แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การจะใช้สิทธิชำระหนี้แทนลูกหนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 230 ได้นั้นจะต้องเป็นการชำระหนี้แทนโดยไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าหนี้ด้วย เมื่อปรากฏว่า ขณะโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ยื่นฟ้องจำเลย บริษัท ส. เป็นหนี้จำเลยตามคำพิพากษาตามยอมอยู่เป็นเงินประมาณ 18,852,600 บาท ทั้งการจำนองรายนี้เป็นการจำนองที่ดินแปลงใหญ่เพียงแปลงเดียว คือที่ดินโฉนดเลขที่ 109377 ภายหลังที่ดินแปลงดังกล่าวได้แบ่งแยกเป็นแปลงย่อย ๆ โดยถือว่าที่ดินแปลงย่อยที่แบ่งแยกออกไปยังคงจำนองด้วยตามสัญญาเดิม หาใช่เป็นการจำนองที่ดินหลายแปลงอันจะแบ่งภาระการจำนองได้ไม่ โจทก์ที่ 1 และที่ 2 จึงไม่อาจใช้สิทธิตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้นบังคับจำเลยให้ยอมรับการชำระหนี้บางส่วนแทนบริษัท ส. แล้วให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนสิทธิจำนองให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 โดยให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 สวมสิทธิเจ้าหนี้จำนองแทนจำเลยตามฟ้องเพราะอาจเป็นการเสียหายแก่จำเลยได้
คดีนี้มีข้อพิพาทเพียงว่าจำเลยจะต้องยอมให้โจทก์ทั้งสองชำระหนี้แทนลูกหนี้จำนองในจำนวนเงินสำนวนละ 700,000 บาท ได้หรือไม่เท่านั้น จึงไม่ใช่เป็นคดีมีทุนทรัพย์ เพราะแม้หากจำเลยจะต้องยอมให้โจทก์ทั้งสองชำระหนี้แทนลูกหนี้ตามที่ขอที่ดินพิพาทก็ยังเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท ส. อยู่ ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เสียเกินมาแก่โจทก์ทั้งสองและจำเลย
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยเรียกโจทก์สำนวนแรกว่าโจทก์ที่ 1 และเรียกโจทก์สำนวนหลังว่าโจทก์ที่ 2
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องขอให้มีคำสั่งว่าโจทก์ที่ 1 และที่ 2 มีสิทธิเข้าใช้หนี้ภาระจำนองในที่ดินโฉนดเลขที่ 131427 และ 131458 ตำบลจรเข้บัว อำเภอบางกะปิกรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ตามลำดับ เต็มจำนวนภาระแห่งหนี้จำนองแปลงละ 700,000 บาท แทนบริษัทประสานมิตรก่อสร้าง จำกัด กับให้จำเลยรับชำระหนี้ดังกล่าว แล้วให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนสิทธิจำนองให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 โดยให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 สวมสิทธิเจ้าหนี้จำนองแทนจำเลย หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยเป็นเจ้าหนี้บริษัทประสานมิตรก่อสร้าง จำกัด กับพวก ตามคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขคดีแดงที่ 13797/2531 ของศาลชั้นต้น และจำเลยได้บังคับคดีโดยนำยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง 28 แปลง ที่บริษัทประสานมิตรก่อสร้าง จำกัด จำนองเป็นประกันหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีไว้แก่จำเลย จำเลยไม่มีข้อตกลงกับบริษัทประสานมิตรก่อสร้าง จำกัด ว่า หากบริษัทประสานมิตรก่อสร้าง จำกัด หาผู้ซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแปลงใดได้แล้ว จำเลยจะปลดจำนองให้เป็นรายแปลงเพื่อโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้ซื้อ โดยผู้ซื้อจะต้องจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่จำเลยตามราคาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ผู้ซื้อค้างชำระแก่บริษัทประสานมิตรก่อสร้าง จำกัด และให้ถือว่าผู้ซื้อได้ชำระหนี้ส่วนที่เหลือให้แก่บริษัทประสานมิตรก่อสร้าง จำกัด กับให้ถือว่าบริษัทประสานมิตรก่อสร้าง จำกัด ชำระหนี้ส่วนหนึ่งให้แก่จำเลยด้วย ตามที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 อ้าง ส่วนการกระจายภาระแห่งหนี้จำนองในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง 28 แปลง แต่ละแปลงมีภาระแห่งหนี้จำนองไม่เกินแปลงละ 700,000 บาท ตามที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 อ้างนั้นไม่ได้เป็นไปตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 734 บัญญัติไว้ และไม่ได้เป็นไปตามความจริงและหลักเกณฑ์ที่จำเลยและสถาบันการเงินอื่นใช้อยู่ เพราะการกระจายภาระแห่งหนี้จำนองจะต้องคำนึงถึงสภาพที่ตั้งและเนื้อที่ของที่ดินแปลงนั้น ๆ พร้อมสิ่งปลูกสร้างด้วยภาระหนี้จำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทมีมากกว่าที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 อ้าง โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ไม่อยู่ในฐานะที่จะรับช่วงสิทธิในการไถ่ถอนหรือปลดจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่พิพาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องทั้งสองสำนวน
โจทก์ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยรับการไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทตามฟ้องจากโจทก์ที่ 1 และที่ 2 โดยโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ต้องชำระหนี้ ค่าไถ่ถอนจำนองตามที่ค้างชำระอยู่จริง แต่ไม่เกินแปลงละ 700,000 บาท และให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้สวมสิทธิเจ้าหนี้ผู้รับจำนอง หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยทั้งสองสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 230 วรรคแรก บัญญัติว่า “ถ้าในการที่เจ้าหนี้นำบังคับยึดทรัพย์อันหนึ่งอันใดของลูกหนี้นั้น บุคคลใดจะต้องเสี่ยงภัยเสียสิทธิในทรัพย์อันนั้นเพราะการบังคับยึดทรัพย์ไซร้ท่านว่าบุคคลผู้นั้นมีสิทธิจะเข้าใช้หนี้เสียแทนได้ อนึ่ง ผู้ครองทรัพย์อันหนึ่งอันใด ถ้าจะต้องเสี่ยงภัยเสียสิทธิครองทรัพย์นั้นไปเพราะการบังคับยึดทรัพย์ ก็ย่อมมีสิทธิจะทำได้เช่นเดียวกับที่ว่ามานั้น” และวรรคสองของมาตราดังกล่าวบัญญัติว่า “ถ้าบุคคลภายนอกผู้ใดมาใช้หนี้แทนจนเป็นที่พอใจของเจ้าหนี้แล้ว บุคคลผู้นั้นย่อมเข้ารับช่วงสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้แต่สิทธิเรียกร้องอันนี้จะบังคับให้เป็นที่เสื่อมเสียแก่เจ้าหนี้หาได้ไม่” ดังนี้ แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 2 จะได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทกับบริษัทประสานมิตรก่อสร้าง จำกัด และเป็นผู้ครองที่ดินพิพาทอยู่ก็ตาม แต่การจะใช้สิทธิชำระหนี้แทนลูกหนี้ (บริษัทประสานมิตรก่อสร้าง จำกัด) ตามบทกฎหมายดังกล่าวได้นั้นจะต้องเป็นการชำระหนี้แทนโดยไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าหนี้ด้วย ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 นำสืบมาไม่ได้ความว่าจำเลยได้รับชำระหนี้ไปแล้วเพียงใด คงได้ความแต่เพียงว่าขณะโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ยื่นฟ้องจำเลยบริษัทประสานมิตรก่อสร้าง จำกัดเป็นหนี้จำเลยตามคำพิพากษาตามยอมอยู่เป็นเงินประมาณ 18,852,600 บาท ทั้งการจำนองรายนี้เป็นการจำนองที่ดินแปลงใหญ่เพียงแปลงเดียว คือที่ดินโฉนดเลขที่ 109377ภายหลังที่ดินแปลงดังกล่าวได้แบ่งแยกเป็นแปลงย่อย ๆ โดยถือว่าที่ดินแปลงย่อยที่แบ่งแยกออกไปยังคงจำนองด้วยตามสัญญาเดิม ดังนั้น การจำนองที่ดินตามโฉนดเลขที่ 109377 ของบริษัทประสานมิตรก่อสร้าง จำกัด เป็นการจำนองที่ดินเพียงแปลงเดียว มิใช่การจำนองที่ดินหลายแปลงอันจะแบ่งภารการจำนองได้ดังที่โจทก์ฟ้อง โจทก์ที่ 1 และที่ 2 จึงไม่อาจใช้สิทธิตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้นบังคับจำเลยให้ยอมรับการชำระหนี้บางส่วนแทนบริษัทประสานมิตรก่อสร้าง จำกัด แล้วให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนสิทธิจำนองให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 โดยให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 สวมสิทธิเจ้าหนี้จำนองแทนจำเลยตามฟ้อง เพราะอาจเป็นการเสียหายแก่จำเลยได้
อนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ให้โจทก์ทั้งสองเสียค่าขึ้นศาลอย่างคดีมีทุนทรัพย์ และจำเลยเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาอย่างคดีมีทุนทรัพย์นั้น คดีนี้มีข้อพิพาทเพียงว่าจำเลยจะต้องยอมให้โจทก์ทั้งสองชำระหนี้แทนลูกหนี้จำนองในจำนวนเงินสำนวนละ700,000 บาท ได้หรือไม่เท่านั้น จึงไม่ใช่เป็นคดีมีทุนทรัพย์เพราะแม้หากจำเลยจะต้องยอมให้โจทก์ทั้งสองชำระหนี้แทนลูกหนี้ตามที่ขอ ที่ดินพิพาทก็ยังเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทประสานมิตรก่อสร้าง จำกัด อยู่ ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เสียเกินมาแก่โจทก์ทั้งสองและจำเลย
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง แต่ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ ส่วนที่โจทก์ทั้งสองเสียเกินกว่าสำนวนละ 200 บาท ในแต่ละชั้นศาลแก่โจทก์ทั้งสองและคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาในส่วนที่เกินกว่า 400 บาท แก่จำเลยด้วย