แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่า ผ. เป็นคนสาบสูญโดยอ้างว่าผู้ร้องเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกของ ผ. ดังนี้ หากศาลสั่งให้ ผ.เป็นคนสาบสูญตามกฎหมายก็ต้องถือว่าผ. ถึงแก่ความตายเมื่อครบ 7 ปี นับแต่ไปจากภูมิลำเนา คิดแล้วไม่เกินปี พ.ศ. 2476 แต่ท.บิดาผู้ร้องถึงแก่กรรมเมื่อปีพ.ศ.2478ดังนั้นถึงท.จะมีสิทธิรับมรดกของ ผ. ในฐานะลุง ผู้ร้องก็ไม่มีสิทธิรับมรดกของ ผ.แทนที่ท.เพราะขณะที่ถือว่าผ.ถึงแก่ความตายนั้นท. ยังมีชีวิตอยู่ ผู้ร้องจึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียที่จะยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่า ผ. เป็นคนสาบสูญ
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายท้วม รอดรวย กับนางใย รอดรวย บิดาผู้ร้องมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันรวม 6 คน คือ อำแดงนวม นายท้วม อำแดงตาดอำแดงโหมด หรือนางโหมด บ้านใหม่ อำแดงผันและนายเผื่อนอำแดงโหมดหรือนางโหมด มีบุตรชื่อนางผาด บ้านใหม่ เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2469 อำแดงโหมดหรือนางโหมดกับนางผาด ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่ตำบลบ้านใหม่ อำเภอตลาดขวัญ (อำเภอปากเกร็ด)จังหวัดนนทบุรี ได้ไปจากภูมิลำเนาและตราบเท่าเจ็ดปีไม่มีใครทราบแน่ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร ผู้ร้องในฐานะบุตรของนายท้วมผู้เป็นลุงของนางผาดผู้สาบสูญและเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกแทนที่นายท้วมในมรดกของนางผาด จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ขอให้ศาลมีคำสั่งว่า นางผาดเป็นคนสาบสูญ
ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้วมีคำสั่งไม่รับคำร้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาในชั้นนี้ว่า ผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งว่านางผาด บ้านใหม่ เป็นคนสาบสูญหรือไม่ เห็นว่า ตามคำร้องที่ผู้ร้องอ้างว่าผู้ร้องเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกของนางผาดแทนที่นายท้วมบิดาผู้ร้องซึ่งเป็นลุงของนางผาดนั้น เห็นว่า หากศาลสั่งให้นางผาดเป็นคนสาบสูญตามกฎหมายก็ต้องถือว่านางผาดถึงแก่ความตายเมื่อครบ 7 ปี นับแต่ไปจากภูมิลำเนา คิดแล้วไม่เกินปี พ.ศ. 2476 เพราะนางผาดไปจากภูมิลำเนาเมื่อปีพ.ศ. 2469 แต่นายท้วมบิดาผู้ร้องถึงแก่กรรมเมื่อปี พ.ศ. 2478ดังนั้น ถึงนายท้วมจะมีสิทธิรับมรดกของนางผาดในฐานะลุงดังที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง ผู้ร้องก็ไม่มีสิทธิรับมรดกของนางผาดแทนที่นายท้วม เพราะขณะที่ถือว่านางผาดถึงแก่ความตายนั้นนายท้วมยังมีชีวิตอยู่ ผู้ร้องจึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียที่จะยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่านางผาด บ้านใหม่ เป็นคนสาบสูญ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นนั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน