คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1088/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การนับระยะเวลาครอบครองติดต่อกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 กล่าวไว้เฉพาะด้านผู้ครอบครองว่า ถ้าผู้ครอบครองได้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ตามหลักเกณฑ์และครบ 10 ปีแล้ว ย่อมได้กรรมสิทธิ์ มิได้คำนึงถึงฝ่ายผู้เป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกครอบครองแต่อย่างใด แม้จะบัญญัติว่าต้องเป็นการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น คำว่า “ผู้อื่น” ย่อมหมายถึงบุคคลทั่วไปซึ่งมิใช่ผู้ครอบครองปกปักษ์ ฉะนั้นในการนับเวลาครอบครองติดต่อกันตามมาตรานี้ จึงถือเอาระยะเวลาครอบครองของฝ่ายผู้ครอบครองเท่านั้น ไม่ต้องพิจารณาถึงตัวเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกครอบคอรงว่าจะได้โอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกครอบครองให้แก่ผู้ใดหรือไม่ ทั้งไม่จำต้องถือเอาทางฝ่ายเจ้าของอสังริมทรัพย์แต่ละคนที่รับโอนกรรมสิทธิ์มาเป็นเกณพ์ในการเริ่มระยะเวลาใหม่ทุกครั้งที่มีการเเปลี่ยนตัวเจ้าของ
ภารจำยอมที่อาจได้มาทางอายุความนั้น มาตรา 1401 ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยอายุความได้สิทธิอันเกี่ยวกับภารจำยอมโดยอายุความจึงต้องถือเอาการนับระยะเวลาตามเกณฑ์ในมาตรา 1382 มาเป็นหลักเมื่อได้ความว่าโจทก์กับ ส. และเจ้าของที่ดินแปลงอื่น ๆ ได้ ตกลงกันและทำหนังสือสัญญากันไว้ยอมแบ่งที่ดินของตนฝ่ายตน 1เมตรทำเป็นทางออกสู่ถนนใหญ่ และโจทก์ก็ได้ใช้ทางนี้เป็นทางเข้าออกตลอดมา ครั้นโจทก์ใช้ทางพิพาทยังไม่ถึง 10 ปี จำเลยได้รับโอนที่ดินมาจาก ส. โดยจำเลยรู้ถึงข้อตกลงระหว่างโจทก์กับ ส. และเจ้าของที่ดินแปลงอื่น ๆ ดี ดังนี้แม้สัญญาที่ทำกันไว้จะไม่ผูกพันจำเลยให้จำต้องปฏิบัติตาม แต่การที่จำเลยยังปล่อยให้โจทก์ใช้ทางพิพาทต่อมาโดยไม่ได้โต้แย้งขัดขวาง จนรวมเวลาเก่าใหม่เข้าด้วยกันเกินกว่า 10 ปี ทางพิพาทย่อมตกเป็นภารจำยอมโดยทางอายุความ
จำเลยเป็นเจ้าของภารทรัพย์ย่อมต้องห้ามตามมาตรา 1390 มิได้ประกอบกรรมใด ๆ อันจะเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภารจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวก เมื่อโจทก์เจ้าของสามยทรัพย์เป็นผู้ลาดพื้นซีเมนต์ทางเดินบนที่ดินของจำเลยซึ่งตกอยู่ภายใต้ภารจำยอมการที่จำเลยขุดพื้นซีเมนต์ที่โจทก์ทำไว้เป็นหลุ่มเพื่อทำรั้วและทำให้พื้นซีเมนต์แตกไป จึงเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อมาตรา 1390 และย่อมเป็นการละเมิดต่อสิทธิของโจทก์ตามมาตรา 420 ด้วย จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และผู้ซื้อที่ดินแปลงติดต่อกับคนอื่น ๆ ตกลงทำสัญญาสละกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ซื้อไว้คนละ ๑ เมตร เพื่อใช้ทำถนนกว้าง ๒ เมตร ผ่านกลางที่ดินทุกแปลง โจทก์และเจ้าของที่ดินทุกคนตลอดจนบุคคลอื่นได้ใช้ถนนกว้าง ๒ เมตรนี้ เดินเข้าออกจนกระทั่งถึงปัจจุบันประมาณ ๑๕ ปี ถนนดังกล่าวจึงตกเป็นภารจำยอมต่อมาจำเลยที่ ๑ ซึ่งรับโอนที่ดินแปลงตรงข้ามกับโจทก์มาจากเจ้าของคนก่อนได้ร่วมกับจำเลยที่ ๒ กั้นรั้วรุกล้ำแนวถนนดังกล่าวเข้ามาทำให้โจทก์มาจากเจ้าของคนก่อนได้ร่วมกับจำเลยที่ ๒ กั้นรั้วรุกล้ำแนวถนนดังกล่าว เข้ามาทำให้โจทก์มาจากเจ้าของคนก่อนได้ร่วมกับจำเลยที่ ๒ กั้นรั้วลุกล้ำแนวถนนดังกล่าวเข้ามาทำให้โจทก์เข้าออกไม่สะดวก และยังทำลายซิเมนต์ที่โจทก์ลงทุนทำไว้เสียหายเป็นเงิน ๓,๐๐๐ บาท ขอให้ศาลพิพากษาบังคับให้จำเลยรื้อรั้วออกไปจากแนวเขตถนนภารจำยอมและให้จำเลยไปจดทะเบียนที่ดินพิพาทเป็นภารจำยอม ถ้าไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ให้จำเลยใช้ค่าขาดประโยชน์และค่าเสียหายรวม ๔,๐๐๐ บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า สัญญายินยอมให้เปิดทางเดินและทำถนนในที่พิพาทไม่มีลักษณะเป็นภารจำยอมและไม่ผูกพันจำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอก โจทก์เรียกร้องค่าเสียหายไม่ได้ เพราะที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย และพื้นซิเมนต์ที่จำเลยกั้นรั้วก็เป็นพื้นซิเมนต์ที่จำเลยก่อสร้างขึ้น ถ้าฟังว่าโจทก์เป็นผู้ทำพื้นซิเมนต์ด้วยทุนทรัพย์ของโจทก์ พื้นซิเมนต์ก็เป็นทรัพย์ที่ติดกับที่ดินของจำเลย จึงตกเป็นส่วนควบตามกฎหมาย
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ทางพิพาทตกเป็นภารจำยอมโดยทางอายุความและจำเลยทุบถนนคอนกรีตที่โจทก์เทไว้เสียหาย พิพากษาให้จำเลยรื้อรั้วที่กั้นเข้ามาในทางภารจำยอม กับให้จำเลยไปจดทะเบียนภารจำยอม ถ้าไม่ยอมไปจดให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ๑,๐๐๐ บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้นับตั้งแต่โจทก์ใช้ทางพิพาทตามข้อตกลงจนถึงวันที่จำเลยรับโอน กรรมสิทธิ์ที่ดินจากเรือตรีสถาพร อุกกุฏานนท์ ยังไม่ถึง ๑๐ ปี แต่เมื่อจำเลยรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินมาแล้ว ยังปล่อยให้โจทก์ใช้ทางพิพาทต่อมาอีกโดยไม่โต้แย้งขัดขวาง เมื่อรวมเวลาเก่าและใหม่เข้าด้วยกันนับได้เกินกว่า ๑๐ ปี ดังนี้ ทางพิพาทจะตกเป็นภารจำยอมโดยทางอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๘๒ และ ๑๔๐๑ หรือไม่นั้น ต้องพิเคราะห์ตัวบทแห่งมาตรา ๑๓๘๒ ก่อนว่าได้กล่าวถึงการนับเวลาครอบครองเกี่ยวกับการได้กรรมสิทธิ์ไว้อย่างไรอันจะเป็นหลักในการนำสู่การวินิจฉัยเรื่องภารจำยอมที่อาจได้มาทางอายุความ ตามมาตรา ๑๔๐๑ ได้พิจารณาแล้ว การนับระยะเวลาครอบครองติดต่อกันตามมาตรา ๑๓๘๒ กล่าวไว้เฉพาะด้านผู้ครอบครองปรปักษ์เท่านั้นว่า ถ้าผู้ครอบครองได้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ตามหลักเกณฑ์และครบ ๑๐ ปีแล้ว ย่อมได้กรรมสิทธิ์ โดยมิได้คำนึงถึงฝ่ายผู้เป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกครอบครองแต่อย่างใด แม้จะบัญญัติว่าต้องเป็นการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น คำว่า “ผู้อื่น” ย่อมหมายถึงบุคคลทั่วไปซึ่งมิใช่ผู้ครอบครองปกปักษ์ ฉะนั้นในการนับเวลาครอบครองติดต่อกันตามมาตรา ๑๓๘๒ จึงถือเอาระยะเวลาครอบครองของฝ่ายผู้ครอบครองเท่านั้นเป็นสาระสำคัญ โดยไม่ต้องพิจารณาถึงตัวเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกครอบครองว่าจะได้โอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกครอบครองให้แก่ผู้ใดหรือไม่ ทั้งไม่จำต้องถือเอาทางฝ่ายเจ้าของอสังริมทรัพย์แต่ละคนที่รับโอนกรรมสิทธิ์มาเป็นเกณฑ์ในการเริ่มระยะเวลาใหม่ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนตัวเจ้าของ เนื่องจาก ๑๔๐๑ บัญญัติว่าภารจำยอมอาจได้มาโดยทางอายุความ ท่านให้นำบทบัญญัติว่าด้วยอายุความได้สิทธิอันกล่าวไว้ในลักษณะ ๓ แห่งบรรพนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม” ฉะนั้นการนับเวลาติดต่อกันเกี่ยวกับภารจำยอมโดยอายุความจึงต้องถือเอาการนับระยะเวลาตามเกณฑ์ในมาตรา ๑๓๒๘ มาเป็นหลักในการนับ ด้วยเหตุผลดังได้วินิจฉัยมา ศาลฎีกาเห็นว่าทางพิพาทคดีนี้ตกเป็นภารจำยอมโดยทางอายุความ เพราะถือได้ว่าโจทก์ใช้ทางพิพาทติดต่อกันมาเกิน ๑๐ ปีแล้ว ที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยซื้อที่ดินพิพาทมาเมื่อวันที่ ๒๑มิถุนายน ๒๕๐๔ นับจนถึงวันฟ้องยังไม่ถึง ๑๐ ปี จึงไม่ใช่สาระสำคัญอันจะทำให้การวินิจฉัยคดีเปลี่ยนแปลงเป็นอื่น ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
สำหรับประเด็นเรื่องค่าเสียหายนั้น จำเลยฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยคลาดเคลื่อน เพราะจำเลยต่อสู้ว่าพื้นซิเมนต์ที่จำเลยกั้นรั้ว จำเลยสร้างขึ้นเอง จึงมีสิทธิและอำนาจทำได้ หรือถ้าโจทก์เป็นผู้ทำ พื้นซิเมนต์ก็ตกเป็นส่วนควบของที่ดินของจำเลยที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ ๑,๐๐๐ บาทนั้น จึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเป็นว่า ปรากฏจากคำเบิกความของจำเลยทั้งสองเองว่า โจทก์เป็นผู้ลาดพื้นซิเมนต์นั้นเองฉะนั้นจึงหาใช่จำเลยเป็นผู้ทำขึ้นดังที่จำเลยฎีกาไม่ เมื่อศาลฎีกาได้วินิจฉัยแล้วว่า ที่ดินที่โจทก์ลาดซิเมนต์ไว้นั้นตกอยู่ภายใต้ภารจำยอม ดังนั้นจำเลยที่ ๑ซึ่งเป็นเจ้าของภารทรัพย์ จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๓๙๐ มิได้ประกอบกรรมใด ๆ อันจะเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภารจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวก การที่จำเลยทั้งสองร่วมกับขุดพื้นซิเมนต์นั้นเป็นหลุมเพื่อทำรั้วและทำให้พื้นซิเมนต์บริเวณนั้นแตกไปจึงเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อมาตรา ๑๓๙๐ และย่อมเป็นการละเมิดต่อสิทธิของโจทก์ตามมาตรา ๔๒๐ ด้วย จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ และที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหาย ๑,๐๐๐ บาท โดยเห็นชอบตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดมานั้น ศาลฎีกาเป็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน
พิพากษายืน

Share