คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1111/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ใช้ทางพิพาทเป็นทางเดินไปสู่ทางสาธารณะ โดยสงบและเปิดเผยมาเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว จึงได้สิทธิภาระจำยอมโดยอายุความตามป.พ.พ. มาตรา 1401 ประกอบด้วยมาตรา 1382 แม้โจทก์สามารถใช้คันลำเหมืองไปสู่ทางสาธารณะได้ ก็หาทำให้สิทธิของโจทก์ในการใช้ทางพิพาทเสียไปไม่ แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินอันมีทางพิพาทเพราะได้โอนขายให้จำเลยที่ 3 ไปแล้ว แต่เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ปิดทางพิพาทอันเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ก่อนที่จะโอนขายให้จำเลยที่ 3 โจทก์จึงชอบที่จะฟ้องให้จำเลยที่ 1 เปิดทางพิพาทได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เปิดทางภารจำยอมที่ปิดกั้นเพื่อโจทก์ทั้งสี่จะได้ใช้เป็นทางผ่านเข้าออกจากที่ดินของโจทก์ไปสู่ถนนสายเชียงใหม่-ลำพูน โดยมีขนาดกว้าง 2 เมตร และให้จำเลยทั้งสองไปจดทะเบียนสิทธิภารจำยอมให้โจทก์ด้วย หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตาม ขอให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองให้การว่า ที่ดินของจำเลยทั้งสองมิได้ตกอยู่ในภารจำยอม โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตามฟ้องเมื่อวันที่ 10กรกฎาคม 2524 แต่อ้างว่าได้สิทธิภารจำนองมาเป็นเวลากว่า 10 ปีจึงเป็นไปไม่ได้ ที่ดินของโจทก์และของจำเลยต่างติดลำเหมืองสาธารณะไปสู่ถนนสายเชียงใหม่-ลำพูนได้ โจทก์มีทางออกสู่ทางสาธารณะ
ก่อนสืบพยานโจทก์ปรากฏว่า จำเลยทั้งสองได้ขายที่พิพาทให้แก่นายสมชัย สถิรวัฒนา เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2524 โจทก์จึงได้ยื่นคำร้องลงวันที่ 22 มีนาคม 2525 ขอให้ศาลเรียกนายสมชัยเข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลสั่งอนุญาตและให้เรียกนายสมชัย เป็นจำเลยที่ 3
จำเลยที่ 3 ให้การว่า ที่ดินที่จำเลยที่ 3 ซื้อมามิได้ตกอยู่ในภารจำยอม โจทก์ใช้คันลำเหมืองกว้างข้างละ 4 เมตร ซึ่งติดกับที่ดินของโจทก์เป็นทางสัญจรออกสู่ทางสาธารณะได้ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาโจทก์ที่ 1 ตาย โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นทายาทขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ที่ 1 ศาลอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันเปิดทางเดินพิพาทตลอดแนวกว้าง 1.50 เมตร ให้จำเลยที่ 3 ไปจดทะเบียนสิทธิภารจำยอมทางเดินพิพาทในที่ดินของจำเลยที่ 3 ให้แก่โจทก์ ถ้าไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลยที่ 3 ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความ1,000 บาทแทนโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้อง ให้โจทก์เสียค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความ 1,000 บาทแทนจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 600 บาทแทนโจทก์ทั้งสี่
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…คดีมีปัญหาว่าทางพิพาทนั้นเป็นทางภารจำยอมหรือไม่ ปัญหาข้อนี้ได้ความจากคำเบิกความของนายแก้วคุ่นคำ เจ้าของที่ดินคนเดิมก่อนที่จำเลยที่ 1 จะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินว่านายสม ตนอารีย์ เจ้าของที่ดินแปลงที่โจทก์ทั้งสี่ได้รับมรดก และโจทก์ทั้งสี่ได้เดินผ่านที่ดินของตนไปออกทางสาธารณะ พวกชาวบ้านก็ใช้เป็นทางเดินไปทำไร่ทำนา ทำกิจธุระได้ใช้มานานประมาณ 20 ปีแล้ว ตามรายงานกระบวนพิจารณาที่ศาลชั้นต้นไปเดินเผชิญสืบ ก็ได้ความว่ามีร่องรอยทางเดินในเขตที่ดินของจำเลยซึ่งแสดงว่าเป็นทางเดินที่โจทก์ได้ใช้เข้าออกจากที่ดินของโจทก์ไปสู่ถนนสายเชียงใหม่-ลำพูน ก่อนที่จำเลยจะล้อมรั้วปิดทางเดินนี้และโจทก์ทุกคนต่างก็เบิกความว่าใช้ทางพิพาทไปออกถนนหลวงเป็นเวลานานกว่า 10 ปีแล้ว ตามคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ก็เจือสมกับการนำสืบของโจทก์ว่าขณะซื้อที่ดินเห็นรอยทางเดินอันเป็นทางพิพาทอยู่ก่อนแล้ว นายเขียว ประสาน พยานจำเลยที่ 1 ที่ 2 ก็เบิกความว่าพวกโจทก์ใช้ทางเดินผ่านที่พิพาทของจำเลยออกสู่ถนนสาธารณะ ตามพยานหลักฐานดังกล่าวฟังได้ว่า โจทก์ได้ใช้ทางพิพาทเป็นทางเดินไปสู่ถนนสายลำพูน-เชียงใหม่ โดยสงบเปิดเผยมาเป็นเวลากว่า 10ปีแล้ว จึงได้สิทธิภารจำยอมโดยอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1401 ประกอบด้วยมาตรา 1382 ที่จำเลยต่อสู้ว่าโจทก์สามารถใช้คันลำเหมืองไปสู่ทางสาธารณะได้นั้น เห็นว่าไม่ได้ทำให้สิทธิของโจทก์ในการใช้ทางพิพาทซึ่งได้มาโดยอายุความเสียไปและที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินอันมีทางพิพาท เพราะได้โอนขายให้แก่จำเลยที่ 3 ไปแล้วนั้น เห็นว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ปิดทางพิพาทอันเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ก่อนที่จะโอนขายให้แก่จำเลยที่ 3 จึงชอบที่จะฟ้องให้จำเลยที่ 1เปิดทางพิพาทได้ ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 600 บาทแทนโจทก์ทั้งสี่.

Share