แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
มีเสียงปืนดังขึ้น 1 นัด อ.หาว่าจำเลยที่ 2 เป็นคนยิงและใช้มีดแทงจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ถอยออกไปแล้ว อ.คงยืนอยู่ที่เดิม จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพี่ของจำเลยที่ 2 ได้ร้องห้ามและวิ่งเข้าไปเพื่อจะแย่งมีดจาก อ.. โดยไม่ปรากฏว่า อ. มีท่าทีจะทำร้ายจำเลยที่ 2 อีกต่อไป อ. เข้าใจว่าจำเลยที่ 1จะเข้ามาทำร้ายตน จึงใช้มีดแทงสวนไป 1 ที จำเลยที่ 1ยังกระโดดเข้ามาหา อ. อีก แล้วเกิดปลุกปล้ำแย่งมีดกันขึ้นจำเลยที่ 1 แย่งไม่ได้ จึงถอยห่างออกไปแล้วใช้ปืนยิง อ. 2 นัดถูกหน้าอก อ. และจำเลยที่ 2 ยกเก้าอี้ขึ้นตีศีรษะ อ. อีก 2 ทีดังนี้ ถือไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการป้องกันหากแต่เป็นการพยายามฆ่าคนโดยบันดาลโทสะ สำหรับจำเลยที่ 2ยังถือไม่ได้ว่าร่วมกับจำเลยที่ 1 ใช้ปืนยิง อ. จึงมีความผิดฐานทำร้ายร่างกาย อ. จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายโดยบันดาลโทสะเท่านั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ มีอาวุธปืนพกชนิดทำเอง ใช้ยิงได้และไม่มีเลขทะเบียน ๑ กระบอก กระสุนปืน ๗ นัด ไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ทั้งได้บังอาจพกพาอาวุธปืนดังกล่าวเข้าไปในเมืองและทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควร และจำเลยทั้งสองได้บังอาจร่วมกันทำร้ายร่างกายนายอุดม โดยจำเลยที่ ๑ ใช้ปืนยิง จำเลยที่ ๒ ใช้เก้าอี้ขาเหล็กตีนายอุดมโดยเจตนาฆ่า แต่นายอุดมไม่ถึงแก่ความตายเพียงได้รับบาดเจ็บสาหัส ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๘๘, ๘๐, ๘๓, ๓๗๑ พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ ๑ มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ กระทงหนึ่งผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๗๑ กระทงหนึ่งและมาตรา ๒๘๘ ประกอบด้วยมาตรา ๘๐ อีกกระทงหนึ่ง ให้ลงโทษจำเลยที่ ๑ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๘๘ ประกอบด้วยมาตรา ๘๐ซึ่งเป็นกระทงหนักที่สุด ให้จำคุกจำเลยที่ ๑ สิบปี จำเลยที่ ๒ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๕ ให้จำคุกจำเลยที่ ๒ ไว้ ๓ เดือน
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการป้องกันตัวพอสมควรแก่เหตุ พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นว่า จำเลยที่ ๑มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ กระทงหนึ่ง ผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๗๑ อีกกระทงหนึ่ง ให้ลงโทษจำเลยที่ ๑ ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ลดฐานรับสารภาพแล้ว ให้จำคุกจำเลยที่ ๑ ไว้ ๔ เดือน ให้ยกฟ้องในข้อหาว่าจำเลยที่ ๑ พยายามฆ่าผู้อื่น และข้อหาว่าจำเลยที่ ๒ ทำร้ายร่างกาย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อนายอุดมมาสอบถามจำเลยที่ ๒ และใช้มีดแทงจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๒ ถอยหลังออกไปแล้ว จำเลยที่ ๑ ร้องห้ามมิให้นายอุดมทำร้ายจำเลยที่ ๒ แล้ววิ่งเข้าไปเพื่อจะแย่งมีดจากนายอุดมโดยไม่ปรากฏว่านายอุดมมีท่าทีจะทำร้ายจำเลยที่ ๒ ต่อไปอีก ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ ๑ ได้วิวาททำร้ายนายอุดมส่วนการที่จำเลยที่ ๑ใช้ปืนยิงนายอุดมนั้นฟังได้ว่า จำเลยที่ ๑ ยิงนายอุดมในขณะที่จำเลยที่ ๑ผละจากนายอุดมมาแล้วควักปืนออกมายิง โดยไม่ปรากฏว่านายอุดมได้ติดตามทำร้ายจำเลยที่ ๑ หรือก่อให้เกิดภยันตรายใกล้จะถึงตัวจำเลยที่ ๑อีก ส่วนจำเลยที่ ๒ นั้น ได้ความแน่ชัดว่าได้ถอยออกมาหลังจากถูกนายอุดมแทงเอาแล้ว กลับใช้เก้าอี้ตีศีรษะนายอุดมอีก ๒ ที โดยไม่ปรากฏว่ามีเจตนาร่วมกับจำเลยที่ ๑ ในการใช้ปืนยิงนายอุดม จำเลยที่ ๑ จึงต้องมีความผิดฐานพยายามฆ่านายอุดมและจำเลยที่ ๒ มีความผิดฐานทำร้ายนายอุดมจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย
อย่างไรก็ดี การที่นายอุดมเป็นฝ่ายก่อเหตุกล่าวหาว่าจำเลยที่ ๒ยิงปืนในตลาด จำเลยที่ ๒ ได้ปฏิเสธโดยสุภาพว่าไม่ใช่ผู้ยิงนายอุดมคงยืนยันว่าจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ยิง และใช้มีดแทงจำเลยที่ ๒ ก่อน เมื่อจำเลยที่ ๒ถอยหนี จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นพี่ชายของจำเลยที่ ๒ ร้องห้ามและเข้าแย่งมีดจากนายอุดม นายอุดมกลับใช้มีดแทงจำเลยที่ ๑ อีกจนได้รับบาดเจ็บถึงสองแห่ง ถือได้ว่านายอุดมได้ข่มเหงจำเลยทั้งสองอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จำเลยทั้งสองทำร้ายนายอุดมในทันทีทันใดนั้นเองจึงเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะ
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เป็นว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ กระทงหนึ่ง ผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๗๑ กระทงหนึ่ง และผิดตามมาตรา ๒๘๘ ประกอบด้วยมาตรา ๘๐และมาตรา ๗๒ อีกกระทงหนึ่งให้ลงโทษจำเลยที่ ๑ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๘๘, ๘๐, ๗๒ ซึ่งเป็นกระทงหนักที่สุด จำคุกจำเลยที่ ๑ สามปี จำเลยที่ ๒มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๕ ประกอบด้วยมาตรา ๗๒จำคุกจำเลยที่ ๒ สามเดือน มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษ ให้หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ ๑ สองปี จำคุกจำเลยที่ ๒ สองเดือน