คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1107/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้า แจ้งให้โจทก์ทราบเป็นหนังสือว่าไม่อาจรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้โจทก์ได้เนื่องจากเครื่องหมายการค้าคำว่า “JUNIORGAULTIER” ที่โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียน เหมือนหรือเกือบเหมือนกับเครื่องหมายการค้าคำว่า “JeanPaulGAULTIER” และคำว่า “J.P.GAULTIER” ซึ่งจำเลยนำมายื่นคำขอจดทะเบียนไว้ กรณีจึงถือได้ว่ามีข้อโต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้วว่า โจทก์หรือจำเลยมีสิทธิที่จะได้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของตน โจทก์จึงมีอำนาจที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลได้ ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474มาตรา 17 ประกอบด้วย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จดทะเบียนณ ประเทศญี่ปุ่น ได้แต่งตั้งให้นายโรจน์วิทย์ เปเรร่า หรือนายธเนศ เปเรร่า เป็นตัวแทนในการยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า Jean Paul GAULTIER โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า JUNIOR GAULTIER อ่านว่า “จูเนียร์ กูลเทียร์” ตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 184438 ได้ยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2531 ต่อมาวันที่ 6พฤศจิกายน 2532 นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบว่า ไม่อาจจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ได้เนื่องจากเห็นว่า เหมือนหรือเกือบเหมือนกับเครื่องหมายการค้าคำว่า Jean Paul GAULTIER ตามคำขอเลขที่ 175248 และคำว่าJ.P.GAULTIER ตามคำขอเลขที่ 175251 ของจำเลย เครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่เหมือนหรือเกือบเหมือนเครื่องหมายการค้าของจำเลยมีลักษณะแตกต่างกันอย่างชัดเจน ขอให้ศาลพิพากษาว่าเครื่องหมายการค้าคำขอเลขที่ 184438 คำว่า JUNIOR GAULTIER ของโจทก์ไม่เหมือนหรือเกือบเหมือนเครื่องหมายการค้าคำขอเลขที่ 175248 คำว่าJean Paul GAULTIER และคำขอเลขที่ 175251 คำว่า J.P. GAULTIERของจำเลย ให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าดำเนินการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ต่อไป
ศาลชั้นต้นพิจารณาคำฟ้องของโจทก์แล้วมีคำสั่งว่า พิเคราะห์แล้วไม่ปรากฏว่าจำเลยโต้แย้งสิทธิของโจทก์ และคำขอท้ายฟ้องไม่ได้ขอให้บังคับจำเลยดำเนินการอย่างไร จึงไม่รับคำฟ้องคืนค่าขึ้นศาลให้โจทก์ทั้งหมด
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษากลับ ให้ศาลชั้นต้นรับฟ้องโจทก์แล้วดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษา
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้จำเลยฎีกาว่า จำเลยยังไม่ได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์และตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ มิได้ขอให้โจทก์ปฏิบัติหรือขอให้บังคับจำเลยดำเนินการอย่างไร โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย เห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์ประกอบหนังสือของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเอกสารหมายเลข 3 ท้ายฟ้องได้ความว่า เมื่อวันที่22 ธันวาคม 2531 โจทก์ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า JUNIOR GAULTIER อ่านว่า จูเนียร์ กูลเทียร์ ตามคำขอเลขที่ 184438 ต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า กรมทะเบียนการค้ากระทรวงพาณิชย์ วันที่ 6 พฤศจิกายน 2532 นายทะเบียนเครื่องหมายการค้า แจ้งให้โจทก์ทราบเป็นหนังสือว่าไม่อาจรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์ได้เนื่องจากเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เหมือนหรือเกือบเหมือนกับเครื่องหมายการค้าคำว่าJean Paul GAULTIER และเครื่องหมายการค้า คำว่า J.P. GAULTIERซึ่งจำเลยนำมายื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ตามคำขอเลขที่175248 และคำขอเลขที่ 175251 ให้ทำความตกลงกันเองหรือนำคดีไปสู่ศาล เพื่อให้ทราบว่าผู้ใดมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่ากันและแจ้งผลให้นายทะเบียนทราบภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่ลงในหนังสือมิฉะนั้น จะพิจารณาจดทะเบียนคำขอของผู้ที่ยื่นก่อน และจำหน่ายคำขอของผู้ที่ยื่นภายหลังโจทก์ไม่เห็นด้วยกับหนังสือของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า จึงฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ขอจดทะเบียนไม่เหมือนหรือเกือบเหมือนกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ขอจดทะเบียน ขอให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์ต่อไปกรณีตามคำฟ้องของโจทก์จึงต้องด้วยมาตรา 17 วรรคแรก แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 ซึ่งบัญญัติว่า “ถ้ามีบุคคลหลายคนต่างคนต่างอ้างว่าเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าอันเดียวกันหรือเกือบเหมือนกัน ใช้สำหรับสินค้าเดียวหรือชนิดเดียวกันและต่างคนต่างร้องขอจดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้น ๆท่านให้นายทะเบียนมีหนังสือลงทะเบียนไปรษณีย์บอกไปยังบรรดาผู้ขอจดทะเบียนทุกคนว่าขอซ้ำกัน ให้ตกลงกันเอง หรือนำคดีไปสู่ศาล”ศาลฎีกาเห็นว่าการที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้า ไม่ดำเนินการจดทะเบียนให้โจทก์ก็เนื่องจากนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเห็นว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเหมือนหรือเกือบเหมือนกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ได้มีการยื่นคำขอจดทะเบียนไว้กรณีจึงถือได้ว่ามีข้อโต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้วว่า โจทก์หรือจำเลยมีสิทธิที่จะได้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของตน โจทก์จึงมีอำนาจที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลได้ ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 17 วรรคแรก ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่1460/2530 ระหว่าง นายปรีชา กุมุทพงษ์พานิช โจทก์ นายจินไวฮัง จำเลย คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้วฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share