คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2507/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การกระทำของจำเลยจะเป็นการกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานหรือตัวแทนและกระทำละเมิดต่อโจทก์ แต่ไม่ปรากฏว่าตามสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยได้กำหนดค่าเสียหายกรณีจำเลยกระทำการเช่นนี้ไว้เป็นจำนวนที่แน่นอน และการกระทำละเมิดของจำเลยต่อโจทก์ โจทก์ก็มิได้ฟ้องจำเลยเรียกค่าเสียหายในคดีแพ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 438 วรรคหนึ่ง แต่อย่างใด แม้โจทก์จะดำเนินการฟ้องเรียกเงินตามสัญญาซื้อขายจากห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. และหุ้นส่วนผู้จัดการ ลูกค้าของโจทก์ที่ซื้อสินค้าไปเกินวงเงินสินเชื่อตามที่จำเลยได้อนุมัติและศาลมีคำพิพากษาตามยอมให้บุคคลดังกล่าวชำระเงินแก่โจทก์แล้วก็ตาม แต่จำเลยก็มิได้ถูกฟ้องในคดีแพ่งดังกล่าวด้วย จะนำจำนวนหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวมาเป็นฐานคำนวณให้จำเลยรับผิดหาได้ไม่ เพราะกรณียังไม่แน่นอนว่าโจทก์จะบังคับคดีแก่ลูกค้าของโจทก์ภายใน 10 ปี ได้เงินชำระหนี้เพียงใดหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องในอนาคต หนี้ตามฟ้องจึงเป็นหนี้ค่าเสียหายจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานหรือตัวแทนและมูลละเมิด อันเป็นหนี้ที่ยังไม่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 9 (3) โจทก์จึงไม่มีสิทธินำหนี้ดังกล่าวมาฟ้องให้จำเลยล้มละลายได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยไม่ยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลล้มละลายกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าจำพวกเหล็กหรือโลหะทุกชนิด จำเลยเคยเป็นลูกจ้างของโจทก์ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ ขณะที่จำเลยเป็นลูกจ้างของโจทก์ระหว่างวันที่ 8 กันยายน 2549 ถึงวันที่ 10 สิงหาคม 2550 จำเลยได้อนุมัติเพิ่มวงเงินสินเชื่อให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด สยามรุ่งเรืองพาณิชย์ ลูกค้าของโจทก์ในการซื้อสินค้าจากวงเงินที่กรรมการผู้มีอำนาจโจทก์อนุมัติไว้ 1,000,000 บาท เพิ่มขึ้นตามลำดับรวม 7 ครั้ง ครั้งสุดท้ายเป็นเงิน 8,700,000 บาท ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ต่อมาวันที่ 12 ตุลาคม 2550 โจทก์มีคำสั่งให้จำเลยออกจากงานเนื่องจากกระทำฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายโดยมีเจตนาทุจริต และโจทก์ได้แจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยต่อพนักงานสอบสวนในข้อหาปลอมและใช้เอกสารปลอม แต่ในที่สุดพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง ขณะเดียวกันโจทก์ได้ฟ้องห้างหุ้นส่วนจำกัด สยามรุ่งเรืองพาณิชย์ ลูกค้าของโจทก์เป็นคดีแพ่งฐานผิดสัญญาซื้อขาย ศาลพิพากษาตามยอมให้ห้างดังกล่าวกับพวกชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเงิน 8,061,234.53 บาท
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า หนี้ตามฟ้องเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนและโจทก์มีสิทธินำหนี้ดังกล่าวมาฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายได้ เห็นว่า การกระทำของจำเลยตามคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวเป็นการกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานหรือตัวแทนและกระทำละเมิดต่อโจทก์ ซึ่งตามคำฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าตามสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยได้กำหนดค่าเสียหายกรณีจำเลยกระทำการเช่นนี้ไว้เป็นจำนวนที่แน่นอน ส่วนกรณีการกระทำละเมิดของจำเลยต่อโจทก์ดังกล่าว ค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใด ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 วรรคหนึ่ง ซึ่งไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ฟ้องจำเลยเรียกค่าเสียหายในคดีแพ่งแต่อย่างใด แม้โจทก์จะดำเนินการฟ้องเรียกเงินตามสัญญาซื้อขายจากห้างหุ้นส่วนจำกัด สยามรุ่งเรืองพาณิชย์ และหุ้นส่วนผู้จัดการ ลูกค้าของโจทก์ที่ซื้อสินค้าไปเกินวงเงินสินเชื่อตามที่จำเลยได้อนุมัติและศาลมีคำพิพากษาตามยอมให้บุคคลดังกล่าวชำระเงินแก่โจทก์แล้วก็ตาม แต่จำเลยก็มิได้ถูกฟ้องในคดีแพ่งดังกล่าวด้วย จะนำจำนวนหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวมาเป็นฐานคำนวณให้จำเลยรับผิดหาได้ไม่ เพราะกรณียังไม่แน่นอนว่าโจทก์จะบังคับคดีแก่ลูกค้าของโจทก์ภายใน 10 ปี ได้เงินชำระหนี้เพียงใดหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องในอนาคต หนี้ตามฟ้องจึงเป็นหนี้ค่าเสียหายจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานหรือตัวแทนและมูลละเมิด อันเป็นหนี้ที่ยังไม่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 9 (3) โจทก์จึงไม่มีสิทธินำหนี้ดังกล่าวมาฟ้องให้จำเลยล้มละลายได้ ที่ศาลล้มละลายกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share