คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6106/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 3 ไม่ได้อ้างเหตุในคำให้การว่า ช. และ ก.ผู้มอบอำนาจไม่มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลเพราะเหตุใด ดังนี้คำให้การปฏิเสธของจำเลยที่ 3 ไม่มีเหตุแห่งการนั้นจำเลยที่ 3 จึงไม่มีประเด็นที่จะนำสืบตามคำให้การดังกล่าวเมื่อโจทก์นำสืบโดยมีหนังสือรับรองของนายทะเบียนสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครมาแสดงว่าขณะที่โจทก์ฟ้อง ช. และก. เป็นกรรมการของโจทก์ผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของโจทก์ดำเนินการแทนโจทก์ได้ และมีหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์ ซึ่ง ช. และ ก. ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของโจทก์มอบอำนาจให้ ธ.ฟ้องจำเลยทั้งเจ็ดคดีนี้รวมทั้งแต่งตั้งทนายความได้ด้วย ทั้ง ธ. ผู้รับมอบอำนาจเบิกความประกอบหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวยืนยันว่า ช. และก.เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ ดังนี้ ธ.ย่อมเป็นผู้รับมอบอำนาจโจทก์ผู้มีอำนาจแต่งตั้ง ส. เป็นทนายความฟ้องคดีนี้แทนโจทก์ได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ประเด็นข้อที่จำเลยฎีกา จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้ แม้ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวให้ ก็ถือไมไ่ด้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย การที่จำเลยที่ 3 ทำหนังสือค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1เกิดจากความรับผิดชอบของจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้บริหารงานของบริษัทเงินทุนโจทก์เพื่อมิให้เกิดผลเสียหายแก่ประชาชนที่นำเงินมาฝากโจทก์ และเพราะเกรงว่าโจทก์จะถูกเพิกถอนใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเงินทุนจากกระทรวงการคลัง เป็นการเข้าค้ำประกันด้วยความสมัครใจ จึงเป็นการยอมตนเข้าผูกพันต่อโจทก์เพื่อชำระหนี้ในเมื่อจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดตามหนังสือค้ำประกันนั้น การที่จำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อในหนังสือค้ำประกันเพราะได้รับแจ้งจากกระทรวงการคลังโดยเจ้าหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทยว่าจำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อในหนังสือค้ำประกันแล้วจะไม่ดำเนินคดีอาญา ถ้าไม่ลงลายมือชื่อจะดำเนินคดีอาญา เป็นเรื่องที่กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยจะกระทำการตามกฎหมายเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชนถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิตามปกตินิยม ไม่เป็นการข่มขู่ที่จะทำให้สัญญาค้ำประกันตกเป็นโมฆียะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 126 และ 127 เดิม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นายชิตพงษ์ เพียราธิสิทธิ์ และนายกานต์ คำปานกรรมการผู้มีอำนาจได้ร่วมกันลงลายมือชื่อและประทับตราบริษัทมอบอำนาจให้นายธาตรี อภิชาติบุตร์ ฟ้องคดีแทน จำเลยที่ 1ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน 2 ฉบับ สัญญาจะจ่ายเงินฉบับละ3,000,000 บาท ให้แก่โจทก์ฉบับแรกในวันที่ 25 ธันวาคม 2527ฉบับที่ 2 ในวันที่ 25 ตุลาคม 2527 ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19.5 ต่อปีนับแต่วันออกตั๋วจนกว่าจะชำระเสร็จจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อรับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินทั้งสองฉบับ จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5ได้ร่วมกันทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ในฐานะลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 และเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ที่จำเลยที่ 3 ที่ 4และที่ 5 จะต้องชำระแก่โจทก์ จำเลยที่ 3 ที่ 6 และที่ 7 ได้ร่วมกันนำที่ดินมาจำนองเป็นประกัน โดยยอมให้คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ21 ต่อปี เมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินทั้งสองฉบับถึงกำหนดใช้เงินจำเลยที่ 1 ไม่ยอมชำระเงินตามตั๋วเงินนั้นแก่โจทก์โจทก์ได้ทวงถามจำเลยทั้งเจ็ดหลายครั้ง และได้มอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองแก่จำเลยที่ 3 ที่ 6 และที่ 7 ให้ชำระหนี้ภายใน 10 วัน จำเลยทั้งเจ็ดยังคงเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ร่วมกันชำระเงิน 10,362,657.50 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19.5 ต่อปี ในต้นเงิน6,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์หากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ไม่ชำระ ให้จำเลยที่ 3 ที่ 6 และที่ 7ชำระเงิน 10,698,246.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปีในต้นเงิน 6,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จหากไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 343 ตำบลบางตลาด อำเภอปากเกร็ดจังหวัดนนทบุรี ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากขายได้เงินไม่ครบ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 3 ที่ 6 และที่ 7นำมาชำระหนี้จนครบ
ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 และที่ 4 ถึงที่ 7 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ให้การว่า นายธาตรี อภิชาติบุตร ไม่มีอำนาจดำเนินคดีแทนโจทก์ เพราะนายชิตพงา์ เพียราธิสิทธิ์ และนายกานต์ คำปาน ผู้มอบอำนาจไม่มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์นายสรรค์ ธรรมสถิตย์มั่นจึงไม่มีอำนาจลงลายมือชื่อในคำฟ้องแทนโจทก์ หนังสือค้ำประกันตามฟ้องไม่มีผลบังคับตามกฎหมายเพราะจำเลยที่ 3 ไม่ได้สมัครใจเข้าเป็นผู้ค้ำประกันลูกหนี้ของโจทก์ และไม่ได้ระบุว่าจำเลยที่ 3 ค้ำประกันผู้ใดหรือลูกหนี้คนใด โจทก์เป็นบริษัทเงินทุนที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าควบคุมการดำเนินกิจการขณะนั้นจำเลยที่ 3 เป็นประธานกรรมการบริหารของโจทก์ ไม่มีหน้าที่ดำเนินกิจการของโจทก์ ธนาคารแห่งประเทศไทยขอให้จำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกันตามฟ้อง หากจำเลยที่ 3 ไม่ปฏิบัติตามอาจถูกดำเนินคดีอาญาจำเลยที่ 3เกรงว่าโจทก์จะถูกถอนใบอนุญาตและจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน จำเลยที่ 3 อยู่ในภาวะจำยอม จึงได้ลงลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกันโดยไม่สมัครใจ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 7 ร่วมกันชำระหนี้จำนวน 6,000,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ19.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 1 มกราคม 2527 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์หากจำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 7 ไม่ชำระ ให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากขายทอดตลาดได้เงินไม่พอชำระหนี้ ให้ยึดทรัพย์อื่นของจำเลยที่ 3 ที่ 6 และที่ 7 นำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ โดยได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์อย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 3 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ฎีกาอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 3ข้อแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ข้อนี้จำเลยที่ 3 ให้การว่านายธาตรี อภิชาติบุตร์ ไม่มีอำนาจดำเนินคดีแทนโจทก์เพราะนายชิตพงษ์ เพียราธิสิทธิ์และนายกานต์ คำปานผู้มอบอำนาจไม่มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ นายสรรค์ ธรรมสถิตย์มั่นจึงไม่มีอำนาจลงลายมือชื่อในคำฟ้องแทนโจทก์ ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยที่ 3 ไม่ได้อ้างเหตุว่านายชิตพงษ์และนายกานต์ผู้มอบอำนาจไม่มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลเพราะเหตุใด ดังนี้คำให้การปฏิเสธของจำเลยที่ 3 ไม่มีเหตุแห่งการนั้น จำเลยที่ 3จึงไม่มีประเด็นที่จะนำสืบตามคำให้การดังกล่าว เมื่อโจทก์นำสืบโดยมีหนังสือรับรองของนายทะเบียนสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครเอกสารหมาย จ.1 มาแสดงว่าขณะที่โจทก์ฟ้องนายชิตพงษ์และนายกานต์เป็นกรรมการของโจทก์ผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของโจทก์ดำเนินการแทนโจทก์ได้ และมีหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์ลงวันที่ 17 กันยายน 2530 เอกสารหมาย จ.2 ซึ่งนายชิตพงษ์และนายกานต์ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของโจทก์มอบอำนาจให้นายธาตรีฟ้องจำเลยทั้งเจ็ดคดีนี้รวมแต่งตั้งทนายความได้ด้วยทั้งนายธาตรี อธิชาติบุตร์ ผู้รับมอบอำนาจเบิกความประกอบหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวยืนยันว่านายชิตพงษ์และนายกานต์เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ ดังนี้ย่อมฟังได้ว่านายธาตรีเป็นผู้รับมอบอำนาจโจทก์ผู้มีอำนาจแต่งตั้งนายสรรค์ ธรรมสถิตย์มั่น เป็นทนายความฟ้องคดีนี้แทนโจทก์ได้โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องส่วนที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า รายงานการประชุมคณะกรรมการของโจทก์ตามเอกสารหมาย ล.3 ที่พิจารณาแต่งตั้งกรรมการเพิ่มขึ้นจำนวน 3 คน ที่ประชุมไม่ครบองค์ประชุมตามข้อบังคับของโจทก์ นายชิตพงษ์และนายกานต์ได้รับแต่งตั้งจากกรรมการที่ถูกต้องตั้งขึ้นมาขัดกับข้อบังคับ จึงไม่มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์นั้นข้อนี้จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้ว่า แม้ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวให้ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
มีปัญหาตามฎีกาจำเลยที่ 3 ข้อต่อไปว่า หนังสือค้ำประกันเอกสารหมาย จ.19 ผูกพันจำเลยที่ 3 หรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่ากระทรวงการคลังออกใบอนุญาตให้โจทก์ประกอบกิจการธุรกิจเงินทุนเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2516 จำเลยที่ 3 เป็นกรรมการของโจทก์ตั้งแต่ พ.ศ. 2526 ต่อมาเลื่อนเป็นประธานกรรมการบริหารระหว่างที่จำเลยที่ 3 เป็นประธานกรรมการบริหารโจทก์ปล่อยสินเชื่อประมาณ 400,000,000 บาท ตั๋วสัญญาใช้เงิน 2 ฉบับที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ออก เป็นสินเชื่อจำนวนหนึ่งที่โจทก์ให้จำเลยที่ 1กู้ยืมไปโดยไม่มีหลักทรัพย์ประกันหนี้ ซึ่งขณะนั้นจำเลยที่ 3เป็นประธานกรรมการบริหาร จำเลยที่ 4 เป็นกรรมการผู้จัดการจำเลยที่ 5 เป็นกรรมการและผู้จัดการทั่วไปของโจทก์โจทก์เป็นหนึ่งในหลายบริษัทเงินทุนและบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่ประสบภาวะขาดทุน โจทก์ขาดสภาพคล่องทางการเงินกระทรวงการคลังจึงออกแถลงการณ์ เรื่อง มาตรการแก้ปัญหาของบริษัทเงินทุนและบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ตามเอกสารหมาย ล.4หรือที่เรียกว่า โครงการ 4 เมษายน เพื่อช่วยเหลือสถาบันการเงินต่าง ๆ แต่ผู้บริการมีหน้าที่รับผิดโดยตรงในการบริหารงานจะต้องทำหลักฐานและให้หลักประกันแก่สถาบันการเงินนั้น ๆ ในกรณีที่อาจจะต้องชดใช้ค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการบริการงาน โจทก์เข้าร่วมโครงการด้วยความสมัครใจ ในการที่สถาบันการเงินจะเข้าร่วมโครงการนี้มีหลักเกณฑ์ว่าจะต้องให้กรรมการของบริษัทค้ำประกันหนี้ของลุกหนี้ที่โจทก์ปล่อยสินเชื่อ ดังนั้น ที่จำเลยที่ 3 ที่ 4และที่ 5 ทำหนังสือค้ำประกันหนี้ของลูกหนี้ซึ่งมีชื่อจำเลยที่ 1เป็นลูกหนี้ของโจทก์ด้วยรายหนึ่งนั้น จึงเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 3สมัครใจเข้าผูกพันต่อโจทก์นอกจากนี้จำเลยที่ 3 ยังร่วมกับจำเลยที่ 6และที่ 7 นำที่ดินโฉนดเลขที่ 343 ตำบลบางตลาด อำเภอปากเกร็ดจังหวัดนนทบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างไปจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 3 ต่อโจทก์อีกชั้นหนึ่ง การที่จำเลยที่ 3 ทำหนังสือค้ำประกันและหนังสือสัญญาจำนองที่ดินดังกล่าวเกิดจากความรับผิดชอบของจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้บริการงานของโจทก์ เพื่อมิได้เกิดผลเสียหายแก่ประชาชนที่นำเงินมาฝากโจทก์ ทั้งจำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อค้ำประกันลูกหนี้ของโจทก์ก็เพราะเกรงว่าโจทก์จะถูกเพิกถอนใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเงินทุนจากกระทรวงการคลังด้วยเหตุดังกล่าวจำเลยที่ 3 จึงสมัครใจปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงการคลังตามเอกสารหมาย ล.4 การค้ำประกันเป็นการยอมตนเข้าผูกพันต่อเจ้าหนี้เพื่อชำระหนี้เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 3 เข้าค้ำประกันจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ของโจทก์ จึงเป็นการยอมตนเข้าผูกพันต่อโจทก์เพื่อชำระหนี้ในเมื่อจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดตามหนังสือค้ำประกันนั้น ที่จำเลยที่ 3 อ้างว่า จำเลยที่ 3ลงลายมือชื่อในหนังสือค้ำประกัน เพราะได้รับแจ้งจากกระทรวงการคลังโดยเจ้าหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทยว่า จำเลยที่ 3ลงลายมือชื่อในเอกสารดังกล่าวแล้วจะดำเนินคดีอาญา ถ้าไม่ลงลายมือชื่อจะดำเนินคดีอาญานั้น เป็นเรื่องที่กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยจะกระทำการตามกฎหมายเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชน ถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิตามปกตินิยมไม่เป็นการข่มขู่ที่จะทำให้สัญญาค้ำประกันตกเป็นโมฆียะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 126 และ 127 เดิม
พิพากษายืน

Share