แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยซึ่งไม่ใช่ผู้แทนจำหน่ายสินค้าของโจทก์ร่วมเอาเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าชนิดนั้นของโจทก์ร่วมติดไว้ที่หน้าร้านจำเลย และพิมพ์เครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมลงให้ปรากฏในนามบัตรร้านจำเลยโดยไม่มีอำนาจจะกระทำได้ดังนี้ ถือได้ว่าจำเลยกระทำเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าหรือการค้าของผู้อื่น (คือ ของโจทก์ร่วม) จึงเป็นความผิดตามมาตรา 272 (1) ประมวลกฎหมายอาญา
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๒ ในฐานะผู้แทนจำเลยที่ ๑ และในฐานะส่วนตัวได้บังอาจนำเอารูป รอยประดิษฐ์ เพิ่มอักษรภาษาอังกฤษที่อ่านเป็นภาษาไทยว่า “บี.เอ็ม.ดับบลิว” ของบริษัทเมเยอร์ริสซ์ มอเตอร์เรน เวอร์ค เอ.จี.ผู้เสียหายซึ่งจดทะเบียนไว้ไปใช้ และทำให้ปรากฏในจดหมายเกี่ยวกับการค้า กับแจ้งความขายเครื่องอะไหล่รถจักรยานยนต์ เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องอะไหล่และจำเลยทั้งสองได้ดำเนินการค้าของบริษัทผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสองได้หลอกลวงขายและไขข่าวให้แพร่หลายซึ่งความเท็จว่าเป็นเครื่องอะไหล่ซึ่งมีคุณภาพอย่างเดียวกับของบริษัทผู้เสียหาย เพื่อให้เสียความเชื่อถือในสินค้าอุตสาหกรรมของบริษัทผู้เสียหาย เพื่อมุ่งประโยชน์การค้าของจำเลย จนเป็นเหตุให้นายกล้ำกาศ รังษีสุริยันต์ หลงเชื่อซื้อสินค้านั้นไป ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๑, ๒๗๒
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
บริษัทผู้เสียหายขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว ฟังว่า เครื่องอะไหล่ที่นายกล้ากาศซื้อจากจำเลยก็ดี ที่เจ้าพนักงานยึดมาก็ดี มิใช่เครื่องอะไหล่ที่ทำเทียมขึ้น ข้อหาความผิดตามมาตรา ๒๗๑ จึงตกไปส่วนความผิดตามมาตรา ๒๗๒ประมวลกฎหมายอาญา แม้การกระทำของจำเลยจะกระทบกระเทือนต่อสัญญาที่บริษัทโจทก์ร่วมได้ทำไว้กับบริษัทบางกอกโนเวลตี้ผู้แทนในประเทศไทยก็ตาม ก็มิได้เป็นความผิดตามบทกฎหมายที่อ้างถึงพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ร่วมอุทธรณ์ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดลงโทษได้ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับอุทธรณ์ข้อเท็จจริง คงรับอุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๒
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นฟังมาเห็นได้ชัดว่าการที่จำเลยทั้งสองเอารูป รอยประดิษฐ์ ในการประกอบการค้าเครื่องอะไหล่รถจักรยานยนต์ของบริษัทโจทก์ร่วมมาใช้นั้น ก็เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเครื่องอะไหล่รถจักรยานยนต์ที่ห้างจำเลยมีไว้จำหน่ายนั้นเป็นเครื่องอะไหล่รถจักรยานยนต์ของบริษัทโจทก์ร่วม พิพากษากลับ จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๒(๑) ปรับจำเลยคนละ ๒,๐๐๐ บาทบังคับค่าปรับตามมาตรา ๒๙, ๓๐
จำเลยทั้งสองฎีกาว่าไม่มีความผิด
ศาลฎีกาวินิจฉัยตามข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นฟังไว้ว่า บริษัทโจทก์ร่วมเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าเป็นภาษาอังกฤษซึ่งอ่านเป็นภาษาไทยว่า”บี.เอ็ม.ดับบลิว” อยู่ในวงกลมสีน้ำเงิน โจทก์ร่วมจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไว้ในประเทศเยอรมันนี และประเทศไทยด้วย โจทก์ร่วมได้ตกลงให้บริษัทบางกอกโนเวลตี้ จำกัด เป็นผู้แทนจำหน่ายรถจักรยานยนต์(บี.เอ็ม.ดับบลิว) กับเครื่องอะไหล่ที่ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมแต่ผู้เดียวในประเทศไทยผู้อื่นจะจำหน่ายสินค้าดังกล่าวไม่ได้ ส่วนจำเลยที่ ๑ทำการค้าใช้ชื่อการค้าว่า “ห้างหุ้นส่วนกุลธรเอ็นจิเนียริ่ง” จำเลยทั้งสองได้สั่งเครื่องอะไหล่รถจักรยานยนต์ของบริษัทโจทก์ร่วมจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่าย ในการนี้จำเลยติดเครื่องหมาย “บี.เอ็ม.ดับบลิว” อันเป็นเครื่องหมายของโจทก์ร่วมไว้ที่หน้าห้างจำเลย ทั้งพิมพ์เครื่องหมายนี้ไว้ในนามบัตรห้างจำเลยด้วย โดยไม่มีอำนาจที่จะนำมาใช้ ดังนี้ การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการเอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ หรือข้อความใด ๆ ในการประกอบการค้าของโจทก์ร่วมมาใช้ เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นการค้าของโจทก์ร่วมอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๒(๑)
พิพากษายืน