คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5994/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายโดยการเผยแพร่ต่อสาธารณชนเพื่อหากำไรซึ่งงานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายมาก่อนแล้ว เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 (2) แต่โจทก์ไม่มีคำขอให้ลงโทษจำเลยตามมาตราดังกล่าว ทั้งคดีก่อน โจทก์ฟ้องจำเลยในข้อหาเดียวกัน มีวันเวลากระทำความผิดและสถานที่เกิดเหตุเช่นเดียวกับคดีนี้ เพียงแต่ผู้เสียหายต่างรายกันเท่านั้น การที่จำเลยเปิดเพลงคาราโอเกะที่ทำขึ้น โดยละเมิดลิขสิทธิ์จากเครื่องคอมพิวเตอร์ที่บันทึกงานอันละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายต่างรายหลายเพลงต่อเนื่องในวันเดียวกัน จึงเป็นเจตนาเดียวกัน แต่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในคดีก่อนแล้ว คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีดังกล่าว สิทธิในการนำคดีมาฟ้องในคดีนี้ซึ่งเป็นกรรมเดียวกับคดีดังกล่าวจึงระงับไปตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 6, 8, 15, 27, 28, 69, 76 และนับโทษจำคุกของจำเลยคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาคดีอาญาหมายเลขดำที่ ศปก.40/2556 ของศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ หรือคดีอาญาหมายเลขดำที่อ.5095/2556 ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง และจ่ายเงินค่าปรับฐานละเมิดลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่งแก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.5131/2556 ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางหรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องในข้อ 2 ว่า “…โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าคำร้อง ทำนอง เสียงเพลง และภาพคาราโอเกะในเครื่องคอมพิวเตอร์ดังกล่าวจำเลยทำขึ้นและเผยแพร่ต่อสาธารณชนโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย…” ทำให้เข้าใจได้ว่าจำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายโดยการเผยแพร่ต่อสาธารณชนเพื่อหากำไรซึ่งงานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายมาก่อนแล้ว เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 (2) แต่โจทก์ไม่มีคำขอให้ลงโทษจำเลยตามมาตราดังกล่าว ทั้งคดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยในข้อหาเดียวกัน มีวันเวลากระทำความผิดและสถานที่เกิดเหตุเช่นเดียวกับคดีนี้ เพียงแต่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของงานดนตรีกรรมต่างรายกันเท่านั้น การที่จำเลยเปิดเพลงคาราโอเกะที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์จากเครื่องคอมพิวเตอร์ที่บันทึกงานอันละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายต่างรายหลายเพลงต่อเนื่องในวันเดียวกัน จึงฟังได้ว่าเป็นเจตนาเดียวกันแม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ แต่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางก็มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.5131/2556 แล้ว คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีดังกล่าว สิทธิในการนำคดีมาฟ้องในคดีนี้ซึ่งเป็นความผิดกรรมเดียวกับคดีดังกล่าวจึงระงับไปตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share