คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1102-1103/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

เมื่อสัญญาเลิกกันแล้ว แต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม จำเลยจึงต้องใช้คืนเงินที่โจทก์ชำระหนี้บางส่วนแก่จำเลยไปแล้วให้แก่โจทก์ แต่โจทก์กับจำเลยตกลงกันไว้ในสัญญาให้ริบเงินที่ชำระไปแล้วโดยไม่ต้องใช้คืนข้อตกลงดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับที่กำหนดเป็นจำนวนเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 และเบี้ยปรับนี้ถ้าสูงเกินส่วนศาลก็มีอำนาจปรับลดลงให้เหลือเป็นจำนวนที่พอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง ศาลจึงชอบที่จะสั่งให้จำเลยคืนเงินดังกล่าวแก่โจทก์ได้

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกจำเลยสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 และเรียกจำเลยสำนวนหลังว่า จำเลยที่ 2
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองสำนวนเป็นใจความว่า เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2537 โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันทำสัญญาจะซื้อจะขายและพัฒนาที่ดินโครงการหมู่บ้านกฤษดานคร (โครงการ 20) ในราคา 3,390,000 บาท กับจำเลยที่ 1 และว่าจ้างจำเลยที่ 2 ปลูกสร้างบ้านแบบทิพพากรบนที่ดิน โดยตกลงค่าจ้างกันเป็นเงิน 2,110,600 บาท โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นค่าจองจำนวน 20,000 บาท และชำระในวันทำสัญญาอีกจำนวน 43,100 บาท กับชำระค่าจ้างปลูกสร้างบ้านให้แก่จำเลยที่ 2 ในวันทำสัญญาจำนวน 26,900 บาท สำหรับการชำระราคาที่ดินอีกจำนวน 445,400 บาท และค่าจ้างปลูกสร้างบ้านอีกจำนวน 289,690 บาท ตกลงแบ่งชำระเป็น 20 งวด ส่วนราคาที่ดินและค่าจ้างส่วนที่เหลือนั้นจะชำระให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เมื่อได้มีการพัฒนาที่ดินและปลูกสร้างบ้านเสร็จพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 แต่ต้องไม่เกินเดือนพฤษภาคม 2539 โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ชำระเงินค่างวดให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามสัญญาถึงงวดวันที่ 7 เมษายน 2539 รวมเงินที่ชำระให้จำเลยที่ 1 ไปแล้วจำนวน 437,500 บาท และชำระให้จำเลยที่ 2 ไปแล้วจำนวน 281,500 บาท แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่สามารถพัฒนาที่ดินและปลูกสร้างบ้านให้แล้วเสร็จตามกำหนดดังกล่าว จนล่วงเลยเวลามาถึง 2 ปี โจทก์ที่ 1 และที่ 2 จึงมีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ปฏิบัติตามสัญญาหากไม่ปฏิบัติให้ถือว่าสัญญาจะซื้อจะขายและสัญญาว่าจ้างปลูกสร้างบ้านเป็นอันเลิกกัน จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องคืนเงินที่โจทก์ชำระไปแล้ว และโจทก์ขอคิดค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 962,276 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 723,500 บาท และให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 710,143 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 556,600 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การในทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาจะซื้อจะขายและพัฒนาที่ดิน และสัญญาว่าจ้างปลูกสร้างบ้าน โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ผ่อนชำระค่างวดให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ครบตามกำหนดโดยชำระให้เพียง 20 งวดเท่านั้น หลังจากนั้นไม่ชำระ โจทก์ที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาจำเลยที่ 2 ปลูกสร้างบ้านเสร็จตามสัญญาได้มีหนังสือไปยังโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ให้ไปรับโอนกรรมสิทธิ์ แต่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ไม่ยอมรับโอน โจทก์ที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา ในส่วนค่าเสียหายนั้นโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยหรือเรียกค่าเสียหาย เนื่องจากไม่มีข้อตกลงใดๆ ในสัญญา ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้อง
โจทก์ที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 150,000 บาท และให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาข้อกฎหมายว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่มีหน้าที่ต้องคืนเงินให้โจทก์ การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 คืนเงินให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 จำนวน 150,000 บาท และ 100,000 บาท ตามลำดับ เป็นการไม่ชอบ คดีนี้ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 และ 247 ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันทำสัญญาจะซื้อจะขายและพัฒนาที่ดินโครงการหมู่บ้านกฤษดานคร(โครงการ 20) หรือโครงการกฤษดา มาสเตอร์เพลส แปลงเลขที่ ดี – 036 เนื้อที่ 100 ตารางวา ในราคา 3,390,000 บาท กับจำเลยที่ 1 และว่าจ้างจำเลยที่ 2 ปลูกสร้างบ้านแบบทิพพากรบนที่ดินดังกล่าว ตกลงค่าจ้างเป็นเงิน 2,110,600 บาท โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ชำระเงินค่าจองให้แก่จำเลยที่ 1 จำนวน 20,000 บาท และชำระในวันทำสัญญาอีกจำนวน 43,100 บาท กับชำระค่าจ้างปลูกสร้างบ้านให้แก่จำเลยที่ 2 ในวันทำสัญญาจำนวน 26,900 บาท สำหรับการชำระราคาที่ดินอีกจำนวน 445,400 บาท และค่าจ้างปลูกสร้างบ้านอีกจำนวน 289,690 บาท นั้น ตกลงแบ่งชำระให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นรายงวด ภายหลังทำสัญญาโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ได้ชำระค่างวดให้แก่จำเลยที่ 1 อีกจำนวน 410,400 บาท และชำระให้แก่จำเลยที่ 2 อีกจำนวน 254,600 บาท ต่อมาโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ตกเป็นฝ่ายผิดสัญญาจะซื้อจะขายและพัฒนาที่ดิน และสัญญาว่าจ้างปลูกสร้างบ้าน เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคแรก ได้บัญญัติไว้ว่า “เมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม แต่ทั้งนี้จะให้เป็นที่เสื่อมเสียแก่สิทธิของบุคคลภายนอกหาได้ไม่” ดังนั้น เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายและพัฒนาที่ดิน และสัญญาว่าจ้างปลูกสร้างบ้านระหว่างโจทก์ที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้เลิกกันแล้ว แต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม เงินค่างวดตั้งแต่งวดที่ 2 ถึงงวดที่ 19 จำนวน 410,400 บาท และจำนวน 254,600 บาท ที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เพื่อชำระหนี้บางส่วนย่อมเป็นเงินอันจะต้องใช้คืนเพื่อให้คู่สัญญากลับสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามบทบัญญัติดังกล่าว แต่การที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตกลงกันไว้ในสัญญาจะซื้อจะขายและพัฒนาที่ดิน และสัญญาว่าจ้างปลูกสร้างบ้านให้ริบเงินที่ชำระไปแล้วโดยไม่ต้องใช้คืนเพื่อกลับสู่ฐานะเดิมข้อตกลงให้ริบเงินดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับที่กำหนดเป็นจำนวนเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 และเบี้ยปรับนี้ถ้าสูงเกินส่วนศาลก็มีอำนาจปรับลดลงให้เหลือเป็นจำนวนที่พอสมควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์จึงมีสิทธิปรับลดเบี้ยปรับลงเป็นจำนวนพอสมควร และคืนเงินในส่วนมิใช่เบี้ยปรับให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 คืนเงินให้โจทก์จำนวน 150,000 บาท และ 100,000 บาท ตามลำดับ จึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share