คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1120/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งสี่ฟ้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดจากมูลละเมิดที่เกิดขึ้นในคราวเดียวกัน โจทก์ทั้งสี่ย่อมมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี จึงฟ้องคดีร่วมกันได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 59 แม้มูลหนี้เกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ในคราวเดียวกันแต่ความเสียหายที่จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดต่อโจทก์แต่ละคนย่อมต้องแล้วแต่ผลแห่งละเมิดที่โจทก์แต่ละคนได้รับจากมูลละเมิดนั้นในส่วนที่เกี่ยวกับค่าเสียหาย โจทก์จึงมิได้เป็นเจ้าหนี้จำเลยทั้งสองร่วมกัน ดังนั้นโจทก์จึงต้องบรรยายฟ้องให้ชัดเจนว่าโจทก์แต่ละคนมีสิทธิจะได้ค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองเท่าใดการที่โจทก์บรรยายฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดรวมกันชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ ถือได้ว่าเป็นการบรรยายคำขอบังคับไม่แจ้งชัดคำฟ้องของโจทก์จึงเคลือบคลุม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 4 ขับรถยนต์ของโจทก์ที่ 1 จากจังหวัดสมุทรปราการไปตามถนนสุขุมวิท ถึงบริเวณสะพานแยกช้างชนจำเลยที่ 1 ลูกจ้างจำเลยที่ 2 ได้ขับรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 2ในทางการที่จ้าง ขับด้วยความเร็วสูง เมื่อข้ามสะพานลงมามีรถยนต์โดยสารเล็กแล่นนำหน้ามา ได้หยุดให้ผู้โดยสารลง จำเลยที่ 1หักหลบรถยนต์โดยสารดังกล่าว รถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับพุ่งเข้าชนรถยนต์ที่โจทก์ที่ 4 ขับสวนทางไป เป็นเหตุให้รถยนต์ของโจทก์ที่ 1เสียหาย โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ซึ่งนั่งอยู่ในรถยนต์ที่โจทก์ที่ 4 ขับและโจทก์ที่ 4 ได้รับบาดเจ็บ โจทก์ที่ 2 ถึงโจทก์ที่ 4 ได้รับความเสียหายคือค่ารักษาพยาบาลเป็นเงินรวม 48,509 บาท ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 355,625 บาท แก่โจทก์ทั้งสี่พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ด้วยความเร็วตามปกติและระมัดระวังเป็นอย่างดีตามหลังรถยนต์โดยสารเล็กคันหนึ่งเมื่อมาถึงที่เกิดเหตุรถยนต์โดยสารเล็กดังกล่าวจอดรับส่งผู้โดยสารกระทันหันโดยมิได้ให้สัญญาณ จำเลยที่ 1 ได้ห้ามล้อรถยนต์ที่ขับมาอย่างกระทันหันแต่ไม่ทัน เพื่อป้องกันผลภัยที่เกิดขึ้นจึงหักหลบไปทางขวาเป็นเหตุให้รถเสียหลักแฉลบเข้าไปในทางรถที่สวนมาซึ่งขณะนั้นโจทก์ที่ 4 ขับรถยนต์สวนมาด้วยความเร็วสูง จึงเฉี่ยวชนกับรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับ เหตุที่เกิดขึ้นเป็นเหตุสุดวิสัยและเกิดจากความประมาทของคนขับรถยนต์โดยสารเล็ก จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้น โจทก์ทั้งสี่ไม่มีผลประโยชน์ร่วมกันเพราะต่างเรียกร้องค่าเสียหายเป็นคนละสัดส่วนจึงไม่มีอำนาจฟ้องร่วมกัน คำฟ้องระบุว่า ค่ารักษาพยาบาลของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 รวมกันเป็นเงิน 48,509 บาท เท่านั้น มิได้บรรยายว่าโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 บาดเจ็บตรงไหน เพียงใด ค่ารักษาพยาบาลแต่ละคนเป็นจำนวนเงินเท่าใด คำฟ้องเกี่ยวกับโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4จึงเคลือบคลุม
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสี่ พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาว่า โจทก์ทั้งสี่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ร่วมกันหรือไม่นั้น ศาลอุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 2 มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาในศาลชั้นต้น จึงไม่วินิจฉัยให้ ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้ยกปัญหานี้ขึ้นต่อสู้ในคำให้การของจำเลยที่ 2 แล้ว ถือได้ว่าจำเลยที่ 2ได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาในศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยให้ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย และเห็นว่าคดีนี้โจทก์ทั้งสี่ฟ้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดจากมูลละเมิดที่เกิดขึ้นในคราวเดียวกันโจทก์ทั้งสี่ย่อมมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี จึงอาจฟ้องคดีนี้ร่วมกันได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 59ส่วนปัญหาว่าฟ้องของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 เคลือบคลุมหรือไม่นั้นเห็นว่า แม้มูลหนี้จะเกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1ในคราวเดียวกัน แต่ความเสียหายที่จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดต่อโจทก์แต่ละคนย่อมต้องแล้วแต่ผลแห่งละเมิดที่โจทก์แต่ละคนได้รับจากมูลละเมิดนั้น ดังนั้น ในส่วนที่เกี่ยวกับค่าเสียหาย โจทก์ที่ 2ถึงที่ 4 จึงมิได้เป็นเจ้าหนี้จำเลยทั้งสองร่วมกัน โจทก์ที่ 2ถึงโจทก์ที่ 4 ต้องบรรยายฟ้องให้ชัดเจนว่า โจทก์แต่ละคนมีสิทธิจะได้ค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองเท่าใด การที่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4บรรยายฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดรวมกันชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ถือได้ว่า เป็นการบรรยายคำขอบังคับไม่แจ้งชัดคำฟ้องของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 จึงเคลือบคลุม ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น
ปัญหาว่าเหตุคดีนี้เกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 หรือไม่โจทก์ที่ 3 และที่ 4 เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุฝนตกถนนลื่น หากจำเลยที่ 1 ไม่หักหลบรถที่จำเลยที่ 1 ขับจะชนรถยนต์โดยสารเล็กที่แล่นอยู่ข้างหน้าและจอดกะทันหัน จำเลยที่ 1 ก็เบิกความยอมรับว่า ขณะนั้นฝนตกปรอย ๆ จึงเชื่อได้ว่าขณะนั้นฝนตกถนนลื่นและหากจำเลยที่ 1ไม่หักหลบรถยนต์โดยสารเล็กแล้วจะต้องชนรถยนต์โดยสารเล็ก แสดงว่าจำเลยที่ 1 ต้องขับรถด้วยความเร็วสูงหรือมิฉะนั้นก็ขับตามหลังรถยนต์โดยสารเล็กในระยะกระชั้นชิด เหตุเกิดในคดีนี้จึงเป็นเพราะความประมาทของจำเลยที่ 1
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 2 ถึงโจทก์ที่ 4 สำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ระหว่างโจทก์ที่ 2 ถึงโจทก์ที่ 4 กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share