คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 276/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสองสมรู้กันแสดงเจตนาหลอกลวงโจทก์ทั้งสามหรือผู้อื่นโดยจำเลยทั้งสองมิได้ตั้งใจให้ผูกพันกันตามที่ได้จดทะเบียนซื้อขายโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทกันจริงจัง การแสดงเจตนาลวงด้วยสมรู้กันระหว่างจำเลยทั้งสองเช่นนี้ ย่อมตกเป็นโมฆะ โจทก์ทั้งสามเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกที่พิพาทมีสิทธิฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนการโอนได้.(ที่มา-เนติ)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกได้สมคบกับจำเลยที่ 2 จดทะเบียนขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกทำให้โจทก์ทั้งสามต้องเสียสิทธิในการรับมรดก ขอให้เพิกถอนนิติกรรม จดทะเบียนโอนขายกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวให้กลับมาอยู่ในกองมรดก
จำเลยที่ 1 ให้การว่าได้โอนขายที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ตามอำนาจหน้าที่ในฐานะผู้จัดการมรดก มิได้สมคบกับจำเลยที่ 2 โอนกรรมสิทธิ์ คดีโจทก์ขาดอายุความ จำเลยที่ 2ให้การว่า รับโอนที่พิพาทจากจำเลยที่ 1 โดยมีค่าตอบแทนและสุจริต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนขายกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดพิพาท ระหว่างจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘คดีมีปัญหาขึ้นมาสู่ศาลฎีกาวินิจฉัยชี้ขาดตัดสินแต่เพียงตามที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า การซื้อขายที่พิพาทมีค่าตอบแทนและสุจริต ขอให้ยกฟ้องโจทก์เท่านั้นซึ่งตามปัญหาดังกล่าว โจทก์ทั้งสามนำสืบว่านางสาวแซเจ้ามรดกใช้ที่พิพาทเป็นที่ปลูกบ้านพักอาศัย กับใช้เป็นที่ทำกินร่วมกับโจทก์ทั้งสามและครอบครัวตั้งแต่เจ้ามรดกยังมีชีวิตอยู่ หลังจากเจ้ามรดกตายแล้ว จำเลยที่ 1 ได้มาขอโฉนดที่พิพาทจากโจทก์ที่ 1 และนางอุไรภรรยาโจทก์ที่ 1ซึ่งเป็นผู้เก็บรักษาโฉนดที่พิพาทไว้ โจทก์ที่ 1 และนางอุไรไม่ยอมให้ ต่อมาโจทก์ทั้งสามทราบว่าจำเลยที่ 1ไปขอใบแทนโฉนดที่พิพาทและยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งเป็นผู้จัดการมรดกผู้ตาย แล้วทำโอนขายที่พิพาทให้แก่จำเลยที่2 โดยมิได้มีเจตนาซื้อขายกันจริงจังและไม่มีการชำระเงินจำเลยที่ 1 ไม่เคยปรึกษากับโจทก์ทั้งสามเกี่ยวกับเรื่องขายที่พิพาท ไม่ได้นำเงินค่าขายที่พิพาททำบัญชีทรัพย์มรดกเพื่อแบ่งปันให้โจทก์ทั้งสามในฐานะทายาทจำเลยที่ 1 มีเจตนาปิดบังไม่ให้โจทก์ทั้งสามได้รับแบ่งปันทรัพย์มรดก
จำเลยที่ 1 นำสืบว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการทำศพผู้ตายและต้องกู้เงินมาใช้จ่ายในการจัดงานศพ ต่อมาเมื่อศาลตั้งให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกผู้ตาย ปรากฏว่าโฉนดที่พิพาทหายไป จำเลยที่ 1 จึงขอใบแทนและขายที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ในราคา 130,000 บาท นำเงินไปใช้หนี้ค่าจัดงานศพผู้ตาย โจทก์ทั้งสามและผู้ตายก่อนตายได้ร่วมกันทำกินในที่พิพาทจริง
จำเลยที่ 2 นำสืบว่า ตกลงซื้อที่พิพาทจากจำเลยที่ 1 ในราคาไร่ละ6,000 บาท โดยวางมัดจำก่อน 20,000 บาท ส่วนที่เหลือชำระในวันที่ 25 มิถุนายน 2523 ซึ่งเป็นวันจดทะเบียนโอนที่พิพาท
พิเคราะห์แล้ว เมื่อศาลล่างทั้งสองฟังว่า โจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 1 ต่างเป็นทายาทมีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตายฝ่ายจำเลยก็มิได้ฎีกาโต้แย้งคัดค้าน ปัญหาดังกล่าวจึงเป็นอันยุติ รับฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 1 ต่างเป็นทายาทมีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตาย ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อโจทก์ที่ 1 ไปขอรับเงินของผู้ตายที่ฝากธนาคารไว้เพื่อนำมาใช้จ่ายจัดการทำศพผู้ตาย จำเลยที่ 1 ก็ได้ลงชื่อเป็นพยานให้โจทก์ที่ 1 รับเงินจากธนาคารได้ปรากฏตามเอกสารหมายจ.13 อันเป็นพฤติการณ์แสดงว่า ฝ่ายโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้มีการปรึกษาหารือกันเกี่ยวกับเรื่องจัดการทำศพผู้ตายแต่พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายกับอ้างว่ามีเหตุจำเป็นต้องขายที่พิพาทเพื่อนำเงินไปใช้จ่ายจัดการทำศพผู้ตายตามข้อต่อสู้ของฝ่ายจำเลย ทั้ง ๆ ที่จำเลยที่ 1 รู้อยู่ว่าโจทก์ทั้งสามพร้อมด้วยครอบครัวตลอดจนผู้ตายได้พักอาศัยอยู่ในบ้านที่ปลูกอยู่ในที่พิพาท และร่วมกันใช้ที่พิพาทเป็นที่ทำกินตลอดมาตั้งแต่ผู้ตายยังมีชีวิตอยู่ กับย่อมรู้หรือควรรู้อยู่ว่าโจทก์ทั้งสามมีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตายในฐานะทายาทเหมือนกัน จำเลยที่ 1 กลับไม่ปรึกษาหารือโจทก์ทั้งสามแต่อย่างใด และการที่จำเลยที่ 1 ขอใบแทนโฉนดที่พิพาทโดยอ้างลอย ๆ แต่ลำพังตนคนเดียวว่านายบ๊วยน้องผู้ตายมอบโฉนดที่พิพาทให้ตนและโฉนดดังกล่าวหายไป แต่คดีได้ความจากโจทก์ที่ 1 และนางอุไรภรรยาโจทก์ที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 เคยมาขอรับโฉนดที่พิพาทจากโจทก์ที่ 1 และนางอุไร ซึ่งเป็นผู้เก็บรักษาไว้ โจทก์ที่ 1 และนางอุไรไม่ยอมให้ ต่อมาเจ้าพนักงานที่ดินได้ยึดโฉนดที่พิพาทไว้ ปรากฏตามภาพถ่ายโฉนดพิพาทเอกสารหมาย จ.6 พยานโจทก์เกี่ยวกับเรื่องจำเลยที่1 รู้อยู่ว่าโฉนดที่พิพาทอยุ่กับฝ่ายโจทก์จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อมากกว่าข้ออ้างของฝ่ายจำเลย พฤติการณ์ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นเหตุผลสนับสนุนให้น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ไปขอใบแทนโฉนดที่พิพาททั้ง ๆ ที่รู้อยู่ว่าฝ่ายโจทก์เป็นผู้เก็บรักษาไว้ และขายที่พิพาทอย่างปกปิดซ่อนเร้นให้บุคคลภายนอก โดยไม่ปรึกษาหารือกับฝ่ายโจทก์ซึ่งเป็นทายาทมีสิทธิได้รับมรดกเหมือนกัน ตลอดจนจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย แต่ก็มิได้ทำบัญชีทรัพย์มรดกและไม่ได้นำเงินที่ได้จากการขายที่พิพาทมาแสดงเพื่อแบ่งปันในระหว่างทายาทของเจ้ามรดก เป็นพฤติการณ์ส่อแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 ในการโอนขายที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ว่าเป็นเจตนาทำการโอนโดยไม่สุจริต คดีมีปัญหาที่จะวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยที่ 2 รับโอนที่พิพาทไว้โดยสุจริตหรือไม่ ปัญหานี้ได้ความจากตัวจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 ไม่เคยพักอาศัยอยู่ใกล้หรือรู้จักที่พิพาทก่อนตกลงซื้อ นายสุบิน ศรีสุวรรณ เป็นคนแนะนำให้จำเลยที่ 2 ซื้อที่พิพาท การไปดูที่พิพาทซึ่งมีบ้านปลูกอยู่ 3 หลัง ก็เพียงแต่นั่งเรือแล่นผ่านไปโดยไม่ได้ขึ้นไปดูแต่อย่างใด เห็นว่าการตกลงซื้อขายที่พิพาทกันเป็นเงินเรือนแสน และทั้ง ๆ ที่จำเลยที่ 1 บอกว่ามีคนขออาศัยปลูกบ้าน 3 หลังในที่พิพาทจำเลยที่ 2 ก็ยังไม่ได้ขึ้นไปสอบถามหรือตรวจด้วยตนเองให้ได้ข้อเท็จจริงตามสมควร กลับตกลงรับซื้อไว้อย่างง่ายดาย และชำระราคาส่วนที่เหลือจากเงินมัดจำทั้งหมดก่อนที่เจ้าพนักงานที่ดินจะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์เสร็จเรียบร้อย โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองรู้จักคุ้นเคยกันมาก่อนนั้น เป็นพฤตการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 รับโอนที่พิพาทไว้โดยไม่สุจริต การที่จำเลยทั้งสองประพฤติปฏิบัติในการตกลงซื้อขายที่พิพาทผิดวิสัยของวิญญูชนทั่วไป จึงมีลักษณะส่อพิรุธให้เห็นว่า จำเลยทั้งสองสมรู้กันแสดงเจตนาหลอกลวงโจทก์ทั้งสามหรือผู้อื่น โดยจำเลยทั้งสองมิได้ต้งใจให้ผูกพันกันตาาที่ได้จดทะเบียนซื้อขายโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทกันจริงจังแต่อย่างใดการแสดงเจตนาลวงด้วยสมรู้กันระหว่างจำเลยทั้งสองเช่นนี้ ย่อมตกเป็นโมฆะ โจทก์ทั้งสามมีสิทธิฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนการโอนนั้นได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาแทนโจทก์ทั้งสาม 3,000 บาท’.

Share