คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4392/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทำบันทึกข้อตกลงลดหนี้ค่าเช่ารถประจำเดือนธันวาคม 2546 ให้แก่บริษัท บ. 35 ล้านบาท แล้วนำเป็นรายจ่ายหนี้สูญในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลโดยไม่ปฏิบัติตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 ตรี (9) เจ้าพนักงานประเมินจึงให้โจทก์ปฏิบัติให้ถูกต้อง โดยนำยอดหนี้จำนวนดังกล่าวบวกกลับเป็นยอดลูกหนี้ค้างชำระดังเดิม ซึ่งเป็นเรื่องภาษีเงินได้นิติบุคคลเท่านั้น การกระทำของโจทก์ดังกล่าวไม่ทำให้บันทึกข้อตกลงลดหนี้และรับชำระหนี้ ซึ่งมีผลเป็นการปลดหนี้บางส่วนให้แก่บริษัท บ. ยกเลิกหรือสิ้นสุดลง สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในหนี้จำนวนดังกล่าวจึงระงับลงเสมือนโจทก์ได้รับชำระหนี้ดังกล่าวครบถ้วนแล้วอันเนื่องมาจากการทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าว โดยถือวันที่ทำบันทึกลดหนี้คือวันที่ 30 ธันวาคม 2546 เป็นวันที่ได้รับชำระหนี้ค่าบริการ ซึ่งเป็นวันที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตามมาตรา 78/1 (1) นอกจากนี้การลดหนี้ของโจทก์มิใช่ส่วนลดหรือค่าลดหย่อนตามมาตรา 79 วรรคสาม (1) ที่ลดให้ในขณะขายสินค้าหรือให้บริการ แต่เป็นการลดหนี้ในกรณีที่ลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ โจทก์จึงมีหน้าที่เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากบริษัท บ. ในวันที่มีการลดหนี้ตามมาตรา 82/4

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม จำนวน 2,289,719.63 บาท พร้อมทั้งงดหรือลดเบี้ยปรับ 1 เท่า และเงินเพิ่มแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยมิได้โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า เมื่อปี 2540 โจทก์เป็นเจ้าหนี้การค้าให้บริษัทบางกอก ไมโครบัส จำกัด เช่ารถแบบลิสซิ่ง จำนวน 310,298,138.10 บาท ต่อมาวันที่ 30 ธันวาคม 2546 โจทก์ทำบันทึกข้อตกลงลดหนี้ค่าเช่ารถให้แก่บริษัทบางกอก ไมโครบัส จำกัด เป็นเงิน 35,000,000 บาท ตามบันทึกข้อตกลงลดหนี้และรับชำระหนี้ จากนั้นโจทก์บันทึกบัญชีรายการส่วนลดจ่าย 35,000,000 บาท โดยตัดออกจากบัญชีลูกหนี้ เจ้าพนักงานประเมินพิจารณาเห็นว่า การที่โจทก์ลดหนี้ถือว่าโจทก์ได้รับชำระค่าบริการแล้ว ประกอบกับการลดหนี้เป็นการตกลงระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้ไม่เข้าเงื่อนไขที่จะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 410) พ.ศ. 2545 โจทก์ต้องรับผิดเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 78/1 (1) แห่งประมวลรัษฎากร จึงปรับปรุงยอดขายแล้วแจ้งให้โจทก์มารับทราบผลการตรวจสอบ ต่อมาเจ้าพนักงานประเมินมีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มแก่โจทก์ให้รับผิดเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 78/1 (1) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นค่าภาษี 2,289,719.63 บาท พร้อมเบี้ยปรับ 1 เท่า และเงินเพิ่มคำนวณถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2548 จำนวน 652,570.09 บาท รวมทั้งสิ้น 5,232,009.35 บาท โจทก์อุทธรณ์การประเมิน คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกมีว่า โจทก์ต้องรับผิดภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับกรณีที่โจทก์ลดหนี้ให้แก่บริษัทบางกอก ไมโครบัส จำกัด จำนวน 35,000,000 บาท หรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์จะนำยอดหนี้จำนวนดังกล่าวบวกกลับเป็นยอดลูกหนี้ค้างชำระดังเดิม ทำให้โจทก์ไม่มีรายจ่ายหนี้สูญและได้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากรายจ่ายหนี้สูญต้องห้ามจำนวนดังกล่าว เนื่องจากโจทก์นำยอดหนี้ที่ลดให้จำนวนดังกล่าวเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลด้วยการจำหน่ายหนี้สูญออกจากบัญชีลูกหนี้รายบริษัทบางกอก ไมโครบัส จำกัด โดยไม่ปฏิบัติตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (9) ซึ่งบัญญัติว่า”การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ จะกระทำได้ต่อเมื่อเป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดโดยกฎกระทรวง” เจ้าพนักงานประเมินจึงให้โจทก์ปฏิบัติให้ถูกต้อง ซึ่งเป็นเรื่องภาษีเงินได้นิติบุคคลเท่านั้น การกระทำของโจทก์ดังกล่าวหาทำให้บันทึกข้อตกลงลดหนี้และรับชำระหนี้ ซึ่งมีผลเป็นการปลดหนี้บางส่วนให้แก่บริษัทบางกอก ไมโครบัส จำกัด ยกเลิกหรือสิ้นสุดลง สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในหนี้จำนวนดังกล่าวจึงระงับลงเสมือนโจทก์ได้รับชำระหนี้ดังกล่าวครบถ้วนแล้วอันเนื่องมาจากการทำบันทึกข้อตกลงลดหนี้และรับชำระหนี้ดังกล่าว โดยถือวันที่ลดหนี้คือ วันที่ 30 ธันวาคม 2546 เป็นวันที่ได้รับชำระหนี้ค่าบริการ นอกจากนี้การลดหนี้ของโจทก์มิใช่ส่วนลดหรือค่าลดหย่อนตามมาตรา 79 วรรคสาม (1) ซึ่งเป็นการลดราคาสินค้าหรือราคาค่าบริการให้ในขณะขายสินค้าหรือให้บริการจึงไม่รวมเป็นมูลค่าของฐานภาษีมูลค่าเพิ่มโดยนำส่วนลดหรือค่าลดหย่อนหักออกจากราคาสินค้าหรือราคาค่าบริการก่อนคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่กรณีของโจทก์เป็นการลดหนี้ในกรณีที่ลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้โจทก์จึงมีหน้าที่เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากบริษัทบางกอก ไมโครบัส จำกัด ในวันที่มีการลดหนี้ตามมาตรา 82/4 ที่บัญญัติให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการเมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น และนำรายรับดังกล่าวยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับเดือนภาษีธันวาคม 2546 ดังนั้น เมื่อโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับเดือนภาษีธันวาคม 2546 โดยไม่ได้นำค่าเช่ารถไมโครบัสแบบลิสซิ่ง 35,000,000 บาท รวมเป็นมูลค่าของฐานภาษี ทำให้โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ไม่ถูกต้อง เป็นเหตุให้จำนวนภาษีขายที่แสดงไว้ขาดไปและจำนวนภาษีที่ต้องเสียหรือนำส่งในเดือนภาษีคลาดเคลื่อนไป เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจประเมินเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตาม ประมวลรัษฎากร อุทธรณ์ของโจทก์ที่อ้างว่าไม่มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่จำเลยตามมาตรา 78/1 (1) แห่งประมวลรัษฎากร จึงฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้แก้ไขการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ. 73. 1) เลขที่ ภ.พ. 73. 1 – 01005300 – 25480809 – 005 – 00405 ลงวันที่ 9 สิงหาคม 2548 เฉพาะในส่วนของเบี้ยปรับ เป็นให้ลดเบี้ยปรับลงคงเรียกเก็บเพียงร้อยละ 50 ของเบี้ยปรับตามกฎหมาย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share