แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การส่งคำโต้แย้งของคู่ความเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย คู่ความขอให้ส่งไปได้เฉพาะในประเด็นว่า บทบัญญัติหรือเนื้อความของกฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับแก่คดีนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ แต่ตามคำร้องของจำเลยเป็นการโต้แย้งกระบวนการตรากฎหมายว่าไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 154 ซึ่งมาตราดังกล่าวมิได้ให้สิทธิแก่จำเลยหยิบยกเป็นประเด็นโต้แย้งต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ศาลอุทธรณ์ภาค 6 จึงไม่ต้องส่งคำโต้แย้งของจำเลยเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลยนั้น คำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 6 ดังกล่าวเป็นคำสั่งก่อนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 จะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดี แม้เป็นคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องขอตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 211 ก็เป็นคำสั่งในขั้นตอนการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลยุติธรรม ต้องถือว่าเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 6 จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาคำสั่งนั้นในระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 196 ประกอบมาตรา 225
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 277, 317 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2526 มาตรา 4 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2530 มาตรา 3, 7 จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสาม, 317 วรรคสาม การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปี จำคุก 7 ปี ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีเพื่อการอนาจาร จำคุก 5 ปี รวมจำคุก 12 ปี
จำเลยอุทธรณ์พร้อมยื่นคำร้องว่า คำขอท้ายฟ้องของโจทก์อ้างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2530 แต่คดีนี้เหตุเกิดเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2551 ซึ่งขณะเกิดเหตุบทกฎหมายดังกล่าวได้ถูกยกเลิกไปแล้วและให้ใช้ความใหม่แทนตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 19) พ.ศ.2550 มาตรา 3 ขณะเดียวกันพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ตราขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติมาประชุมไม่ครบองค์ประชุมตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 126 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 293 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 19) พ.ศ.2550 จึงขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญดังกล่าว พระราชบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 6 และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับพระราชบัญญัติดังกล่าว ขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ส่งคำโต้แย้งตามคำร้องของจำเลยเช่นว่านั้นตามทางการเพื่อศาลรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 211
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีคำสั่งว่า การส่งคำโต้แย้งของคู่ความ (จำเลย) ตามทางการเพื่อศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 211 คู่ความในคดีขอให้ส่งไปได้เฉพาะในประเด็นว่า บทบัญญัติหรือเนื้อความของกฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับแก่คดีนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ แต่กรณีตามคำร้องของจำเลยเป็นการโต้แย้งกระบวนการตรากฎหมายว่าไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 154 ซึ่งบทบัญญัติมาตรา 154 มิได้ให้สิทธิแก่จำเลยหยิบยกเป็นประเด็นโต้แย้งต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ศาลอุทธรณ์ภาค 6 จึงไม่จำต้องส่งคำโต้แย้งของจำเลยตามทางการเพื่อศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลย
จำเลยฎีกาคำสั่ง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 6 คำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 6 ที่ยกคำร้องของจำเลย ที่ขอให้ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับแก่คดีขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญเป็นคำสั่งก่อนศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี แม้เป็นคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องขอตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 211 ก็เป็นคำสั่งในขั้นตอนการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลยุติธรรมต้องถือว่าเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 6 จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาคำสั่งนั้นในระหว่างพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 196 ประกอบมาตรา 225 การที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกฎีกาของจำเลย