คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11149/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่เนื้อที่ดินของโจทก์ถูกน้ำเซาะกลายสภาพเป็นคลอง แต่โจทก์ยังแสดงการหวงกันอยู่ โดยการปักเสาแสดงอาณาเขตไว้ไม่ประสงค์ให้เป็นที่สาธารณประโยชน์ ที่ดินใต้คลองในส่วนนั้นก็ยังถือเป็นที่ดินของโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิหวงกันไม่ให้ผู้ใดมาตักดินหรือทำลายแนวเขตที่ดินของโจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามเพิกถอนการคัดค้านแนวเขตที่ดินของโจทก์ตามหนังสือ ที่ คค.0311.4 นบ/102 ลงวันที่ 13 พฤษภาคม 2547 เรื่อง คัดค้านการรังวัด หากจำเลยทั้งสามไม่ยอมเพิกถอนการคัดค้านดังกล่าว ให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสาม และให้จำเลยทั้งสามรับรองแนวเขตที่ดิน โฉนดเลขที่ 14936 ตำบลท่าทราย อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ตามรูปแผนที่รังวัดที่ทำไว้เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2547 หากไม่ยอมรับรองก็ให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งว่าแนวเขตที่ดินของโจทก์มีอยู่ตามรูปแผนที่ดังกล่าว
จำเลยทั้งสามให้การทำนองเดียวกันขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 เพิกถอนการคัดค้านแนวเขตที่ดินของโจทก์ตามหนังสือ ที่ คค.03114 นบ/102 ลงวันที่ 13 พฤษภาคม 2547 หากไม่ยอมเพิกถอนให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก กับให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ด้วยค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 14936 ตำบลท่าทราย อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ตามสำเนาโฉนดที่ดิน โดยมีแนวเขตที่ดินด้านทิศเหนือติดคลองท่าทราย แนวเขตที่ดินข้างที่ติดกับที่ดินของบุคคลอื่นเป็นแนวตรง เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2547 นายวีระ ได้ขุดลอกคลองท่าทรายด้านที่ติดกับที่ดินของโจทก์ตามที่ได้รับการว่าจ้างจากเทศบาลนครนนทบุรี วันที่ 9 มีนาคม 2547 โจทก์ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเมืองนนทบุรี กล่าวหานายวีระว่าขุดลอกคลองในบริเวณที่ดินของโจทก์ ทำให้เสาไม้และเสาปูนกันแนวที่ดินได้รับความเสียหาย ตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี และในวันเดียวกันโจทก์ได้ยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนนทบุรี ขอรังวัดสอบเขตที่ดินของโจทก์โดยเจ้าพนักงานที่ดินนัดออกรังวัดในวันที่ 26 มีนาคม 2547 ตามคำขอสอบเขต เมื่อถึงวันนัด จำเลยที่ 1 และที่ 2 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 3 มาชี้แนวเขตเจ้าหน้าที่รังวัดปักหลักเขตที่ดินของโจทก์ตามที่โจทก์นำชี้ แต่จำเลยที่ 3 ไม่ยอมลงชื่อรับรองแนวเขตให้ คัดค้านว่าบริเวณที่โจทก์ชี้นั้น เป็นบริเวณคลองสาธารณะ ไม่ใช่ที่ดินของโจทก์ โจทก์จึงขอให้ช่างรังวัดทำแผนที่พิพาท ตามบันทึกถ้อยคำ ซึ่งต่อมาช่างรังวัดดำเนินการรังวัดและทำแผนที่พิพาทตรงตามรูปที่ดินเดิมให้ ตามบันทึกข้อความ จากนั้นเจ้าพนักงานที่ดินได้มีหนังสือแจ้งการปักหลักเขตที่ดินใหม่ไปให้จำเลยที่ 1 ทราบ หัวหน้าสำนักงานการขนส่งทางน้ำสาขานนทบุรี มีหนังสือคัดค้านการรังวัดว่าหลักเขตที่ปักใหม่ล้ำออกไปจากแนวชายตลิ่งของคลองท่าทราย เป็นการรุกล้ำแนวเขตสาธารณประโยชน์ ขอคัดค้านการรังวัด หลังจากนั้น มีการนัดหมายรังวัดที่ดินของโจทก์อีก แต่ตกลงแนวเขตที่ดินไม่ได้ จึงเลื่อนการรังวัดออกไป
พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 มีสิทธิคัดค้านการรังวัดที่ดินโจทก์ของเจ้าพนักงานที่ดินหรือไม่ การที่เนื้อที่ดินของโจทก์ถูกน้ำเซาะกลายสภาพเป็นคลอง แต่โจทก์ยังแสดงการหวงกันอยู่ โดยการปักเสาแสดงอาณาเขตไว้ ที่ดินใต้คลองในส่วนนั้นก็ยังถือเป็นที่ดินของโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิหวงกันไม่ให้ผู้ใดมาตักดินหรือทำลายแนวเขตที่ดินของโจทก์ได้ การที่โจทก์นำชี้ให้เจ้าพนักงานที่ดินรังวัดที่ดินตามเนื้อที่ในโฉนดที่ดินที่โจทก์ยังยึดถือครอบครองอยู่ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิคัดค้านการรังวัดที่ดินดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share