แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องเรียกเงินคืนโดยตั้งข้อหามาในคำฟ้องไว้อย่างไรก็ไม่ผูกมัดให้ศาลต้องนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายในเรื่องนั้นมาปรับแก่คดีดังที่โจทก์ตั้งข้อหาเท่านั้น แต่เป็นอำนาจหน้าที่ของศาลที่จะปรับข้อเท็จจริงเข้ากับบทกฎหมายที่ถูกต้องเพื่อวินิจฉัยชี้ขาดคดีได้
โจทก์ฟ้องอ้างว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด จ. มีมติให้ถอนหุ้นของ ส. มารดาเลี้ยงของโจทก์ซึ่งถึงแก่ความตาย โดยจะจ่ายเป็นเงินตอบแทนให้แก่โจทก์และ น. น้องสาวโจทก์คนละ 200,000 บาท และได้ฝากเงินไว้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นอาของโจทก์ เพื่อให้นำไปซื้อบ้านให้แก่โจทก์และ น. จำเลยที่ 2 มอบเงินดังกล่าวไว้แก่จำเลยที่ 1 โดยแจ้งวัตถุประสงค์ให้จำเลยที่ 1 ทราบ ต่อมาจำเลยทั้งสองซื้อบ้านและใส่ชื่อ น. เป็นเจ้าของบ้านโดยไม่มีชื่อโจทก์ และจำเลยที่ 1 ยังแจ้งแก่ น. ห้ามมิให้โจทก์เข้าอยู่อาศัยในบ้านโดยเด็ดขาด โจทก์จึงฟ้องให้จำเลยทั้งสองคืนเงินส่วนของโจทก์ ดังนี้ หากฟ้องโจทก์เป็นความจริง ก็มิใช่เป็นเรื่องลาภมิควรได้ เพราะมิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองรับเงินไว้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมาย แต่เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองรับเงินไว้ในลักษณะเป็นตัวแทนจัดการซื้อบ้านให้แก่โจทก์และ น.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับนางสาวจินตนาเป็นพี่น้องกัน และเป็นบุตรเลี้ยงของนางสุวรรณีผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัดจึงฮั่วเซ้ง ปี 2543 นางสุพรรณีหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างดังกล่าวประชุมผู้ถือหุ้นแล้วให้ถอนหุ้นของนางสุวรรณีซึ่งถึงแก่ความตาย โดยจะจ่ายเป็นเงินตอบแทนให้แก่โจทก์และนางสาวจินตนาคนละ 200,000 บาท แต่นางสุพรรณีเห็นว่าขณะนั้นโจทก์และนางสาวจินตนาอายุยังน้อย เกรงว่าจะใช้เงินหมดเสียก่อน จึงฝากเงินจำนวน 400,000 บาท ไว้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นอาของโจทก์ เพื่อให้นำไปซื้อบ้านให้แก่โจทก์และนางสาวจินตนาจำเลยที่ 2 มอบเงินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 และแจ้งเรื่องที่จะซื้อบ้านให้จำเลยที่ 1 ทราบ ต่อมาจำเลยทั้งสองได้ซื้อบ้านเลขที่ 111/409 โดยใส่ชื่อนางสาวจินตนาเป็นเจ้าของบ้านแต่ผู้เดียว ไม่มีชื่อโจทก์ จำเลยที่ 1 ยังแจ้งแก่นางสาวจินตนาว่าห้ามมิให้โจทก์เข้าอยู่อาศัยในบ้านโดยเด็ดขาด โจทก์เห็นว่าจำเลยทั้งสองนำเงินที่โจทก์ควรมีควรได้ไป โดยมิได้ทำประโยชน์ให้แก่โจทก์ จึงทวงถามให้จำเลยทั้งสองคืนเงิน แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองคืนเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์มิได้เป็นทายาทของนางสุวรรณีและนางสุวรรณีก็มิได้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัดจึงฮั่วเซ้ง จำเลยที่ 1 ไม่เคยรับเงินจากจำเลยที่ 2 เพื่อนำไปซื้อบ้านให้แก่โจทก์และนางสาวจินตนาหากนางสาวจินตนาไม่ยอมให้โจทก์เข้าอยู่ในบ้าน ก็เป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เพราะไม่บรรยายว่าจำเลยที่ 1 โต้แย้งสิทธิโจทก์อย่างไร หรือมีนิติสัมพันธ์ใดที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์ฟ้องเรียกเงินคืนฐานลาภมิควรได้ แต่มิได้ฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์อาจใช้สิทธิเรียกร้องได้ คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
วันนัดสืบพยานโจทก์ ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ จึงให้งดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลย แล้ววินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์เป็นเรื่องเรียกเงินคืนฐานลาภมิควรได้ตามคำบรรยายฟ้อง ถือได้ว่าจำเลยทั้งสองรับเงินไว้โดยสุจริต และไม่ปรากฏว่ามีเงินเหลืออยู่ จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์แสดงให้เห็นและบ่งชี้ว่าจำเลยทั้งสองรับเงินไว้โดยไม่สุจริต ทั้งจำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้อยู่ว่าไม่เคยรับเงินตามฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ คดีต้องฟังข้อเท็จจริงต่อไป พิพากษายกคำสั่งงดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยที่ 1 กับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยที่ 1 ต่อไป แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่นั้นชอบหรือไม่ จำเลยทั้งสองฎีกาทำนองเดียวกันว่าโจทก์ฟ้องเรียกเงินคืนฐานลาภมิควรได้ ซึ่งปรากฏตามคำบรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองนำเงินที่จำเลยทั้งสองได้รับไว้ไปซื้อบ้านเพื่อประโยชน์แก่โจทก์ตามความประสงค์ของผู้ฝากเงินแล้ว ทั้งถือได้ว่าจำเลยทั้งสองรับเงินไว้โดยสุจริต เมื่อไม่ปรากฏว่ามีเงินเหลืออยู่ จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 412 ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องจึงพอแก่การวินิจฉัยคดีไม่จำต้องคำนึงว่าจำเลยทั้งสองจะให้การต่อสู้คดีเป็นประการใดหรือไม่นั้น เห็นว่า แม้โจทก์จะฟ้องเรียกเงินคืนโดยตั้งข้อหามาในคำฟ้องว่าลาภมิควรได้ ก็ไม่ผูกมัดว่าศาลจะต้องนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายในเรื่องลาภมิควรได้มาปรับแก่คดีดังที่โจทก์ตั้งข้อหา แต่เป็นอำนาจหน้าที่ของศาลที่จะต้องปรับข้อเท็จจริงเข้ากับบทกฎหมายที่ถูกต้องเพื่อวินิจฉัยชี้ขาดคดี คดีนี้โจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดจึงฮั่วเซ้ง มีมติให้ถอนหุ้นของนางสุวรรณีมารดาเลี้ยงของโจทก์ซึ่งถึงแก่ความตาย โดยจะจ่ายเป็นเงินตอบแทนให้แก่โจทก์และนางสาวจินตนาน้องสาวโจทก์ คนละ 200,000 บาท และได้ฝากเงินไว้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นอาของโจทก์ เพื่อให้นำไปซื้อบ้านให้แก่โจทก์และนางสาวจินตนา จำเลยที่ 2 มอบเงินดังกล่าวไว้แก่จำเลยที่ 1 โดยแจ้งวัตถุประสงค์ให้จำเลยที่ 1 ทราบ ต่อมาจำเลยทั้งสองซื้อบ้านและใส่ชื่อนางสาวจินตนาเป็นเจ้าของบ้านโดยไม่มีชื่อโจทก์ และจำเลยที่ 1 ยังแจ้งแก่นางสาวจินตนาห้ามมิให้โจทก์เข้าอยู่อาศัยในบ้านโดยเด็ดขาด โจทก์จึงทวงถามและฟ้องให้จำเลยทั้งสองคืนเงินส่วนของโจทก์ ดังนี้ หากฟ้องโจทก์เป็นความจริง ก็หาใช่เป็นเรื่องลาภมิควรได้ไม่ เพราะมิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองรับเงินไว้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมาย แต่เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองรับเงินไว้ในลักษณะเป็นตัวแทนจัดการซื้อบ้านให้แก่โจทก์และนางสาวจินตนา โดยโจทก์อ้างว่าจำเลยทั้งสองปฏิบัติผิดหน้าที่ในส่วนของโจทก์ และโจทก์ทวงถามให้คืนเงินแล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทกฎหมายในเรื่องลาภมิควรได้จึงไม่ถูกต้อง แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อจำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้ว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยได้รับเงินและฟ้องโจทก์ไม่เป็นความจริง คดีจึงต้องฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาใหม่นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาต่อไปว่า คดีโจทก์ขาดอายุความนั้น ปัญหาข้อนี้ศาลชั้นต้นยังมิได้วินิจฉัยทั้งเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฎีกาข้อนี้ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ