คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1115/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามสัญญารับเหมาช่วงพร้อมคำแปล ข้อ 22.5 ของสัญญาทั้งสองฉบับระบุว่า “หากการวินิจฉัยสุดท้ายของผู้รับเหมาไม่ได้รับการยอมรับจากผู้รับเหมาช่วง ผู้รับเหมาช่วงอาจจะดำเนินการตามกลไกการระงับข้อพิพาทที่ระบุไว้ตามความในข้อย่อย 22.7 ของสัญญารับเหมาช่วงนี้ แต่ไม่ผูกพันว่าต้องทำเช่นนี้เสมอไป” เช่นนี้ตามตอนท้ายของสัญญาข้อ 22.5 ดังกล่าวหาใช่เป็นการบังคับให้โจทก์จำต้องเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการก่อนเสมอไปไม่ แต่มีความหมายไปในทางให้โอกาสโจทก์นำข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดหรือฟ้องต่อศาลทางใดทางหนึ่งก็ได้ ดังนั้น โจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลได้โดยไม่ต้องดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการก่อน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนในสาธารณรัฐอินเดีย และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติชำระค่าจ้างช่วงในการเชื่อมท่อและติดตั้งท่อก๊าซธรรมชาติ เส้นทางที่ 4 (ระยอง – แก่งคอย) รวมค่าธรรมเนียมธนาคารในการต่ออายุหนังสือสัญญาค้ำประกันผลงานเป็นเงิน 14,880,256.84 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 14,300,642.62 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าธรรมเนียมธนาคารในการต่ออายุหนังสือสัญญาค้ำประกันผลงานจำนวน 85,600 บาท ทุก 4 เดือน นับแต่วันที่ 22 มีนาคม 2557 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 1 จะคืนต้นฉบับหนังสือค้ำประกันผลงานให้แก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 1 คืนต้นฉบับหนังสือค้ำประกันผลงานของธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) วงเงินค้ำประกันจำนวน 3,930,002.80 บาท ลงวันที่ 25 เมษายน 2556 ให้แก่โจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นอนุญาต จำหน่ายคดีในส่วนจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ ส่วนจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2558 ขอแก้ไขคำให้การในส่วนอำนาจฟ้องของโจทก์และขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมาย ซึ่งโจทก์ไม่ค้านการขอแก้ไขคำให้การ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า โจทก์มิได้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญาความตกลงรับเหมาช่วงพร้อมคำแปล ให้จำหน่ายคดีตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง คืนค่าขึ้นศาลให้โจทก์ 175,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมอื่นให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งคัดค้านในชั้นนี้ฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติเส้นทางที่ 4 (ระยอง – แก่งคอย) ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นคู่สัญญากับจำเลยที่ 2 โดยเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติเส้นทางที่ 4 (ระยอง – แก่งคอย) กับจำเลยที่ 2 ต่อมาวันที่ 2 สิงหาคม 2555 จำเลยที่ 1 ตกลงว่าจ้างโจทก์รับเหมาช่วงให้ประกอบท่อ เชื่อมท่อในโรงงานของโจทก์ตามสำเนาสัญญารับเหมาช่วงพร้อมคำแปล และวันที่ 26 เมษายน 2556 จำเลยที่ 1 ตกลงว่าจ้างโจทก์รับเหมาช่วงติดตั้งวางท่อ เชื่อมท่อที่ประกอบแล้วตามเส้นทางสำหรับโครงการท่อก๊าซธรรมชาติเส้นทางที่ 4 (ระยอง – แก่งคอย) ตามสำเนาสัญญารับเหมาช่วงพร้อมคำแปล ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยก่อนว่า โจทก์ต้องดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการก่อนหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับอำนาจฟ้องและเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความจะมิได้กล่าวอ้างในชั้นฎีกา ศาลฎีกาก็หยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) เห็นว่า ตามสัญญารับเหมาช่วงพร้อมคำแปล ข้อ 22.5 ของสัญญาทั้งสองฉบับระบุว่า “หากการวินิจฉัยสุดท้ายของผู้รับเหมาไม่ได้รับการยอมรับจากผู้รับเหมาช่วง ผู้รับเหมาช่วงอาจจะดำเนินการตามกลไกการระงับข้อพิพาทที่ระบุไว้ตามความในข้อย่อย 22.7 ของสัญญารับเหมาช่วงนี้ แต่ไม่ผูกพันว่าต้องทำเช่นนี้เสมอไป” เช่นนี้ตามตอนท้ายของสัญญาข้อ 22.5 ดังกล่าวหาใช่เป็นการบังคับให้โจทก์จำต้องเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการก่อนเสมอไปไม่ แต่มีความหมายไปในทางให้โอกาสโจทก์นำข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดหรือฟ้องต่อศาลทางใดทางหนึ่งก็ได้ ดังนั้น โจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลได้โดยไม่ต้องดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการก่อน โจทก์มีอำนาจฟ้อง ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เมื่อวินิจฉัยเช่นนี้แล้ว ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องโดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 14 ไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษากลับ ให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้จำหน่ายคดีตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาพิพากษาต่อไปตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษา

Share