คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9855/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ใบรับขนสินค้าของจำเลยที่ 1 มีข้อความท้ายสุดว่า “สินค้าที่ไม่ได้ประเมินราคา เมื่อเกิดความชำรุดหรือเสียหายจะชดใช้ไม่เกิน 500 บาท” ทางนำสืบของจำเลยทั้งสองไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ตกลงยินยอมด้วย ข้อจำกัดความรับผิดดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 625 จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดเต็มจำนวนที่สินค้าเสียหายจริงคือ 34,527.50 บาท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันคืนทรัพย์ 1 กล่อง มูลค่า 34,527.50 บาท หากไม่สามารถคืนได้ให้ชดใช้ราคาเป็นเงิน 34,527.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น และค่าเสียหายเป็นเงิน 5,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ 500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 6 กันยายน 2556) เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะร่วมกันชำระให้โจทก์เสร็จสิ้นกับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่า อุทธรณ์ของโจทก์เป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมาย ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของโจทก์แล้วดำเนินการต่อไป
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ 36,527.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 6 กันยายน 2556) เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะร่วมกันชำระให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ถึงแม้ใบตราส่งจะมีข้อความยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดไว้ก็ย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 625 เพราะไม่ปรากฏว่าผู้ส่งสินค้ารายนี้ได้แสดงความตกลงยินยอมไว้โดยชัดแจ้งเกี่ยวกับข้อยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดนั้นด้วย และการที่ผู้ส่งสินค้ายอมรับใบตราส่งไปจากผู้ขนส่งนั้นจะถือว่าเป็นการตกลงยินยอมในข้อยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดตามใบตราส่งหาได้ไม่ คำพิพากษาฎีกาที่ 4593/2539 ระหว่าง บริษัทเอสโซ่แสตนดาร์ดประเทศไทย จำกัด โจทก์ บริษัทอีสต์เอเชียติ๊ก (ประเทศไทย) จำกัดที่ 1 บริษัทโหงวฮกเอเยนซี่ จำกัด ที่ 2 จำเลย ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าผู้ส่งได้แสดงความตกลงโดยชัดแจ้งในการจำกัดความรับผิดดังกล่าว ข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตามที่จำเลยที่ 1 อ้างจึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 625 คำพิพากษาฎีกาที่ 468/2551 ระหว่าง บริษัท เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด โจทก์ บริษัทเฟดเดอรัล เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด จำเลย เป็นเรื่องโจทก์ไม่ได้แสดงความตกลงด้วยชัดแจ้งในการจำกัดความรับผิดของจำเลยตามข้อความที่ปรากฏด้านหลังของใบรับขนทางอากาศ ข้อความจำกัดความรับผิดดังกล่าวจึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 625 คำพิพากษาฎีกาที่ 8957/2553 ระหว่าง บริษัทซิกน่า ปรอปเปอร์ตี้ แอนด์ แอสชวลตี้ อินชัวรันส์ จำกัด โจทก์ บริษัท ที.แอล.เอ็นเตอร์ไพรส์ (1991) จำกัด จำเลย เป็นเรื่องที่ตามสำเนาใบรับสินค้าของจำเลย มีข้อความซึ่งมีลักษณะคล้ายใช้ตรายางประทับว่า สินค้าเสียหายหรือสูญหายการชดใช้ค่าเสียหาย สูญหายตามความเป็นจริงแต่ต้องไม่เกินวงเงิน 30,000 บาท แต่ในเอกสารดังกล่าวมีแต่ฝ่ายจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อฝ่ายเดียวโดยมิได้ให้ผู้ส่งลงลายมือชื่อไว้ด้วย จะถือว่าผู้ส่งตกลงยอมรับข้อจำกัดความรับผิดของจำเลยโดยชัดแจ้งแล้วหาได้ไม่ ส่วนคำพิพากษาฎีกาที่ 1402/2555 ระหว่าง บริษัทเอ็ม เอส ไอ จี ประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด โจทก์ บริษัทยีพีเอส พาร์เซลดีลิเวอร์รี่ เซอร์วิส จำกัด จำเลย เป็นเรื่องข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ส่งทราบถึงเงื่อนไขข้อจำกัดความรับผิด ถือว่าผู้ส่งตกลงโดยชัดแจ้งให้จำเลยจำกัดความรับผิด มีผลให้ข้อจำกัดความรับผิดไม่ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 625 คำพิพากษาฎีกาที่ 7290/2555 ระหว่าง บริษัทเอช อินชัวรันซ์ จำกัด โจทก์ บริษัทยูพีเอส พาร์เซล ดีลิเวอร์รี่ เซอร์วิส จำกัด จำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า สัญญารับขนพิพาทมีเงื่อนไขจำกัดความรับผิดในการขนส่งไว้ในวงเงินไม่เกิน 100 ดอลลาร์สหรัฐ และผู้ส่งได้รับทราบเงื่อนไขตามข้อสัญญาดังกล่าว ย่อมมีผลผูกพันโดยตรงระหว่างคู่สัญญารับขนคือผู้ส่ง และจำเลยในฐานะผู้ขอส่ง ถือได้ว่าผู้ส่งได้ตกลงโดยชัดแจ้งในการจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งแล้ว ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงซึ่งจำเลยทั้งสองมิได้ฎีกาโต้เถียงเป็นอื่นว่า วันที่ 27 กันยายน 2555 โจทก์นำสินค้าของโจทก์ประเภทเครื่องสำอางต่าง ๆ ไปว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการขนส่งสินค้า 2 กล่อง กล่องแรกมีมูลค่าสินค้า 10,921.68 บาท กล่องที่ 2 มีมูลค่าสินค้า 34,527.50 บาท เพื่อให้นำไปส่งร้านกันยารักษ์ อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง จำเลยที่ 1 ได้รับมอบสินค้าจำนวน 2 กล่องดังกล่าว พร้อมค่าบริการจากโจทก์แล้ว ต่อมาปรากฏว่าสินค้าหายไป 1 กล่อง มูลค่าสินค้า 34,527.50 บาท ใบรับขนสินค้า มีข้อความอยู่ท้ายสุดว่า “สินค้าที่ไม่ได้ประเมินราคา เมื่อเกิดความชำรุดหรือเสียหายจะชดใช้ไม่เกิน 500 บาท” ศาลอุทธรณ์ฟังว่าทางนำสืบของจำเลยทั้งสองไม่ปรากฏว่าโจทก์จะได้ตกลงยินยอมด้วยโดยชัดแจ้ง คดีจึงมีปัญหาข้อเท็จจริงที่สำคัญที่จะต้องวินิจฉัยก่อนตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า โจทก์ตกลงยินยอมโดยชัดแจ้งรับรู้ข้อจำกัดความรับผิดที่ว่า “สินค้าที่ไม่ได้ประเมินราคา เมื่อเกิดความชำรุดหรือเสียหายจะชดใช้ไม่เกิน 500 บาท” หรือไม่ จำเลยทั้งสองนำสืบนายชาตรี เพียงปากเดียวว่า เมื่อลูกค้านำสินค้ามาฝากส่งก็จะออกใบรับขนเป็นหลักฐาน ด้านล่างระบุกรณีจำกัดความรับผิดสินค้าที่ไม่ได้ประเมินราคาไม่เกิน 500 บาทไว้ การส่งรายนี้เป็นแบบไม่ได้ประเมินราคา นายชาตรีเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า ข้อความจำกัดความรับผิดพิมพ์ไว้แล้ว ผู้ว่าจ้างจะตกลงด้วยหรือไม่ พยานไม่เคยสอบถาม ตามใบรับขนส่งสินค้า ไม่ปรากฏว่ามีฝ่ายโจทก์ลงลายมือชื่อรับรู้ไว้ ศาลฎีกาจึงเห็นด้วยกับข้อวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ที่ว่าโจทก์ไม่ได้ตกลงยินยอมโดยชัดแจ้งรับรู้ข้อจำกัดความรับผิดตามใบรับขนส่งสินค้า ที่ว่า “สินค้าที่ไม่ได้ประเมินราคา เมื่อเกิดความชำรุดหรือเสียหายจะชดใช้ไม่เกิน 500 บาท” ดังนั้นข้อจำกัดความรับผิด จึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 625 ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 2230/2530 ระหว่างบริษัทนิวแฮมเชอร์อินชัวรันส์ จำกัดฯ โจทก์ บริษัทอีสเทอนมารีไทม์ (ประเทศไทย) จำกัด จำกัด คำพิพากษาฎีกาที่ 4593/2539 ระหว่าง บริษัทเอสโซ่แสตนดาร์ด ประเทศไทย จำกัด โจทก์ บริษัทอีสต์เอเชียติ๊ก(ประเทศไทย) จำกัด ที่ 1 บริษัทโหงวฮกเอเยนซี่ จำกัด ที่ 2 จำเลย และคำพิพากษาฎีกาที่ 468/2551 ระหว่างบริษัทเพาเวอร์อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด โจทก์ บริษัทเฟดเดอรัล เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด จำเลย ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาให้โจทก์ 3,000 บาท

Share