แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๒/๒๕๕๔
วันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔
เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลปกครองเชียงใหม่
ระหว่าง
ศาลจังหวัดลำพูน
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองเชียงใหม่โดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๑ นายรัชวุฒิ หรือบุญชัย รุ่งชัยธเนศ ที่ ๑ นางสมใจ ชลวัฒนสกุล ที่ ๒ ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องอธิบดีกรมที่ดิน ที่ ๑ สำนักงานที่ดินจังหวัดลำพูน สาขาบ้านโฮ่ง ที่ ๒ กรมที่ดิน ที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองเชียงใหม่ เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๓๕๔/๒๕๕๑ ความว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๒๙๐๕ ตำบลศรีเตี้ย อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน โดยซื้อมาจากบริษัทสุวิทย์และเพื่อนการเกษตรแอนด์คันทรีคลับ จำกัด ในปี ๒๕๓๘ แต่เมื่อปี ๒๕๕๑ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๒๙๐๕ ของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง เนื่องจากที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสองอยู่ในเขตป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๐๘ ผู้ฟ้องคดีทั้งสองอุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งดังกล่าวว่า บริษัทสุวิทย์และเพื่อนฯ ได้ดำเนินการขอขึ้นทะเบียนสวนป่าในท้องที่หมู่ที่ ๓ ตำบลศรีเตี้ย อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน ซึ่งป่าไม้จังหวัดลำพูนแจ้งว่าเจ้าหน้าที่ได้ออกไปตรวจสอบพื้นที่ของบริษัทสุวิทย์และเพื่อนฯ มีพื้นที่ตามโฉนดที่ดินจริง หากที่ดินพิพาทอยู่ในเขตป่าไม้ถาวร ป่าไม้จังหวัดลำพูนก็น่าจะคัดค้านหรือมีคำสั่งอื่นใดที่จะไม่ให้บริษัทสุวิทย์และเพื่อนฯ ดำเนินการเกี่ยวกับที่ดินไว้ก่อน อีกทั้งที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๒๙๐๕ ได้มีการออกเป็นโฉนดที่ดินตั้งแต่เดือนมกราคม ๒๕๓๘ โดยถูกต้องมีผู้ปกครองท้องที่และเจ้าของที่ดินข้างเคียงมาร่วมระวังชี้แนวเขตแล้ว ที่ดินดังกล่าวและที่ดินบริเวณใกล้เคียงมีสภาพเป็นพื้นที่ราบโล่งเตียน ไม่มีสภาพเป็นป่าไม้ถาวรแต่อย่างใด แต่รองอธิบดีกรมที่ดินซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ แจ้งว่า ไม่เห็นด้วยกับอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง เนื่องจากโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการออกโฉนดที่ดินในเขตป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรี อันเป็นที่ดินต้องห้ามมิให้เดินสำรวจออกโฉนดที่ดินตามมาตรา ๕๘ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน และการขึ้นทะเบียนสวนป่าเป็นไปตามพระราชบัญญัติสวนป่า พ.ศ. ๒๕๓๕ โดยรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้มีการปลูกสวนป่าเพื่อการค้าในที่ดินของรัฐและเอกชนให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ซึ่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นมิได้มีบทบัญญัติรองรับและคุ้มครองป่าไม้หวงห้ามที่ได้จากการปลูกสวนป่า จึงให้มีกฎหมายว่าด้วยสวนป่าดังกล่าว การรับขึ้นทะเบียนที่ดินของบริษัทสุวิทย์และเพื่อนฯ เป็นสวนป่ามิได้เป็นการแสดงว่าที่ดินดังกล่าวไม่อยู่ในเขตป่าไม้ถาวร และไม่เกี่ยวข้องกับการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินแต่อย่างใด ต่อมารองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ได้พิจารณาอุทธรณ์แล้วเห็นว่า อุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีทั้งสองฟังไม่ขึ้นและยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ผู้ฟ้องคดีทั้งสองไม่เห็นด้วยเนื่องจากที่ดินดังกล่าวไม่มีสภาพเป็นป่าไม้ถาวร และก่อนมีการออกโฉนดที่ดินดังกล่าวได้มีการขออนุญาตขึ้นทะเบียนสวนป่าต่อป่าไม้จังหวัดลำพูน โดยมีเจ้าหน้าที่ออกไปตรวจสภาพพื้นที่ดังกล่าวและเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดลำพูนได้ทำการเดินสำรวจและรังวัดทำการชี้แนวเขตโดยมีเจ้าหน้าที่ของรัฐหลายส่วนร่วมทำการตรวจสอบ ซึ่งการจะออกโฉนดที่ดินต้องทำการตรวจสอบเสียก่อนว่าท้องที่ใดต้องห้ามมิให้ออกโฉนดที่ดิน ดังนั้น ย่อมแสดงให้เห็นได้ว่าที่ดินแปลงดังกล่าวของผู้ฟ้องคดีทั้งสองไม่ได้อยู่ในเขตป่าไม้ถาวรแต่อย่างใด นอกจากนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเห็นว่า การที่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดลำพูน สาขาบ้านโฮ่ง ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญเป็นพิเศษในการตรวจสอบรังวัดออกโฉนดที่ดิน ได้ออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๒๙๐๕ ให้แก่บริษัทสุวิทย์และเพื่อนฯ ในเขตป่าไม้ถาวร เป็นการกระทำโดยประมาท ทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองซึ่งซื้อที่ดินดังกล่าวมาโดยสุจริตได้รับความเสียหายโดยตรงจากการถูกเพิกถอนโฉนดที่ดินดังกล่าว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดจึงต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๒๙๐๕ และขอให้บังคับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ชดใช้ค่าเสียหายให้ผู้ฟ้องคดี ๔๐๒,๐๕๐ บาท
ระหว่างผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามจัดทำคำให้การ ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้แม้เหตุแห่งการฟ้องคดีสืบเนื่องมาจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง แต่การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวหรือให้ชดใช้ค่าเสียหายได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาในปัญหาว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีทั้งสองตามที่กล่าวอ้างหรืออยู่ในเขตป่าไม้ถาวรเป็นสำคัญ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินระหว่างคู่กรณี อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองเชียงใหม่พิจารณาแล้วเห็นว่า หากพิจารณาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๑๘ และมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) จะเห็นได้ว่า เกณฑ์การพิจารณาในเรื่องเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลปกครองและศาลยุติธรรมจะต้องพิจารณาเขตอำนาจของศาลปกครองเป็นสำคัญ หากคดีพิพาทใดอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองแล้ว ศาลยุติธรรมย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้น ตามนัยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติดังกล่าว และโดยที่การสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดำเนินการโดยผิดพลาดคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ของอธิบดีกรมที่ดินหรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมที่ดินมอบหมาย ตามมาตรา ๖๑ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน อันเป็นการใช้อำนาจทางปกครองที่มีผลกระทบต่อสิทธิและหน้าที่ของบุคคล คำสั่งดังกล่าวจึงเป็นคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙
ศาลปกครองเชียงใหม่พิจารณาคำฟ้องและคำขอในคดีนี้ ผู้ฟ้องคดีทั้งสองฟ้องรวม ๒ ข้อหา ดังนี้
ข้อหาที่หนึ่ง เมื่อผู้ฟ้องคดีทั้งสองกล่าวอ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๒๙๐๕ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในการออกคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และศาลปกครองมีอำนาจออกคำบังคับตามคำขอของผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ข้อพิพาทในคดีข้อหานี้จึงอยู่ในอำนาจของศาลปกครอง
ข้อหาที่สอง เมื่อผู้ฟ้องคดีทั้งสองโต้แย้งว่าเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดลำพูน สาขาบ้านโฮ่ง ดำเนินการออกโฉนดที่ดินที่พิพาทโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นเหตุให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินดังกล่าว ทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองซึ่งเป็นผู้ซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนได้รับความเสียหาย ข้อพิพาทในคดีข้อหานี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และศาลปกครองมีอำนาจออกคำบังคับตามคำขอของผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ข้อพิพาทในคดีข้อหานี้จึงอยู่ในอำนาจของศาลปกครองเช่นเดียวกัน
ส่วนประเด็นปัญหาที่ต้องพิจารณาทั้งสองข้อหาตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามกล่าวอ้างในคำร้องขอให้มีการวินิจฉัยอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลว่า ที่ดินที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๒๙๐๕ หรือเป็นที่ดินที่อยู่ในเขตป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งต้องห้ามมิให้ออกโฉนดที่ดินหรือไม่ นั้น เห็นว่าข้ออ้างดังกล่าวเป็นเพียงประเด็นหนึ่งในเนื้อหาของคดีที่จะนำมาประกอบการพิจารณาว่าหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในการออกคำสั่งทางปกครอง และกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือไม่เท่านั้น แม้การพิจารณาในเรื่องสิทธิในทรัพย์สินจะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือประมวลกฎหมายที่ดินซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไปก็ตาม แต่การนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาลักษณะคดีว่าอยู่ในอำนาจของศาลใด อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดห้ามศาลปกครองนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีนี้ทั้งสองข้อหา หรือมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกำหนดให้เป็นอำนาจพิจารณาของศาลหนึ่งศาลใดที่จะนำบทบัญญัติในกฎหมายดังกล่าวมาวินิจฉัยข้อพิพาทแห่งคดีไว้โดยเฉพาะ ศาลปกครองจึงนำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และประมวลกฎหมายที่ดินมาวินิจฉัยข้อพิพาทแห่งคดีทั้งสองข้อหาได้ นอกจากนี้ความในมาตรา ๗๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ยังได้บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินมีผลผูกพันบุคคลภายนอก คู่กรณีที่เกี่ยวข้องอาจอ้างกับบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกจะมีสิทธิดีกว่า อันเป็นบทบัญญัติที่ยืนยันให้เห็นว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อีกทั้ง การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามเป็นหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงมิใช่ผู้มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท เพียงแต่มีอำนาจหน้าที่ในการออกหนังสือแสดงสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ และดำเนินการตามประมวลกฎหมายที่ดินเท่านั้น ข้อพิพาทในคดีนี้จึงมิใช่ข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินระหว่างคู่กรณีแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองแล้ว ศาลยุติธรรมจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ตามนัยมาตรา ๒๑๘ และมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลจังหวัดลำพูนพิจารณาแล้วเห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้สืบเนื่องมาจากอธิบดีกรมที่ดิน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๒๙๐๕ ของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง เนื่องจากออกในเขตป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๐๘ แม้คำสั่งดังกล่าวเป็นการสั่งโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๖๑ แห่งประมวลกฎหมายที่ดินอันเป็นการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ตามที่ประมวลกฎหมายที่ดินกำหนดไว้เป็นคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ การที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองอ้างว่าเป็นคำสั่งโดยไม่ชอบและขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวซึ่งเป็นคดีที่มีข้อพิพาทตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ก็ตาม แต่การที่ศาลจะวินิจฉัยว่าคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่และให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวตามคำขอของผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้หรือไม่นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าโฉนดที่ดินพิพาทดังกล่าวอยู่ในเขตป่าไม้ถาวรหรือไม่ เนื่องจากผู้ฟ้องคดีทั้งสองกล่าวอ้างว่าโฉนดที่ดินออกโดยถูกต้อง ไม่มีสภาพเป็นป่าไม้ถาวรแต่อย่างใด อันเป็นประเด็นสำคัญที่ผู้ฟ้องและผู้ถูกฟ้องโต้แย้งกันอยู่ คดีจึงมีประเด็นต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ซึ่งต้องพิจารณาเสียตั้งแต่ขณะยื่นฟ้องอันเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ส่วนคำขอของผู้ฟ้องคดีทั้งสองที่ขอให้กรมที่ดินผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ชดใช้ค่าเสียหายก็เนื่องมาจากกล่าวอ้างว่าเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดลำพูน สาขาบ้านโฮ่ง ได้กระทำการโดยประมาทในการออกโฉนดที่ดินพิพาท เป็นเหตุให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินและทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองซึ่งซื้อที่ดินดังกล่าวมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนได้รับความเสียหายนั้น เห็นว่า การที่จะพิจารณาว่าการกระทำของเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดลำพูน สาขาบ้านโฮ่ง เป็นการละเมิดหรือไม่และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ต้องชดใช้ค่าเสียหายหรือไม่เพียงใดนั้น เป็นประเด็นคำขอที่เกี่ยวเนื่องกับคำขอในประเด็นแรก ซึ่งศาลต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าโฉนดที่ดินพิพาทอยู่ในเขตป่าไม้ถาวรหรือไม่ อันเป็นประเด็นหลักในคดี จึงจะพิจารณาได้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำละเมิดหรือไม่ จึงเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินอันเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมเช่นกัน ชอบที่จะได้ดำเนินกระบวนพิจารณาที่ศาลเดียวกัน คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นเอกชนยื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง อ้างว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๒๙๐๕ ตำบลศรีเตี้ย อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน โดยซื้อมาจากบริษัทสุวิทย์และเพื่อนการเกษตรแอนด์คันทรีคลับ จำกัด แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๒๙๐๕ ของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง โดยให้เหตุผลว่าที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสองอยู่ในเขตป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๐๘ ผู้ฟ้องคดีทั้งสองอุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งดังกล่าว แต่ผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ การกระทำดังกล่าวทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองซึ่งซื้อที่ดินดังกล่าวมาโดยสุจริตได้รับความเสียหาย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดจึงต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๒๙๐๕ และขอให้บังคับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสอง เห็นว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสองฟ้องคดีนี้โดยมีความมุ่งหมายเพื่อให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งรับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง การที่ศาลจะพิพากษาตามที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองมีคำขอได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีทั้งสองตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่ดินในเขตป่าไม้ถาวรเป็นสำคัญแล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายรัชวุฒิ หรือบุญชัย รุ่งชัยธเนศ ที่ ๑ นางสมใจ ชลวัฒนสกุล ที่ ๒ ผู้ฟ้องคดี อธิบดีกรมที่ดิน ที่ ๑ สำนักงานที่ดินจังหวัดลำพูน สาขาบ้านโฮ่ง ที่ ๒ กรมที่ดิน ที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) สบโชค สุขารมณ์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายสบโชค สุขารมณ์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท ศิลปชัย สรภักดี (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศิลปชัย สรภักดี) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ