 ในระหว่างการทำงานล่วงเวลา หลังจากนั้นนายทองชุบได้ใช้อาวุธปืนยิงตัวเองจนถึงแก่ความตาย คณะกรรมการสอบสวนของจำเลยได้สอบสวนแล้วจำเลยจึงได้มีคำสั่งไล่นายทองชุบออกจากงาน แล้วโจทก์จำเลยแถลงไม่สืบพยาน
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า การที่นายทองชุบพาอาวุธปืนเข้าไปในโรงงานยาสูบ 4 ในระหว่างทำงานล่วงเวลา และใช้อาวุธปืนดังกล่าวยิงนางยุบลถึงแก่ความตาย ถือได้ว่า เป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง เมื่อนายทองชุบฆ่าตัวตายในเวลาต่อมาก็เพราะเนื่องจากการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงนั่นเอง นายทองชุบจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามระเบียบการจ่ายบำเหน็จแก่พนักงานยาสูบ พ.ศ. 2500 เอกสารหมาย จ.ล.1 ข้อ 3 (ง) โจทก์ทั้งห้าซึ่งเป็นทายาทของนายทองชุบก็ไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จด้วยพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งห้าอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้วตามระเบียบการจ่ายบำเหน็จแก่พนักงานยาสูบ พ.ศ. 2500 เอกสารหมายจ.ล.1 ได้กำหนดเงื่อนไขการจ่ายบำเหน็จแก่พนักงานที่ถึงแก่กรรมไว้ในข้อ 3 (ง) ว่า
ข้อ 3. พนักงานยาสูบที่ออกจากงานในกรณีและเงื่อนไขดังต่อไปนี้มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จ คือ
ง. ถึงแก่กรรมและการถึงแก่กรรมนั้นมิได้เกิดขึ้นเนื่องจากการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง
ดังนั้น พนักงานยาสูบที่ถึงแก่กรรมลง ตามปกติทายาทจะมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จ เว้นแต่การถึงแก่กรรมนั้นเกิดขึ้นเนื่องจากการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งห้าจึงมีว่า การที่นายทองชุบพกพาอาวุธปืนเข้าไปในที่ทำงานในโรงงานยาสูบ 4 และใช้อาวุธปืนนั้นยิงนางยุบล ภาคยะวัธน์เพื่อนร่วมงานจนถึงแก่ความตายในขณะทำงานให้แก่โรงงานยาสูบหลังจากนั้นนายทองชุบก็ใช้อาวุะปืนยิงตัวเองจนถึงแก่ความตายดังข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมาการตายของนายทองชุบได้เกิดขึ้น เนื่องจากประพฤติชั่วร้ายแรงตามระเบียบดังกล่าวหรือไม่เห็นว่า ตามระเบียบดังกล่าวไม่ได้กำหนดว่าพนักงานที่ถึงแก่กรรมและไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จ จะต้องเป็นการถึงแก่กรรมเพราะถูกบุคคลอื่นฆ่าตาย เนื่องจากการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงดังที่โจทก์ทั้งห้าอุทธรณ์ ดังนั้น ไม่ว่าพนักงานจะถึงแก่กรรมเพราะเหตุใดก็ตาม ถ้าเนื่องจากการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงแล้วก็ไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามระเบียบนี้ การที่นายทองชุบใช้อาวุธปืนยิงนางยุบลในที่ทำงานและในเวลาทำงานล่วงเวลาของโรงงานยาสูบผู้เป็นนายจ้าง ถือได้ว่าเป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ในเวลาต่อเนื่องกันหลังจากประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง นายทองชุบได้ใช้อาวุธปืนยิงตัวเองจนถึงแก่ความตาย การฆ่าตัวตายของนายทองชุบก็เพื่อหนีความรับผิดจากการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงนั่นเอง การถึงแก่กรรมของนายทองชุบจึงเนื่องจากการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงตามระเบียบการจ่ายบำเหน็จแก่พนักงานยาสูบ พ.ศ. 2500 ข้อ 3 (ง)โจทก์ทั้งห้าซึ่งเป็นทายาทของนายทองชุบจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จดังกล่าว…”
พิพากษายืน.