คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1757/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

นายจ้างประกอบกิจการหลายอย่างแต่เกี่ยวข้องกัน ต้องกำหนดรหัสประเภทกิจการเพื่อเรียกเก็บเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนเพียงรหัสเดียว โดยพิจารณาจากกิจการหลักของนายจ้างผู้นั้น
โจทก์ประกอบกิจการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และมีโรงงานกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิงด้วย จึงเป็นการประกอบกิจการหลายอย่างเกี่ยวข้องกัน เมื่อฟังได้ว่ากิจการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมเป็นกิจการหลัก กิจการทั้งหมดของโจทก์จึงต้องใช้รหัส 1502
การที่สำนักงานกองทุนเงินทดแทนกำหนดรหัสผิดไปทำให้โจทก์ต้องจ่ายเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนเพิ่มขึ้น ย่อมทำให้โจทก์ขาดประโยชน์อันควรได้จากเงินที่ต้องนำไปวางตามคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรมแรงงานจำเลยจึงต้องรับผิดในดอกเบี้ยของเงินส่วนที่วางเกินไปนั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ประกอบกิจการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง ได้จ่ายเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนโดยใช้รหัส ๑๕๐๒ “การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง” ตลอดมา ต่อมาสำนักงานกองทุนเงินทดแทนได้กำหนดรหัสประเภทกิจการของโจทก์เป็น ๐๖๐๗ “การกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิง” ซึ่งไม่ถูกต้องทำให้โจทก์เสียหาย เพราะต้องเสียเงินเพิ่มขึ้น ๗๓๕,๓๙๐.๑๐ บาท โจทก์จึงยื่นอุทธรณ์ คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนชี้ขาดว่า กิจการโจทก์อยู่ในรหัส ๐๖๐๗ ซึ่งไม่ถูกต้อง ขอให้พิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดอุทธรณ์ของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน และมีคำสั่งให้โจทก์เสียเงินสมทบกองทุนเงินทดแทน ในรหัส ๑๕๐๒ ให้จำเลยที่ ๑ คืนเงินที่โจทก์ชำระเกินไปพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์ประกอบกิจการทั้งผลิตและจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งเป็นกิจการต่อเนื่องเกี่ยวข้องกัน ไม่สามารถกำหนดว่ากิจการใดเป็นกิจการสุดท้าย กิจการใดมีลูกจ้างเท่าใด การกำหนดรหัสและอัตราเงินสมทบจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว กรณีไม่เป็นละเมิด จำเลยจึงไม่ต้องเสียดอกเบี้ย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนคำชี้ขาดอุทธรณ์ของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน และให้โจทก์เสียเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนในรหัส ๑๕๐๒ ทั้งหมด ให้จำเลยคืนเงิน ๗๓๕,๓๙๐.๑๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง อัตราและวิธีเรียกเก็บเงินสมทบการจ่ายเงินทดแทนของสำนักงานกองทุนเงินทดแทนและการอุทธรณ์หมวด ๒ วิธีเรียกเก็บเงินสมทบ ข้อ ๗ แล้ว ข้อความในวรรค ๑ มีความหมายว่า ถ้านายจ้างประกอบกิจการอย่างเดียว หรือหลายอย่างแต่เกี่ยวข้องกัน ต้องกำหนดรหัสประเภทกิจการเพียงรหัสเดียว โดยพิจารณาจากกิจการหลักของนายจ้างผู้นั้น โจทก์ประกอบกิจการค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมต่าง ๆ และมีโรงกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิงด้วย จึงเป็นการประกอบกิจการหลายอย่างเกี่ยวข้องกัน ซึ่งต้องพิจารณาว่ากิจการใดเป็นกิจการหลัก โจทก์นำสืบว่ากิจการหลักของโจทก์เป็นการประกอบการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงมา ๓๐ ปีแล้ว การผลิตที่โรงกลั่นน้ำมัน อำเภอศรีราชา เป็นกิจการบางส่วนของโจทก์ โรงกลั่นดังกล่าวผลิตน้ำมันเบนซิน น้ำมันหล่อลื่น จารบี และน้ำมันบางชนิดไม่ได้ โจทก์ต้องซื้อจากที่อื่น กิจการค้าของโจทก์อยู่ที่กรุงเทพมหานคร มีคนงานประมาณ ๘๐๐ คน โจทก์จ่ายค่าจ้างปีละประมาณ ๕๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท โรงกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิงที่ศรีราชามีคนงานประมาณ ๑๕๐ คน โจทก์จ่ายค่าจ้างปีละประมาณ ๑๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท จำเลยมิได้นำสืบหักล้างข้อความดังกล่าว ดังนี้ จึงฟังได้ว่ากิจการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงของโจทก์เป็นกิจการหลัก ส่วนกิจการผลิตหรือกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิงที่อำเภอศรีราชามิใช่กิจการหลักของโจทก์ ที่จำเลยฎีกาว่ากรณีนี้ต้องบังคับตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง อัตราและวิธีเรียกเก็บเงินสมทบ ฯ ข้อ ๗ วรรค ๓ ไม่ใช่วรรค ๑ นั้น เห็นว่า ข้อความในวรรค ๓ บัญญัติถึงกรณีที่นายจ้างประกอบกิจการผลิต หรือประกอบและจำหน่าย สำนักงานกองทุนเงินทดแทนจะต้องกำหนดรหัสประเภทกิจการเพียงอย่างหนึ่งอย่างใดแต่เพียงอย่างเดียว ข้อความที่เป็นปัญหาอยู่ที่คำว่า “ประกอบและจำหน่าย” จะมีความหมายประการใด ศาลฎีกาเห็นว่า คำว่า “ประกอบ” หมายถึงนำชิ้นส่วนที่ผู้อื่นผลิตมาประกอบแล้วจำหน่ายสิ่งที่ประกอบนั้นไป ไม่ใช่หมายถึง “ประกอบการผลิต” ดังที่บัญญัติไว้ในตอนต้นของวรรค ๓ มิฉะนั้นก็จะขัดกับข้อความในตอนท้ายของวรรค ๓ เอง ซึ่งแยกคำว่า “ผลิต” และ “ประกอบ” เป็นคนละคำ ส่วนคำว่า “และจำหน่าย” ย่อมหมายถึงการจำหน่ายสินค้าที่ประกอบขึ้นได้เท่านั้น ไม่ได้หมายความถึงสินค้าที่ซื้อมาจากที่อื่นแล้วจำหน่ายไปด้วยดังเช่นกรณีของโจทก์นี้ เพราะกรณีเช่นนี้หากเป็นการประกอบกิจการหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกันก็บังคับตามวรรค ๑ หากไม่เกี่ยวข้องกันก็บังคับตามวรรค ๒ อยู่แล้ว หากวรรค ๓ มีความหมายอย่างที่จำเลยฎีกาว่าหมายถึงการผลิตและจำหน่ายสินค้าใด ๆ ก็ได้แล้ว ก็จะเป็นการบัญญัติซ้ำกับวรรค ๑ และวรรค ๒ ด้วยเหตุนี้ กิจการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมต่าง ๆ กับการกลั่นน้ำมันของโจทก์จึงต้องใช้รหัส ๑๕๐๒ ซึ่งต้องชำระเงินทดแทนในอัตราร้อยละ ๐.๖ ของค่าจ้าง ไม่ใช่รหัส ๐๖๐๗ ซึ่งต้องชำระเงินทดแทนในอัตราร้อยละ ๑.๕ ของค่าจ้าง คำสั่งของหัวหน้าสำนักงานกองทุนเงินทดแทนและคำสั่งชี้ขาดของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนจึงไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมาย
จำเลยฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า จำเลยไม่ต้องเสียดอกเบี้ยเพราะไม่ได้ทำละเมิดต่อโจทก์นั้น เห็นว่า โจทก์ต้องเสียเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นย่อมทำให้โจทก์ขาดประโยชน์อันควรได้จากเงินค่าทดแทนที่ต้องนำไปวางตามคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ ๑ จึงต้องรับผิดในดอกเบี้ย
พิพากษายืน

Share