คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 664/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 บัญญัติห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลตามพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ (1) – (5)
คดีนี้ผู้ร้องอุทธรณ์อ้างเหตุขัดข้องที่ทำให้ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในทำนองว่า หากผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ออกคำบังคับให้ผู้คัดค้านทั้งสองเข้ารับโอนหุ้นของบริษัท ม. ภายหลังจากบริษัท ม. ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายแล้ว แม้ยังอยู่ในระยะเวลาที่กฎหมายให้สิทธิผู้ร้องขอให้ศาลออกคำบังคับให้ผู้คัดค้านรับโอนหุ้นบริษัท ม. จากผู้ร้อง ผู้ร้องก็ไม่อาจดำเนินการโอนหุ้นบริษัท ม. ให้แก่ผู้คัดค้านทั้งสองได้ เพราะอำนาจจัดการทรัพย์สินของบริษัท ม. ตกอยู่ในอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แล้ว อุทธรณ์ของผู้ร้องดังกล่าว ไม่เข้าเหตุยกเว้นตาม มาตรา 45 (1) ถึง (5) จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม มาตรา 45 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของผู้ร้องจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องมีฐานะเป็นนิติบุคคลประเภทกองทุนรวมตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมวรรณ จำกัด เป็นผู้จัดการกองทุนรวม มีวัตถุประสงค์ให้การสนับสนุนทางการเงินในรูปแบบต่าง ๆ แก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เข้าร่วมลงทุนและให้ผลประโยชน์เป็นค่าตอบแทนจากการลงทุนตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาร่วมลงทุน ต่อมาเมื่อระยะเวลาในการดำเนินการของผู้ร้องสิ้นสุดลงมีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมวรรณ จำกัด เป็นผู้ชำระบัญชี ผู้ร้องได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักระงับข้อพิพาทว่า บริษัทแมคคอนฟิล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด มีนายพัฒนา ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นกรรมการ ผู้มีอำนาจกระทำการแทนและนางอำไพ ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้ถือหุ้นหลักของบริษัท เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2547 ผู้ร้องและบริษัทแมคคอนฟิล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กับผู้คัดค้านทั้งสองทำสัญญาร่วมลงทุนและสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้น โดยบริษัทแมคคอนฟิล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เสนอขายหุ้นให้แก่ผู้ร้อง จำนวน 109,999 หุ้น ในราคาหุ้นละ 100 บาท รวมเป็นค่าหุ้นบุริมสิทธิเพิ่มทุน 10,999,900 บาท มีเงื่อนไขว่าบริษัทแมคคอนฟิล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และผู้คัดค้านทั้งสอง มีหน้าที่ปฏิบัติและละเว้นการปฏิบัติ คือรักษาอัตราส่วนหนี้ต่อทุนของบริษัทให้อยู่ในระดับไม่เกิน 3 ต่อ 1 และจะไม่เปลี่ยนแปลงผู้สอบบัญชีของผู้บริหารของบริษัทแมคคอนฟิล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด รวมทั้งปรับโครงสร้างขององค์กร เว้นแต่ได้รับความเห็นชอบจากผู้ร้อง อีกทั้งต้องดำเนินการแปรสภาพบริษัทและจดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชน โดยเสนอขายหุ้นสามัญต่อผู้ร้องและประชาชนโดยเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหรือตลาดหลักทรัพย์ Market for Alternative investment MAI ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2549 หากบริษัทแมคคอนฟิล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ไม่สามารถระดมทุนโดยการเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนหรือไม่สามารถนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหรือตลาดหลักทรัพย์อื่นใด บริษัทแมคคอนฟิล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และผู้คัดค้านทั้งสองตกลงให้ผู้ร้องมีสิทธิที่จะขายหุ้นของบริษัทแมคคอนฟิล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ที่ผู้ร้องถืออยู่ทั้งหมดในเวลานั้นให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 และผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ตกลงที่จะซื้อหุ้นดังกล่าวที่ผู้ร้องถืออยู่ทั้งหมดพร้อมทั้งชำระราคาจนครบถ้วนภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2550 ทั้งนี้ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ตกลงที่จะซื้อหุ้นคืนในราคาที่สูงกว่าระหว่างมูลค่าตามบัญชีของงบการเงินที่ผู้สอบบัญชีของบริษัทรับรองแล้วหรือตามราคาที่ผู้ร้องเข้าร่วมลงทุนบวกด้วยจำนวนเงินที่รวมแล้วทำให้อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนของผู้ร้องเป็นร้อยละ 10 ต่อปี คำนวณจนถึงวันซื้อหุ้นคืน โดยบริษัทแมคคอนฟิล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และผู้คัดค้านทั้งสองยังมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ได้กำหนดไว้ในสัญญาร่วมลงทุนและหากฝ่าฝืนให้ถือว่าผิดสัญญาอาจถูกบอกเลิกสัญญาได้ หลังจากที่ผู้ร้องได้ทำสัญญาร่วมลงทุนแล้ว ผู้ร้องได้ชำระค่าหุ้นเพิ่มทุนให้กับบริษัทแมคคอนฟิล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ต่อมาบริษัทแมคคอนฟิล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผิดสัญญา ผู้ร้องจึงมีหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญา และได้ดำเนินการขอให้อนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดให้บริษัทแมคคอนฟิล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และผู้คัดค้านทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าหุ้นคืนให้ผู้ร้องตามที่กำหนดไว้ในสัญญาร่วมลงทุนเป็นเงิน 11,000,000 บาท พร้อมผลตอบแทนตลอดระยะเวลาการถือหุ้นในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เมื่อคำนวณถึงวันที่ 9 เมษายน 2551 แล้วคิดคำนวณเป็นเงิน 8,784,433.29 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 19,784,433.29 บาท พร้อมให้ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ดำเนินการรับโอนหุ้นจำนวน 110,000 หุ้น คืนไปจากผู้ร้องพร้อมชำระผลตอบแทนในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับจากวันที่ยื่นคำเสนอข้อพิพาทจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2554 ให้ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ซื้อหุ้นคืนจำนวน 110,000 หุ้น เป็นเงิน 11,000,000 บาท พร้อมผลตอบแทนตลอดระยะเวลาที่ผู้ร้องถือในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จนกว่าจะซื้อหุ้นคืน แต่ทั้งนี้ผลตอบแทนตั้งแต่ผู้ร้องถือหุ้นจนถึงวันที่ 9 เมษายน 2551 จะต้องไม่เกิน 8,784,433.29 บาท โดยให้ผู้ร้องโอนหุ้นให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ชำระเงินให้แก่ผู้ร้องสำหรับคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก หลังจากที่คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดแล้ว สถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักระงับข้อพิพาท สำนักงานศาลยุติธรรมได้แจ้งผลคำชี้ขาดให้ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ทราบ แต่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้ปฏิบัติตาม ผู้ร้องจึงมีหนังสือแจ้งผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 แต่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 เพิกเฉย จึงขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการพร้อมทั้งออกหมายบังคับคดีและตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อดำเนินการบังคับให้ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ หากไม่ปฏิบัติตามให้ดำเนินการยึดและอายัดทรัพย์สินต่าง ๆ ของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 นำออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้กับผู้ร้อง
ผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลตามพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่
(1) การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
(2) คำสั่งหรือคำพิพากษานั้นฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน
(3) คำสั่งหรือคำพิพากษานั้นไม่ตรงกับคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ
(4) ผู้พิพากษาหรือตุลาการซึ่งพิจารณาคดีนั้นได้ทำความเห็นแย้งไว้ในคำพิพากษา หรือ
(5) เป็นคำสั่งเกี่ยวด้วยการใช้วิธีการชั่วคราวเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของคู่พิพาท ตามมาตรา 16 ……”
คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งหรือคำพิพากษาบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง โดยวินิจฉัยว่า คดีนี้หลังจากคณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดแล้ว สถาบันอนุญาโตตุลาการได้ส่งสำเนาคำชี้ขาดให้แก่ผู้รับมอบอำนาจบริษัทแมคคอนฟิล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และผู้คัดค้านทั้งสองทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2554 จึงถือได้ว่าผู้ร้องอาจบังคับตามคำชี้ขาดได้ตั้งแต่วันดังกล่าว เมื่อนับระยะเวลาจนถึงวันยื่นคำร้อง คือ วันที่ 23 เมษายน 2558 จึงเกินกว่าระยะเวลาสามปี ตามมาตรา 42 ส่วนที่ผู้ร้องอ้างเหตุที่บริษัทแมคคอนฟิล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2556 และถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลายเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2557 นั้น เห็นว่า ผู้ต้องถูกบังคับตามคำชี้ขาดคือผู้คัดค้านทั้งสอง และหนี้ตามคำชี้ขาดเป็นหนี้ให้กระทำการ คือ รับซื้อหุ้นคืนจากผู้ร้อง พร้อมชำระผลตอบแทนในระหว่างระยะเวลาที่ถือหุ้น ผู้ถูกบังคับตามคำชี้ขาดไม่ใช่บริษัทแมคคอนฟิล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้ร้องจึงไม่อาจอ้างเหตุที่บริษัทแมคคอนฟิล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ตกเป็นบุคคลล้มละลายมาเป็นเหตุขัดข้องในการยื่นคำร้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดได้ ที่ผู้ร้องอุทธรณ์ในทำนองว่า หากผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ออกคำบังคับให้ผู้คัดค้านทั้งสองเข้ารับโอนหุ้นของบริษัทแมคคอนฟิล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ภายหลังจากบริษัทแมคคอนฟิล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายแล้ว แม้ยังอยู่ในระยะเวลาที่กฎหมายให้สิทธิผู้ร้องขอให้ศาลออกคำบังคับให้ผู้คัดค้านรับโอนหุ้นบริษัทแมคคอนฟิล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จากผู้ร้อง ผู้ร้องก็ไม่อาจดำเนินการโอนหุ้นบริษัทแมคคอนฟิล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ให้แก่ผู้คัดค้านทั้งสองได้ เพราะอำนาจจัดการทรัพย์สินของบริษัทแมคคอนฟิล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ตกอยู่ในอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แล้ว จึงเป็นเหตุขัดข้องที่ทำให้ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการได้ อุทธรณ์ของผู้ร้องดังกล่าว ไม่เข้าเหตุยกเว้นตาม มาตรา 45 (1) ถึง (5) จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม มาตรา 45 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของผู้ร้องจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกอุทธรณ์ของผู้ร้อง คืนค่าขึ้นศาลทั้งหมดแก่ผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมอื่นนอกจากนี้ให้เป็นพับ

Share