แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์งานแพร่เสียงแพร่ภาพตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 29 นั้น ผู้กระทำต้องเป็นผู้นำงานแพร่เสียงแพร่ภาพอันมีลิขสิทธิ์ที่รับสัญญาณมาส่งเผยแพร่ต่อสาธารณชนไปในทันทีโดยไม่มีการบันทึกรายการไว้ก่อนไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือบันทึกงานแพร่เสียงแพร่ภาพนั้นไว้แล้วนำไปแพร่เสียงแพร่ภาพซ้ำในภายหลัง หรือเมื่อรับสัญญาณงานแพร่เสียงแพร่ภาพดังกล่าวแล้วได้แพร่เสียงแพร่ภาพนั้นให้ประชาชนรับฟังหรือรับชมโดยตรง ณ สถานที่รับสัญญาณนั้นในทันที โดยเรียกเก็บเงินหรือผลประโยชน์อย่างอื่นในทางการค้า เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ผู้ที่รับสัญญาณแพร่เสียงแพร่ภาพรายการ Living Asia Channel อันเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสองจากการถ่ายทอดสัญญาณผ่านดาวเทียมมาแล้วได้ส่งผ่านรายการของโจทก์ทั้งสองดังกล่าวผ่านสายเคเบิลไปยังสมาชิกให้ได้รับชมคือ บริษัท ร. และบริษัท ด. มิใช่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 เป็นผู้กระทำการดังกล่าวเพราะบริษัททั้งสองเป็นผู้นำงานแพร่เสียงแพร่ภาพรายการ Living Asia Channel ของโจทก์ทั้งสองไปเผยแพร่ต่อสมาชิกผู้ชมรายการในระบบเคเบิลทีวีโดยมีการเรียกเก็บค่าเช่าเป็นการตอบแทน ตามพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 เป็นผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ หรือใช้บริษัททั้งสองดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการละเมิดลิขสิทธิ์งานแพร่เสียงแพร่ภาพของโจทก์ทั้งสองอันจะเป็นความผิดตามมาตรา 29 แห่ง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ดังที่โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์เพราะมาตราดังกล่าวมุ่งประสงค์เอาผิดแก่ผู้กระทำการตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 29 โดยตรงเท่านั้น
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งเก้า ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27, 28, 29, 31, 69 วรรคสอง, 70 วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีมีมูลเฉพาะจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ส่วนจำเลยที่ 7 ถึงที่ 9 ไม่มีมูล ให้ประทับฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ยกฟ้องจำเลยที่ 7 ถึงที่ 9
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ให้การปฏิเสธ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์ทั้งสองเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายประเทศสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นประเทศที่เป็นภาคีอนุสัญญากรุงเบิร์นว่าด้วยการคุ้มครองงานวรรณกรรมและศิลปกรรม โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ช่องรายการ Living Asia Channel ซึ่งแพร่เสียงแพร่ภาพผ่านดาวเทียม โดยปัจจุบันยังไม่มีการเข้ารหัสสัญญาณหรือ Free To Air จำเลยที่ 1 และที่ 4 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด โดยจำเลยที่ 1 มีจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 6 เป็นกรรมการ ส่วนจำเลยที่ 4 มีจำเลยที่ 2 ที่ 5 และที่ 6 เป็นกรรมการ ในการประชุมคณะกรรมการสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทยครั้งที่ 5/2547 เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2547 จำเลยที่ 2 ในฐานะตัวแทนบริษัทจำเลยที่ 4 ได้เสนอเอกสารทดลองรับข้อมูลลิขสิทธิ์รายการเคเบิลทีวีผ่านระบบ Satellite ต่อที่ประชุม ตามสำเนาเอกสารทดลองรับข้อมูลลิขสิทธิ์รายการเคเบิลทีวีผ่านระบบ Satellite ต่อมาวันที่ 4 ตุลาคม 2547 จำเลยที่ 1 อนุญาตให้บริษัทราชธานีเคเบิ้ลทีวี จำกัด ตั้งอยู่จังหวัดอุบลราชธานี นำช่องรายการ 5 ช่องรายการ ซึ่งรวมทั้ง Living Asia Channel อันเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสองไปเผยแพร่ต่อสมาชิกผู้ชมรายการในระบบเคเบิลทีวีได้ และต่อมาวันที่ 15 ตุลาคม 2547 ได้มีการทำสัญญากันขึ้นอีกโดยระบุว่าเป็นการนำเอางานลิขสิทธิ์มาเผยแพร่เฉพาะสมาชิกผู้รับชมในบ้านพักอาศัยในลักษณะ Real Time หรือเป็นเวลาเดียวกับที่มีการป้อนรายการส่งมาเท่านั้น ตามสำเนาหนังสืออนุญาตให้ใช้งานลิขสิทธิ์และสำเนาสัญญารับบริการงานลิขสิทธิ์รายการเคเบิลทีวี ของศาลจังหวัดอุบลราชธานี และเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2547 จำเลยที่ 1 ได้อนุญาตให้บริษัทดี ดี ที วี จำกัด ตั้งอยู่จังหวัดกาฬสินธุ์ นำช่องรายการ 5 ช่องรายการซึ่งรวมทั้ง Living Asia Channel อันเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสองไปเผยแพร่ต่อสมาชิกผู้ชมรายการในระบบเคเบิลทีวีได้ ตามสำเนาหนังสืออนุญาตให้ใช้งานลิขสิทธิ์ ของศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ โจทก์ทั้งสองจึงมอบอำนาจให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด เทเลคลาสเน็ตเวิร์ค ผู้ซึ่งได้รับอนุญาตจากโจทก์ทั้งสองให้เช่าใบอนุญาตช่องสัญญาณรายการ Living Asia Channel โดยผ่านบริษัทแปซิฟิก เซนจูรี่ แมทริกซ์ (ฮ่องกง) จำกัด เพื่อแพร่เสียงแพร่ภาพทางโทรทัศน์ เคเบิลทีวี ดาวเทียม และภาพยนตร์ รายการ Living Asia Channel หรือนางวรกานต์ หุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด เทเลคลาสเน็ตเวิร์ค ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ในข้อหาร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27, 28, 29 และ 31 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า เมื่อพิจารณาจากลักษณะหรือวิธีการเผยแพร่รายการ Living Asia Channel ของโจทก์ทั้งสองแล้ว เห็นได้ว่าเป็นการใช้วิธีส่งสัญญาณรายการไปยังดาวเทียมหรือถ่ายทอดผ่านดาวเทียม และมีผู้รับสัญญาณที่ถ่ายทอดผ่านดาวเทียมดังกล่าวเพื่อรับชมรายการ หรือเพื่อนำสัญญาณที่รับมาถ่ายทอดไปยังสาธารณชนอีกต่อหนึ่ง งานอันมีลิขสิทธิ์ที่พิพาทกันจึงได้แก่งานแพร่เสียงแพร่ภาพ และไม่พิจารณาข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 และมาตรา 28 โจทก์ทั้งสองมิได้อุทธรณ์โต้แย้งข้อวินิจฉัยดังกล่าวจึงเป็นอันยุติ ยังคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองเพียงว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 29 และมาตรา 31 ตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์งานแพร่เสียงแพร่ภาพตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 29 นั้น ผู้กระทำต้องเป็นผู้นำงานแพร่เสียงแพร่ภาพอันมีลิขสิทธิ์ที่รับสัญญาณมาส่งเผยแพร่ต่อสาธารณชนไปในทันทีโดยไม่มีการบันทึกรายการไว้ก่อนไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือบันทึกงานแพร่เสียงแพร่ภาพนั้นไว้แล้วนำไปแพร่เสียงแพร่ภาพซ้ำในภายหลัง หรือเมื่อรับสัญญาณงานแพร่เสียงแพร่ภาพดังกล่าวแล้วได้แพร่เสียงแพร่ภาพนั้นให้ประชาชนรับฟังหรือรับชมโดยตรง ณ สถานที่รับสัญญาณนั้นในทันที โดยเรียกเก็บเงินหรือผลประโยชน์อย่างอื่นในทางการค้า เมื่อข้อเท็จจริงได้ความจากพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ตรงกันว่า ผู้ที่รับสัญญาณแพร่เสียงแพร่ภาพรายการ Living Asia Channel อันเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสองจากการถ่ายทอดสัญญาณผ่านดาวเทียมมาแล้วได้ส่งผ่านรายการของโจทก์ทั้งสองดังกล่าวผ่านสายเคเบิลไปยังสมาชิกให้ได้รับชมคือ บริษัทราชธานีเคเบิ้ลทีวี จำกัด และบริษัทดี ดี ที วี จำกัด มิใช่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 เป็นผู้กระทำการดังกล่าวเพราะบริษัททั้งสองเป็นผู้นำงานแพร่เสียงแพร่ภาพรายการ Living Asia Channel ของโจทก์ทั้งสองไปเผยแพร่ต่อสมาชิกผู้ชมรายการในระบบเคเบิลทีวีโดยมีการเรียกเก็บค่าเช่าเป็นการตอบแทน ตามพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 เป็นผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ หรือใช้บริษัททั้งสองดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการละเมิดลิขสิทธิ์งานแพร่เสียงแพร่ภาพของโจทก์ทั้งสองอันจะเป็นความผิดตามมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ดังที่โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์เพราะมาตราดังกล่าวมุ่งประสงค์เอาผิดแก่ผู้กระทำการตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 29 โดยตรงเท่านั้นและสำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 นั้น ก็เป็นเรื่องที่ผู้กระทำรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานใดได้กระทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นและได้ (1) ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย ให้เช่า เสนอให้เช่า ให้เช่าซื้อ หรือเสนอให้เช่าซื้องานนั้น (2) เผยแพร่งานนั้นต่อสาธารณชน (3) แจกจ่ายงานนั้นในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ (4) นำหรือสั่งงานนั้นเข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อหากำไร ซึ่งมีความหมายชัดเจนว่าต้องมีงานอันละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นอยู่ก่อน และผู้กระทำได้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังกล่าวต่องานอันละเมิดลิขสิทธิ์นั้น แต่ก็ไม่ปรากฏจากพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองว่า มีงานใดที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสองอยู่ก่อน และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ได้กระทำด้วยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งดังที่บัญญัติไว้ต่องานดังกล่าว จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 จึงมิได้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 อีกเช่นกัน ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน