แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ที่ 2 มีหนังสือถึง ส. ผู้จัดการธนาคารจำเลย สาขาปักธงชัยว่า โจทก์ที่ 2 ขอรับผิดชอบสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่บัญชีเงินฝากของโจทก์ที่ 2 เพียงผู้เดียว ขอให้ผู้จัดการอย่าได้ลงโทษ ร. ถึงขั้นรุนแรง โจทก์ที่ 2 ไม่ติดใจเอาความแก่จำเลยทั้งทางแพ่งและทางอาญา เป็นเพียงคำรับรองว่าโจทก์ที่ 2 ไม่ติดใจเรียกร้องทางแพ่งและทางอาญาแก่จำเลย โดยจำเลยมิได้เข้าเป็นคู่สัญญาตกลงด้วยในอันที่จะระงับข้อพิพาทระหว่างโจทก์ที่ 2 กับจำเลยให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน ไม่เข้าลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า ในการประกอบกิจการค้าขายผ้าไหมไทย โจทก์ทั้งสองเปิดบัญชีเงินฝากไว้ที่ธนาคารจำเลย สาขาปักธงชัยได้แก่บัญชีออมทรัพย์ เลขที่ 304-1-09541-6 และบัญชีกระแสรายวัน เลขที่ 304-6-00092-8 ต่อมาระหว่างปี 2534 ถึงวันที่ 17 สิงหาคม 2541 นางรัชนีพร ปัญญาพิชย์ พนักงานและหรือตัวแทนของจำเลยปฏิบัติหน้าที่ในธนาคารจำเลย สาขาปักธงชัย ตำแหน่งพนักงานจ่ายเงินถอนเงินในบัญชีทั้งสองจำนวนหลายครั้งโดยมิชอบ แล้วนำเงินไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว รวมเป็นเงินที่หายไปจากบัญชีทั้งสอง 18,680,421.06 บาท ต่อมาจำเลยมอบอำนาจให้นายสถิตศักดิ์ อินทรสูตร ผู้จัดการธนาคารจำเลย สาขาปักธงชัยไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่นางรัชนีพรในข้อหายักยอกเงินในบัญชีของโจทก์ทั้งสอง การกระทำของนางรัชนีพรทำให้โจทก์ทั้งสองเสียหาย จำเลยในฐานะตัวการและหรือนายจ้างต้องรับผิดชอบดังต่อไปนี้ โจทก์ทั้งสองสูญเสียเงินที่ถูกนางรัชนีพรถอนไปจากบัญชีของโจทก์ทั้งสองเป็นเงิน 18,670,421.06 บาทและหากเงินดังกล่าวยังคงฝากอยู่ในบัญชี โจทก์ที่ 2 ควรได้รับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โจทก์ทั้งสองขอคิดดอกเบี้ยในส่วนนี้ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 3,035,553 บาท หากเงินดังกล่าวยังคงอยู่ในบัญชี โจทก์ทั้งสองก็ไม่จำต้องขอทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคารจำเลย จึงขอคิดค่าเสียหายเป็นดอกเบี้ยในกรณีที่โจทก์ทั้งสองจ่ายดอกเบี้ยเบิกเงินเกินบัญชีนับแต่วันที่ 17 สิงหาคม 2541 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 94,798.40 บาท โจทก์ทั้งสองต้องสูญเสียโอกาสในการขยายกิจการ และนำเงินไปหาประโยชน์จำนวน 5,000,000 บาท โจทก์ทั้งสองขอคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2534 จนถึงวันที่ 16 สิงหาคม 2541 ตามจำนวนเงินที่ถอนจากบัญชีรวม 312 ครั้ง ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี รวมเป็นเงินดอกเบี้ย 7,701,157 บาท ขอให้จำเลยใช้เงิน 34,511,929.46 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน 18,680,421.06 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยให้การว่า โจทก์ที่ 1 ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากจำเลยไม่เคยมีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 เป็นญาติกับนางรัชนีพร ปัญญาพิชญ์ พนักงานจำเลยย่อมต้องรู้ถึงการที่เงินฝากได้ขาดหายไปจากทั้งสองบัญชีนานแล้ว และโจทก์ทั้งสองได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับนางรัชนีพรและจำเลย โดยตกลงที่จะไม่เรียกร้องและดำเนินคดีแก่จำเลยไม่ว่าทางแพ่งและทางอาญา จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสอง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 18,775,219.46 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 18,680,421.06 บาท นับแต่วันที่ 18 สิงหาคม 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 40,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 20,000 บาท แทนโจทก์ทั้งสอง
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าโจทก์ทั้งสองเป็นสามีภรรยากันร่วมกันประกอบกิจการค้าขายผ้าไหมไทยในการประกอบกิจการโจทก์ที่ 2 ได้เปิดบัญชีเงินฝากไว้ที่ธนาคารจำเลย สาขาปักธงชัย ได้แก่บัญชีออมทรัพย์ เลขที่ 304-1-09541-6 และบัญชีกระแสรายวัน เลขที่ 304-6-0092-8 โดยมีเงื่อนไขให้โจทก์ที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อถอนเงินและสั่งจ่ายแต่เพียงผู้เดียว เมื่อระหว่างปี 2534 ถึงวันที่ 17 สิงหาคม 2541 นางรัชนีพร ปัญญาพิชญ์ พนักงานของจำเลยยักยอกเงินจากบัญชีทั้งสองไปรวม 312 ครั้ง เป็นเงิน 18,680,421.06 บาท เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2541 โจทก์ที่ 2 มีหนังสือถึงผู้จัดการธนาคารจำเลย สาขาปักธงชัย โจทก์ที่ 2 ขอให้ความยินยอมและให้สัตยาบันต่อการกระทำของนางรัชนีพร ขอรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่บัญชีเงินฝากทั้งสองบัญชีดังกล่าวเอง โดยไม่เรียกร้องเงินรวมทั้งค่าเสียหายต่าง ๆ คืนจากจำเลยไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่งและคดีอาญา โดยโจทก์ที่ 2 ลงชื่อในช่องผู้ให้คำยินยอม และนายสถิตศักดิ์ อินทรสูตร ลงชื่อในช่องพยานท้ายหนังสือ ตามสำเนาและบันทึกคำยินยอม และไม่เรียกร้องเงินค่าเสียหายจากธนาคารในกรณีเกิดความเสียหายเอกสารหมาย จ.8 และ ล.3 เมื่อวันที่ 22 เดือนเดียวกัน พนักงานสอบสวนได้จัดทำบันทึกใจความว่า โจทก์ที่ 2 ไม่ติดใจฟ้องร้องทางแพ่งและทางอาญาแก่จำเลย และนางรัชนีพรกับสามียินยอมชดใช้เงิน 8,000,000 บาทเศษ แก่โจทก์ที่ 2 โดยโจทก์ที่ 2 และนายสถิตศักดิ์ลงชื่อในช่องผู้เสียหาย ตามบันทึกยินยอมรับสารภาพเอกสารหมาย ล.4 และพนักงานสอบสวนได้นำรายละเอียดดังกล่าวไปบันทึกลงในรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานไว้ด้วยตามสำเนารายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานเอกสารหมาย ล.5 ต่อมาวันที่ 31 เดือนเดียวกัน โจทก์ที่ 2 ได้มีหนังสือถึงผู้จัดการธนาคารจำเลย สาขาปักธงชัย อีกฉบับหนึ่งใจความว่า โจทก์ที่ 2 ขอรับผิดชอบสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่บัญชีเงินฝากของโจทก์ที่ 2 เพียงผู้เดียว ขอผู้จัดการอย่าได้ลงโทษนางรัชนีพรถึงขั้นรุนแรง โจทก์ที่ 2 ไม่ติดใจเอาความแก่จำเลยทั้งทางแพ่งและทางอาญา ตามหนังสือเอกสารหมาย ล.6 ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า ข้อความที่ว่าโจทก์ที่ 2 ไม่ติดใจเรียกร้องทางแพ่งแก่จำเลยที่ปรากฏในเอกสารหมาย จ.8 หรือ ล.3 และ ล.4 ถึง ล.6 มีผลเป็นการสละสิทธิเรียกร้องที่โจทก์ทั้งสองมีต่อจำเลยหรือไม่ เห็นว่า ข้อความดังกล่าวเป็นเพียงคำรับรองว่าโจทก์ที่ 2 ไม่ติดใจเรียกร้องทางแพ่งแก่จำเลย สำหรับเอกสารหมาย ล.3 และ ล.6 เป็นหนังสือที่โจทก์ที่ 2 มีไปถึงนายสถิตศักดิ์ผู้จัดการธนาคารจำเลย สาขาปักธงชัย ส่วนเอกสารหมาย ล.4 และ ล.5 เป็นเอกสารที่พนักงานสอบสวนจัดทำขึ้นแล้วให้โจทก์ที่ 2 กับนายสถิตศักดิ์ลงชื่อในเอกสารหมาย ล.4 ในฐานะผู้เสียหาย และนายสถิตศักดิ์ลงชื่อในเอกสารหมาย ล.5 ในช่องผู้แจ้ง ข้อความดังกล่าวจึงเป็นการแสดงเจตนาของโจทก์ที่ 2 เพียงฝ่ายเดียว โดยฝ่ายจำเลยมิได้เข้าเป็นคู่สัญญาตกลงด้วยในอันที่จะระงับข้อพิพาทระหว่างโจทก์ที่ 2 กับจำเลยให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันอย่างใดเลย ไม่เข้าลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 10,000 บาท แทนโจทก์ทั้งสอง.