คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7224/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนกำแพงและขนขยะที่ขวางทางน้ำออกไปจากคลองพิพาทและห้ามจำเลยกระทำการกีดขวางทางน้ำในคลองดังกล่าวอีกจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าแนวลำคลองด้านทิศใต้ของที่ดินพิพาทซึ่งอยู่ใกล้กับบ้านของโจทก์ปรากฏว่ามีน้ำขังอยู่ในสภาพเน่าเหม็น และระดับน้ำสูงเกือบถึงชายฝั่งคลองยาวตลอดแนวไปถึงแนวเขตที่ดินที่โจทก์ปลูกบ้าน ที่ดินพิพาทยังมีขยะทับถมกั้นทางน้ำไหลอยู่ บริเวณด้านใต้ของขยะมีน้ำขังอยู่พอสมควร ส่วนลำคลองด้านทิศเหนือของที่พิพาทซึ่งปรากฏมีแนวลำคลองต่อจากท่อระบายน้ำห่างจากที่พิพาทประมาณ 80 เมตร ซึ่งมีน้ำไหลในทางทิศเหนือต่อไปถึงคลองใหญ่และบริเวณที่นาของโจทก์ซึ่งอยู่ติดลำคลองด้านทิศใต้ ต้นมะขามเทศที่โจทก์ปลูกอยู่ในแนวคันนาบางต้นอยู่ในสภาพใบเหลืองเนื่องจากน้ำท่วมขังถึงโคนต้นอันเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนเสียหายเนื่องมาจากการกระทำของจำเลยทั้งสองกรณีจึงมีเหตุเพียงพอที่จะนำวิธีคุ้มครองตามที่โจทก์ขอมาใช้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากโจทก์ทั้งเจ็ดฟ้องขอบังคับให้จำเลยทั้งสองรื้อกำแพงและขนย้ายขยะหรือสิ่งปฏิกูลที่ขวางทางน้ำออกจากคลองสาธารณะประโยชน์บ้านบางทะลุ พร้อมกับยื่นคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉินและขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้วในวันที่ 20 ตุลาคม 2538 มีคำสั่งให้จำเลยทั้งสองรื้อกำแพงและขนย้ายขยะที่ขวางทางน้ำออกไปจากคลองสาธารณะส่วนที่ผ่านที่ดินโฉนดเลขที่ 7537 ห้ามจำเลยทั้งสองกระทำการกีดขวางทางน้ำในคลองดังกล่าวอีกจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นให้โจทก์ทั้งเจ็ดวางเงินประกัน 7,000 บาท

วันที่ 21 พฤศจิกายน 2538 จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การแก้คดีและยื่นคำร้องให้เพิกถอนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาดังกล่าว ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้ว มีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งที่อนุญาตให้คุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาในกรณีฉุกเฉินลงวันที่20 ตุลาคม 2538

ต่อมาวันที่ 7 มิถุนายน 2539 โจทก์ทั้งเจ็ดยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้ว มีคำสั่งให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรื้อถอนกำแพงและขนขยะที่ขวางทางน้ำออกไปจากคลองพิพาทส่วนที่ผ่านที่ดินโฉนดเลขที่ 7537 ห้ามจำเลยทั้งสองกระทำการกีดขวางทางน้ำในคลองดังกล่าวอีกจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ให้โจทก์ทั้งเจ็ดวางเงินประกันจำนวน 7,000 บาท

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองฎีกาโต้เถียงคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งเจ็ดได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่จำเลยทั้งสองนำขยะมาถมในแนวคลองในที่ดินของจำเลยทั้งสองไม่เป็นความจริง เพราะขยะดังกล่าวเป็นขยะประเภทใบไม้และกิ่งไม้แห้งที่ร่วงหล่นลงตามธรรมชาติ ขยะดังกล่าวแม้จะถูกน้ำท่วมขังแต่ก็ไม่ก่อให้เกิดกลิ่นเหม็น ส่วนแนวคลองที่โจทก์ทั้งเจ็ดอ้างว่าเกิดน้ำท่วมขังเพราะติดขยะที่จำเลยทั้งสองนำไปถมไว้ในที่ของจำเลยทั้งสองก็ไม่เป็นความจริงเนื่องจากแนวคลองที่อยู่ทางด้านทิศใต้ของที่ดินจำเลยทั้งสองมิได้มีส่วนเชื่อมติดกับแนวคลองที่อยู่ในที่ดินของจำเลยทั้งสอง แต่เมื่อพิเคราะห์จากรายงานกระบวนพิจารณาในการเดินเผชิญสืบของศาลชั้นต้นลงวันที่ 10 กันยายน 2539 ปรากฏว่า ทนายโจทก์นำชี้ให้ศาลดูแนวลำคลองด้านทิศใต้ของที่ดินพิพาทซึ่งอยู่ใกล้กับบ้านของโจทก์ต่าง ๆ ปรากฏว่ามีน้ำขังอยู่ในสภาพเน่าเหม็นและระดับน้ำสูงเกือบถึงชายฝั่งคลองยาวตลอดแนวไปถึงแนวเขตที่ดินที่โจทก์ที่ 7 ปลูกบ้านส่วนที่ดินพิพาทโจทก์ชี้ให้ศาลดูว่ายังมีขยะทับถมกั้นทางน้ำไหลอยู่ จากการที่ศาลเดินย่ำขยะบริเวณที่พิพาทปรากฏว่ามีลักษณะยวบยาบ เนื่องจากบริเวณด้านใต้ของขยะมีน้ำขังอยู่พอสมควร จากนั้นโจทก์พาศาลเดินไปดูลำคลองด้านทิศเหนือของที่พิพาทซึ่งปรากฏมีแนวลำคลองต่อจากท่อระบายน้ำห่างจากที่พิพาทประมาณ 80 เมตร ซึ่งมีน้ำไหลในทางทิศเหนือต่อไปถึงคลองใหญ่ซึ่งชาวบ้านเรียกว่าคลองบางทะลุ แล้วยังพาศาลกลับไปดูบริเวณที่นาของโจทก์ที่ 5 ซึ่งอยู่ติดลำคลองด้านทิศใต้ ชี้ให้ดูต้นมะขามเทศที่โจทก์ที่ 5 ปลูกอยู่ในแนวคันนาซึ่งบางต้นอยู่ในสภาพใบเหลือง เนื่องจากน้ำท่วมขังถึงโคนต้น ศาลตรวจดูแล้วปรากฏว่าเป็นความจริง เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นเดินเผชิญสืบได้ความดังกล่าวเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งเจ็ดได้รับความเดือดร้อนเสียหายเนื่องจากการกระทำของจำเลยทั้งสองและกรณีมีเหตุเพียงพอที่จะนำวิธีคุ้มครองตามที่โจทก์ทั้งเจ็ดขอมาใช้ศาลอุทธรณ์ภาค 3พิพากษาชอบแล้ว

พิพากษายืน

Share