คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1114/2512

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เดิมบริษัทประกันภัยโจทก์ได้ฟ้องจำเลยให้ชำระเบี้ยประกันภัย.ศาลฎีกาพิพากษาว่าตามเงื่อนไขท้ายสัญญาประกันภัย.มิใช่ให้โจทก์เรียกเบี้ยประกันภัยระหว่างที่พักกรมธรรม์นั้นได้. แต่ให้อำนาจเพียงที่จะเรียกร้องเงินค่าเคลมคืนเท่านั้น(ค่าเคลมคือค่าเสียหายที่บริษัทประกันภัยชดใช้ให้แก่ผู้เอาประกันภัยไปตามกรมธรรม์ประกันภัย). จึงพิพากษายกฟ้องบริษัทประกันภัยโจทก์มาฟ้องคดีนี้ ขอให้จำเลยชำระเงินค่าเคลมคืนตามเงื่อนไขในท้ายสัญญาประกันภัยได้. ไม่เป็นฟ้องซ้ำ. เพราะคดีแรกกับคดีนี้เป็นประเด็นคนละเรื่องกัน.
เงื่อนไขแนบกรมธรรม์สัญญาประกันภัยมีว่า ‘กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ต้องชำระเบี้ยประกันให้กับบริษัทครบอายุ 1 ปีแต่ทางบริษัทอนุโลมให้ผ่อนชำระเบี้ยประกันได้. ทั้งนี้ต้องชำระเบี้ยประกันทุกๆ งวดโดยไม่มีการพักกรมธรรม์. หากผู้เอาประกันไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขนี้. ผู้เอาประกันภัยยินดีจะให้เรียกร้องเงินค่าเคลมซึ่งบริษัทได้จ่ายไปนั้นๆทั้งหมด’ นั้น เป็นการทำสัญญาประกันภัยมีกำหนด 1 ปี จำเลยส่งเบี้ยประกันเพียง 29 งวด.ไม่ได้ส่งจนครบอายุ 1 ปี.จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา จึงต้องรับผิดคืนเงินค่าเคลมที่บริษัทโจทก์จ่ายไปตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัย.
โจทก์เป็นบริษัทรับประกันภัย. ไม่ได้ทำการค้าขายอย่างใด. ไม่ใช่พ่อค้า.การที่โจทก์ฟ้องเรียกเอาเงินค่าเคลมที่จ่ายไปคืนจากจำเลยตามเงื่อนไขในกรมธรรม์สัญญาประกันภัย. ไม่ใช่การเรียกเอาค่าที่ (พ่อค้า) ได้ส่งมอบของ. แต่เรียกเอาในฐานที่จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาประกันภัย. จึงไม่จำต้องฟ้องภายในอายุความ 2 ปี. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(1).

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยนำรถยนต์ 96 คันมาประกันวินาศภัยหรืออุบัติเหตุไว้กับโจทก์โดยยอมเสียเบี้ยประกันภัยรวมทั้งค่าอากรด้วยเป็นเงินปีละ 726,729.60 บาท โดยจำเลยตกลงผ่อนชำระเบี้ยประกันภัยให้โจทก์เป็นงวด ๆ จำเลยผ่อนชำระเบี้ยประกันได้ 29 งวด ยังไม่ครบ1 ปี ก็ได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญากรมธรรม์ประกันภัยกับโจทก์ตั้งแต่งวดที่ 29 จึงเป็นการผิดสัญญาที่ได้ตกลงไว้ในเงื่อนไขพิเศษตามใบแทรกกรมธรรม์ประกันภัย โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องเงินค่าเคลมซึ่งโจทก์ได้จ่ายไปแล้ว 78,763 บาท กลับคืนได้ทั้งหมดตามสัญญาจึงขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยชำระค่าเคลมคืนให้โจทก์ จำเลยให้การว่า ไม่ได้ผิดสัญญา มีเงื่อนไขระบุไว้ในกรมธรรม์ว่า หากมิได้ชำระเบี้ยประกันในงวดใด ก็ให้ยกกรมธรรม์โดยไม่ต้องคุ้มครองในงวดนั้น และผู้เอาประกันไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ ทั้งสิ้น เมื่อจำเลยไม่ชำระเบี้ยประกันตั้งแต่งวดที่ 29 ตลอดมาจึงถือได้ว่ากรมธรรม์เลิกกันแล้ว จำเลยให้การต่อสู้อีกว่า โจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าเบี้ยประกันที่ค้างชำระต่อศาลแพ่งครั้งหนึ่งแล้วจะมาฟ้องเรียกเงินค่าเคลมนี้อีกไม่ได้ เป็นการฟ้องซ้ำ โจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าเคลมคดีนี้เกินกว่า 2 ปี คดีโจทก์ขาดอายุความ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า สัญญากรมธรรม์ยังไม่เลิก ฟ้องโจทก์ไม่เป็นฟ้องซ้ำ คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ จำเลยต้องรับผิดชำระเงินค่าเคลมที่บริษัทโจทก์ได้จ่ายไป พิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าเคลม78,763 บาทให้โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์กับจำเลยได้ทำกรมธรรม์สัญญาประกันภัยฉบับที่โจทก์นำมาฟ้อง และโจทก์ได้จ่ายเงินค่าเคลมไปแล้วเป็นจำนวน 78,763 บาท กรมธรรม์สัญญาประกันภัยที่โจทก์ฟ้องคดีนี้กับที่โจทก์ฟ้องคดีแรกเป็นกรมธรรม์สัญญาประกันภัยฉบับเดียวกันคดีแรกเป็นเรื่องโจทก์ฟ้องเรียกร้องเอาเบี้ยประกันภัยจากจำเลยแต่คดีนี้เป็นเรื่องโจทก์ฟ้องเรียกเอาเงินค่าเคลมที่ได้ออกให้จำเลยไป โดยมีข้อสัญญาตามกรมธรรม์ประกันภัยว่า เมื่อขาดส่งเบี้ยประกันภัย จำเลยต้องคืนเงินค่าเคลม เป็นประเด็นคนละเรื่องกันจึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ ตามเงื่อนไขแนบกรมธรรม์สัญญาประกันภัยมีข้อความว่า “กรมธรรม์ฉบับนี้ต้องชำระเงินเบี้ยประกันภัยให้กับบริษัทครบอายุ 1 ปี แต่ทางบริษัทอนุโลมให้ผ่อนชำระเงินเบี้ยประกันภัยได้ ทั้งนี้ ต้องชำระเบี้ยประกันภัยทุก ๆ งวด โดยไม่ต้องมีการพักกรมธรรม์ หากผู้เอาประกันไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขนี้ ผู้เอาประกันยินดีให้เรียกร้องเงินค่าเคลมซึ่งบริษัทได้จ่ายไปนั้น ๆ คืนทั้งหมด” ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยส่งเบี้ยประกันเพียง 29 งวด มิได้ส่งจนครบอายุ1 ปี จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาจึงต้องรับผิดคืนเงินค่าเคลมที่โจทก์ได้จ่ายไปตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัย แม้ว่ากรมธรรม์สัญญาประกันภัยจะได้เลิกกันไปแล้วก็ตาม โจทก์เป็นบริษัทรับประกันภัย ไม่ได้ทำการค้าขายอย่างใดไม่ใช่พ่อค้า การที่โจทก์ฟ้องเรียกเอาเงินค่าเคลมที่จ่ายไปคืนจากจำเลยตามเงื่อนไขในกรมธรรม์สัญญาประกันภัย ไม่ใช่การเรียกเอาค่าที่ได้ส่งมอบของ แต่เรียกเอาในฐานที่จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาประกันภัย จึงไม่จำต้องฟ้องภายในอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(1) คดีโจทก์ยังไม่ขาดอายุความ พิพากษายืน.

Share